ความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งในบ้านเรา เกิดขึ้นจากพิธีลงนามและแถลงข่าวร่วมกันของ กรมทางหลวงชนบท… กรมทางหลวง… มหาวิทยาลัยเชียงใหม่… บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย… ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการศึกษาพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลาสติกเหลือใช้ เพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตสำหรับงานทาง” เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือด้านวิชาการ ทรัพยากร และการบริหารจัดการที่ภาคเอกชน โดย SCG และกลุ่มบริษัท ดาว จะนำประสบการณ์และองค์ความรู้ จากการวิจัยและพัฒนาการทำถนนพลาสติกรีไซเคิลที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ผ่านกระบวนการทดสอบตามมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ และใช้งานจริงในพื้นที่ของภาคเอกชนต่างๆ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จังหวัดระยอง และนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี มาใช้ศึกษาและพัฒนาโครงการนี้
โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมศึกษางานวิชาการด้านผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้เข้ามาร่วมศึกษาและสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานการนำพลาสติกเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในแอสฟัลต์คอนกรีต
หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะสามารถขยายผลไปสู่การทำถนนในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยได้จริง และยังช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ โดยเฉพาะพลาสติกได้อย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
ทั้งนี้ ถนนจากพลาสติกรีไซเคิลความยาว 1 กิโลเมตร ขนาดหน้ากว้าง 6 เมตร จะสามารถนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์ได้ถึงประมาณ 3 ตัน หรือเท่ากับถุงพลาสติกเกือบ 900,000 ใบ
ปัจจุบัน SCG และกลุ่มบริษัท ดาว ได้ร่วมกับภาคเอกชนทำถนนแอสฟัลต์คอนกรีตต้นแบบ ที่มีพลาสติกเหลือใช้เป็นส่วนผสม รวมความยาวถนน 7.7 กิโลเมตร สามารถนำพลาสติกเหลือใช้หมุนเวียนกลับมาสร้างคุณค่าได้รวม 23 ตัน
สำหรับการนำพลาสติกมาใช้ส่วนผสม จะสามารถลดปริมาณการใช้ยางมะตอยลงได้ถึง 6-10% ซึ่งยืนยันความปลอดภัย ร่วมถึงจะสามารถลดงบประมาณการซ่อมบำรุงถนนได้กว่าปีละ 5% หรือ 1,500 ล้านบาทต่อปี
ตามแผนดำเนินการคาดว่า… จะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี พ.ศ. 2564 จะเป็นการทดลองในระยะทาง 1 กิโลเมตร โดยจะดำเนินเป็นลักษณะถนนพลาสติก และถนนยางมะตอยปกติ ในเส้นทางเดียวกันแต่คนละทาง ทั้งนี้ เพื่อจะนำข้อมูลการใช้งานจริงในเส้นทางเดียวกัน กับการใช้ผิวทาง 2 แบบ มาวิเคราะห์และเปรียบเทียบอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้… กรมได้ทำการทดลองนำขยะประเภทพลาสติกที่ใช้แล้ว มาผสมในแอสฟัลต์คอนกรีตในอัตราส่วน 8% และ 10% ของน้ำหนักแอสฟัลต์ซีเมนต์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีผลเป็นที่น่าพอใจ จึงได้นำร่องทดลองปูผิวถนนพลาสติกแอสฟัลต์ ในพื้นที่จริงบนถนนทางหลวงชนบทสาย สบ.1004 อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
เพื่อศึกษาคุณสมบัติในการต้านทานต่อการเกิดร่องล้อหรือการต้านทานต่อการยุบตัวของผิวถนนพลาสติกแอสฟัลต์ ภายใต้สภาวะแวดล้อมจริงที่มีน้ำหนักรถบรรทุกหรือแรงกระทำซ้ำๆ กันของปริมาณการจราจรการใช้งานจริงของรถยนต์ขนาดต่างๆ โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ และมีการติดตามผลเป็นระยะๆ
ซึ่ง… ผลทดสอบในเบื้องต้น พบว่าผิวถนนพลาสติกแอสฟัลต์มีความแข็งแรง ทนต่อสภาวะแวดล้อมได้ดีและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
ขอบคุณภาพและเนื้อข่าวจากประชาชาติธุรกิจครับ!
อ้างอิง