Perpetual Bond… หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ และ SEC Bond Check

พลันที่การแถลงข่าวจากผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด…  ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำ เจ้าของ และ ผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้แก่ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และ เป็นหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และ สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ… ได้เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2565 เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือ Perpetual Bond แบบไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท… ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด และ มีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ โดยไม่กำหนดอายุ แต่ผู้ออกหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้เมื่อครบกำหนด 5 ปีเป็นต้นไป… การพูดคุยของนักลงทุนต่อรูปแบบ Perpetual Bond หรือ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์… ซึ้งผู้ให้กู้ หรือ นักลงทุนต้องยอมรับเงื่อนไขที่มองยังไงก็เสียเปรียบอย่างที่สุด แม้ดอกเบี้ยจะน่าสนใจมากก็ตาม

คุณชฎาทิพ จูตระกูล ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ คุยกับสื่อว่า… การระดมทุนครั้งนี้ของสยามพิวรรธน์ มีแผนที่จะใช้ในการชำระค่าสิทธิการเช่าที่ดิน และ ใช้ปรับปรุงศูนย์การค้าทั้งหมด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลักตอบสนองต่อการใช้ชีวิตวิถีใหม่สู่อนาคต รวมทั้งขยายธุรกิจสู่ New Economy ในหลายประเภท ตลอดจนการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มเชื่อมธุรกิจหลักกับการทำธุรกิจใหม่ ๆ ร่วมกับพันธมิตรใน Ecosystem… นอกจากนี้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของสยามพิวรรธน์ในการบริหารธุรกิจศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และอาคารที่อยู่อาศัย ทำให้บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจด้านการบริหารอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมในอีก 1-3 ปีข้างหน้า

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือ Perpetual Bond ของ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กำหนดอัตราดอกเบี้ยช่วง 5 ปีแรกที่ 5.25%-5.50% ต่อปี… จากนั้นจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 5 ปี อ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบัน และหรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ด้วยการจองซื้อขั้นต่ำ 1 ล้านบาท และ ทวีคูณของ 1 ล้านบาท

บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ได้แต่งตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)… บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน)… บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)… บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด และ บริษัท หลักทรัพย์ ไอ วี โกลบอล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ โดยคาดว่าจะเสนอขายในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมนี้

อันดับเครดิตของบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด อยู่ที่ “A-” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่ หรือ Stable” ส่วนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนชุดนี้ ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่ หรือ Stable จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565… ซึ่งเป็นเครดิตเรทติ้งระดับ Investment Grade สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือและศักยภาพความแข็งแกร่งของกลุ่มสยามพิวรรธน์ ที่เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกชั้นนำระดับโลก

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน หรือ Perpetual Bond จะเป็นการขอกู้เงินโดยมี “หุ้นกู้” เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันตามกฏหมาย… โดยลักษณะพิเศษของหุ้นกู้ประเภทนี้คือ สิทธิในการไถ่ถอน “หุ้นกู้” ของผู้ลงทุนจะทำได้ก็ต่อเมื่อ “บริษัทยกเลิกกิจการ” ซึ่งถ้าไม่เลิกกิจการก็ต้องถือต่อไปโดยไม่มีกำหนดวันเวลาในการไถ่ถอนคืนค่าหุ้น… มีแต่การจ่าย “ดอกเบี้ยรายงวด” ตามเงื่อนไขเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ก็สงวนสิทธิ์การเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยโดยผู้ออกหุ้นกู้ได้ด้วย

ข้อมูลจากเวบไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้บรรยายลักษณะของ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” เอาไว้ว่า

1. ความหมายของคำว่า “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” 

“หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” คือ หุ้นกู้ที่ผู้ลงทุนจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ขาย เหมือนกับหุ้นกู้ธรรมดา แต่ผู้ลงทุนจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ‘หลัง’ จากเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ แต่ยังมีสิทธิจะได้รับเงิน ‘ก่อน’ ผู้ถือหุ้นสามัญ ซึ่งผู้ลงทุนมีสิทธิ์ที่จะได้รับชำระหนี้คืนทั้งหมด หรือได้รับคืนบางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็เกิดขึ้นได้ พูดง่ายๆ ก็เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะมีสิทธิน้อยกว่าหุ้นกู้มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ และมีความเสี่ยงมากกว่า

