เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ข่าวการสัมมนาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข) เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ว่าด้วย การศึกษาความเหมาะสม โครงการ Logistics Hub ของเมืองพิษณุโลก ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอในวันนั้นได้ฉายภาพการลอกคราบเมืองสองแควพิษณุโลกสู่ทศวรรษแห่งความรุ่งโรจน์ไปอีกนาน
ข้อมูลจากการศึกษารอบด้านพบว่า จังหวัดพิษณุโลกมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็น “เขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ หรือ Freight Village” ผสมผสานกับ “ศูนย์การขนส่งและโลจิสติกส์ หรือ Transport Logistics Hub” เนื่องจากเป็นเมืองที่มีระบบการขนส่งหลากหลายรูปแบบ สามารถเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างภูมิภาคได้
…โดยศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบด้านและพบว่าตำบลบึงพระ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด
เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งที่มีในพื้นที่ไปยังศูนย์โลจิสติกส์ได้อย่างสะดวก ใกล้แหล่งผลิตสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้มีปริมาณผู้เข้ามาใช้บริการศูนย์โลจิสติกส์เป็นจำนวนมาก
สำหรับพื้นที่ภายในของเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ได้มีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน เพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรมทางโลจิสติกส์หลากหลายรูปแบบ
- พื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้าทางถนน
- พื้นที่สำหรับการขนส่งสินค้าทางราง
- พื้นที่สำหรับให้หน่วยงานเอกชนเช่าเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านโลจิสติกส์
- พื้นที่เขตปลอดภาษี (Free Zone)
นอกจากนี้ ภายในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะจัดให้มีการให้บริการด้านต่างๆ อย่างครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ อาทิ…
- การบริการสำหรับผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น บริการชานชาลาขนถ่ายสินค้า คลังสินค้า และลานวางกองสินค้า
- บริการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งทางรางกับการขนส่งทางถนน การบริการสำหรับเจ้าของสินค้า เช่น บริการติดฉลากบรรจุภัณฑ์, บริการติดตามตรวจสอบสถานะสินค้า และบริการเขตปลอดภาษี
- การบริการสำหรับผู้เช่า/ซื้อพื้นที่ในศูนย์โลจิสติกส์ เช่น บริการสร้าง ซ่อม ต่อเติมคลังสินค้า ห้องเย็น และศูนย์กระจายสินค้า
- การบริการสำหรับบุคคลทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่ในศูนย์โลจิสติกส์ เช่น อาคารที่พัก, ห้องประชุมสัมมนา, ศูนย์อาหาร และสถานีบริการน้ำมัน
แผนการพัฒนาแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 ปี 2565 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้าทางถนน และการก่อสร้างพื้นที่สำหรับให้หน่วยงานเอกชนเช่า
- ระยะที่ 2 ปี 2570 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่สำหรับการขนส่งสินค้าทางราง
- ระยะที่ 3 ปี 2580 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่เขตปลอดภาษี (Free Zone) คาดว่าใช้งบประมาณรวม 2,500 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) คิดเป็น 15 %
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Logistics Hub ของจังหวัดพิษณุโลกครั้งนี้ ส่งให้เมืองสองแควพิษณุโลก กลายเป็นพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีการพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ครบวงจรมาตรฐานสากล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการค้า การลงทุน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงการสนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ
แน่นอนว่า การที่เมืองพิษณุโลกเป็นจุดตัดเส้นทาง North-South Economic Corridor (NSEC) แนวเหนือใต้ กับเส้นทาง East-West Economic Corridor (EWEC) แนวตะวันออกตะวันตก…
เมืองสองแควพิษณุโลกจึงกลายเป็นชุมทางที่ความเจริญเติบโตในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะต้องพึ่งพาและแวะพัก…
…ส่วนอสังหาฯ เมืองสองแควเหรอ? คลื่นราคาลูกใหญ่ ผ่านไปรอบนึงแล้วครับ!!!