คณะนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมภายใต้การนำของ Professor Yuming Guo จาก Monash University ในออสเตรเลีย ได้ตีพิมพ์เผยผลการศึกษาด้านมลพิษทางอากาศที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกโดยความร่วมมือของพันธมิตรจากนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยรายงานการวิจัยได้ตีพิมพ์ลงวารสารการแพทย์ The Lancet Planetary Health ระบุว่า… คุณภาพอากาศทั่วโลกระหว่างปี 2000 – 2019 มีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2019 ที่เมืองต่างๆ ทั่วโลกมีจำนวนวันที่ค่ามลพิษรวมทั้งฝุ่น PM 2.5 มีปริมาณสูงเกินมาตรฐานบ่อยถึง 70% หรือ เกือบตลอดทั้งปี… ซึ่งได้ทำให้ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา มีประชากรโลกเพียง 0.001% เท่านั้นได้รับอากาศบริสุทธิ์ที่มีมลพิษในระดับต่ำ และ ในปัจจุบันแทบจะไม่มีสถานที่แห่งใดในโลกที่ปลอดจากหมอกควันและฝุ่นพิษอีกแล้ว… โดยทั่วทุกภูมิภาคของโลกยังมีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นพิษอยู่ที่ 32.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงสองเท่า
งานวิจัยชุดนี้ได้มีการติดตามเก็บข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 5,446 แห่ง ใน 65 ประเทศ ตลอดระยะเวลา 20 ปี… พบว่า “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีสภาพการณ์ด้านมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก” โดยมีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 สูงถึง 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี… รองลงมาคือ “ภูมิภาคเอเชียใต้” มีค่าเฉลี่ยของ PM 2.5 อยู่ที่ 37.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนอันดับสามคือ “ภูมิภาคแอฟริกาเหนือ” ที่ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนบางพื้นที่ของโลกที่ปริมาณของฝุ่น PM2.5 ยังไม่สูงมากนัก ได้แก่… ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์มีค่าเฉลี่ยของ PM 2.5 ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 8.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาด้วยภูมิภาคโอเชียเนีย และ อเมริกาใต้ที่ 12.6 และ 15.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ
References…