ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมกำลังค้นข้อมูลการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบโรงเรือน เพื่อเตรียมข้อมูลให้หลายๆ ท่านที่สนใจวิถีเกษตรอินทรีย์สายเทคโนโลยี ที่สามารถใช้พื้นที่ขนาดเล็กปลูกพืชเศรษฐกิจราคาแพงอย่างสมุนไพร วัตถุดิบเครื่องสำอางค์และเครื่องหอม ไปจนถึงพืชเศรษฐกิจตัวใหม่อย่างกัญชาที่มองเฉพาะตัวเลขการประเมิน TAM หรือ Total Addressable Market ของกัญชงกัญชาและสารสกัด ที่สำนักวิจัยหลายแห่งพยายามเคาะตัวเลขเทียบเอาจาก TAM ยารักษามะเร็งทั่วโลกมิติเดียวก็เคลิ้มมากแล้ว
ข้อมูลเผยแพร่บนเวบไซต์ คลีนิคเทคโนโลยี ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เผยแพร่ข้อมูลการทำงานเชิงรุกของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ที่ได้นำองค์ความรู้การปลูกผักอินทรีย์ในระบบโรงเรือนพลาสติกคัดเลือกแสง ไปถ่ายทอดให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และนำข้อมูลโครงการมาเผยแพร่สู่สาธารณไว้อย่างน่าสนใจ
โดยเฉพาะ องค์ความรู้เรื่องการใช้ฟิล์มพลาสติกทางการเกษตรเป็นวัสดุคลุมโรงเรือน ซึ่งการใช้ฟิล์มพลาสติกทำโรงเรือนทดแทนการใช้กระจกที่มีราคาแพงกว่า ริเริ่มโดยศาสตราจารย์อีเมอร์รี ไมเยอร์ส เอ็มเมอร์ต หรือ Emery Myers Emmert จากมหาวิทยาลัยแห่งเคนตัคกี้ ได้ทดลองนำฟิล์มพลาสติกมาคลุมโรงเรือนแทนการใช้แผ่นกระจก เนื่องจากฟิล์มพลาสติกมีราคาถูกกว่ากระจกมาก… เมื่อนำฟิล์มพลาสติกสำหรับคลุมโรงเรือน มาบวกกับความรู้เรื่องแสงที่มีต่อพืช จึงทำให้เกิดการวิจัยและพัฒนาฟิล์มพลาสติกที่มีสมบัติคัดกรองแสง โดยการผสมหรือพ่นเคลือบสารบางชนิดลงบนเนื้อฟิล์มเพื่อให้มีสมบัติดูดซับ หรือสะท้อนแสงอาทิตย์บางช่วงคลื่นตามต้องการ
ซึ่งฟิล์มพลาสติกที่มีสมบัติลักษณะนี้เรียกว่า ฟิล์มคัดกรองช่วงแสง หรือ Wavelength Selective Film… หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฟิล์มคัดกรองแสงทางเกษตร หรือ Photoselective Agricultural Film โดยฟิล์มประเภทนี้มีรูปแบบการใช้งาน 2 ลักษณะคือ
- ใช้เป็นวัสดุคลุมโรงเรือน
- ใช้คลุมหน้าดิน
ในการนี้… ดร.จิตติ์พร เครือเนตร และทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร และมูลนิธิโครงการหลวง พัฒนาเทคโนโลยีฟิล์มคัดกรองแสงทางเกษตรชื่อ ฟิล์มโพลีเทคพลาสติก หรือ Poly Tech Plastic ขึ้น… โดยทีมวิจัยได้พัฒนาฟิล์มโพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ หรือ Low Density Polyethylene หรือ LDPE ที่สามารถคัดกรองแสงในช่วงความยาวคลื่นที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงเกษตรกรรม
ฟิล์มพลาสติกชนิดนี้มีลักษณะค่อนข้างใส มีความยืดหยุ่นสูง ขึ้นรูปได้ง่าย สามารถลดการผ่านของรังสีอินฟราเรดได้ระดับหนึ่ง และที่สำคัญคือ ฟิล์มชนิดนี้มีราคาถูก ทีมวิจัยทดลองใช้สารไทเทเนียมไดออกไซด์ หรือ Titanium Dioxide ซึ่งสามารถป้องกันรังสียูวีได้ดี ร่วมกับสารโลหะออกไซด์ที่สามารถลดการผ่านของรังสีอินฟราเรด มาผสมกับสารเคมีบางชนิดเพื่อใช้เป็นสารเติมแต่งในเนื้อฟิล์มพลาสติก
ผลลัพธ์ที่ได้คือ ฟิล์มโพลีเทคพลาสติก จะเป็นแผ่นฟิล์มพลาสติกใสที่สามารถยอมให้แสงในช่วงที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชผลทางการเกษตรส่องผ่านประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยสามารถกรองรังสีอัลตราไวโอเล็ต และรังสีอินฟราเรดออกได้บางส่วน อีกทั้งมีราคาถูกกว่าฟิล์มคัดกรองแสงจากต่างประเทศถึง 4 เท่า… และ
- สามารถลดความร้อนในโรงเรือนได้ถึง 3 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับโรงเรือนที่คลุมด้วยพลาสติกที่มีขายทั่วไป และเป็นจุดเด่นของฟิล์มโพลีเทคพลาสติก เนื่องจากอุณหภูมิในโรงเรือนที่ต่ำกว่าจะมีผลให้พืชคายน้ำน้อยกว่า และไม่เหี่ยวเฉาง่าย
- สามารถลดการส่องผ่านของรังสียูวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งรังสียูวีบี หรือ UVB ซึ่งเป็นอันตรายกับพืช
- สามารถกระจายแสงให้ครอบคลุมทั่วทุกจุดในโรงเรือน ทำให้พืชในโรงเรือนได้รับแสงสว่างอย่างทั่วถึง ส่งผลให้พืชสังเคราะห์แสงได้มากขึ้น และเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
- สามารถควบคุมสัดส่วนของรังสีในช่วงที่เหมาะสมให้สามารถส่องผ่านเข้าไปในโรงเรือนได้มากเพียงพอต่อความต้องการของพืชผล สมบัติของฟิล์มข้อนี้ให้ผล 2 อย่าง คือ… ช่วยลดการเข้าทำลายจากแมลงศัตรูพืช เช่น แมลงวันทอง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพืชที่อาศัยช่วงรังสีที่ถูกกรองออกในการแพร่กระจาย เพราะแมลงศัตรูพืชหลายชนิดอาศัยรังสียูวีในการมองเห็น… โรงเรือนที่คลุมด้วยฟิล์มพลาสติกคัดกรองแสงที่มีสมบัติกรองรังสียูวี จึงทำให้สายตาของแมลงจะมองเห็นสภาพแสงในโรงเรือนมีลักษณะค่อนข้างมืด ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยหรือแพร่พันธุ์ของแมลง ดังนั้นแมลงจะถูกจำกัดปริมาณ หรือพยายามออกจากโรงเรือน เช่นเดียวกันกับในกรณีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพืช
ข้อมูลมีเยอะมากครับ… เอาเป็นว่า ท่านที่ต้องการเอกสารเรื่องโรงเรือนพลาสติกคัดกรองแสงฉบับเต็มคลิกอ่านจาก PDF File ที่นี่ครับ
ขาดเหลือ Ad Line จาก QR Code ด้านล่างทักเข้ามาก็ได้ครับ
References…