2. ความหมายของคำว่า “ที่มีลักษณะคล้ายทุน” 

ส่วนคำว่า “ที่มีลักษณะคล้ายทุน” คือที่มาของคำว่า “หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์” หรือ “หุ้นกู้ตลอดชีพ” เนื่องจากลักษณะคล้ายทุน หมายถึง สิทธิของผู้ลงทุนในการไถ่ถอนของหุ้นกู้ตัวนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อบริษัทยกเลิกกิจการไป หรือเป็นการถือแบบไม่มีกำหนด… นั่นคือ ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นกู้ตัวนี้ไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนด และอาจไม่ได้รับคืนเงินต้นตลอดช่วงเวลาที่ถือหุ้นกู้อยู่นั้น เรียกได้ว่าชะตาชีวิตถูกกำหนดโดยผู้ออกหุ้นกู้ โดยที่ผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ลงทุนไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ออกต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วงใดๆ ก็ตาม… ดังนั้น หากไม่ต้องการถือหุ้นกู้นี้อีกต่อไป ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะทำได้เพียงขายออกไปเท่านั้น ซึ่งอาจขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ได้มา หรือไม่ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรืออาจขายไม่ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นๆ ว่ามีคนสนใจหุ้นกู้นี้อยู่หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น หุ้นกู้บางตัว ยังถูกกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ลงทุนบางกลุ่ม เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ที่จะซื้อได้ นั่นแปลว่า เราต้องขายให้เฉพาะกับคนกลุ่มนี้เท่านั้น ซึ่งทำให้การขายยากไปขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ต้องยอมรับให้ได้หากตัดสินลงทุนหุ้นกู้ประเภทนี้

3. ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ย 

อีกหนึ่งเงื่อนไข ที่ไม่รู้ไม่ได้คือ ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ ไม่จำกัดระยะเวลา และไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้ออกอาจไม่จ่ายดอกเบี้ยสำหรับส่วนที่ค้างชำระก็ได้ ผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับผู้ออกเช่นกัน… จึงกล่าวได้ว่า ผู้ถือหุ้นกู้ตัวนี้มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือได้รับดอกเบี้ยล่าช้า นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว ซึ่งจะระบุดอกเบี้ยชัดเจนในช่วง 5 ปีแรก ส่วนในปีต่อๆ ไปจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งอาจทำให้ยากต่อการวางแผนการลงทุนและเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องแบกรับ

4. ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ หรือ Cross-Default

“หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ หรือ Cross-Default ซึ่งเป็นชื่อเรียกข้อสัญญาประเภทหนึ่ง หมายถึงการผิดสัญญาข้ามกัน หรือ ไขว้กัน ดังนั้นถ้าบอกว่าสัญญาไหนมีข้อสัญญาการผิดนัดไขว้ แสดงว่าสัญญานั้นมีข้อสัญญาที่กำหนดว่าถ้าลูกหนี้ไปทำผิดสัญญาอื่นก็จะถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญานั้นด้วย… เมื่อ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ หรือ Cross-Default จึงหมายความว่า… หากผู้ออกหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ในหุ้นกู้อื่น หรือ สัญญาทางการเงินอื่น หรือ เจ้าหนี้อื่น จะไม่ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้เป็นผู้ผิดนัดชำระภายใต้หุ้นกู้นี้ด้วย… ซึ่งเมื่อไม่มีการผิดนัดชำระ ผู้ถือหุ้นกู้หรือผู้ลงทุนจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย นอกจากนี้หากผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้อื่นจนทำให้ขาดสภาพคล่อง ผู้ถือหุ้นกู้นี้จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามกำหนดตามไปด้วย… จะเห็นได้ว่า หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน มีลักษณะที่ซับซ้อนและความเสี่ยงที่มากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป ฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. จึงได้ให้ข้อแนะนำก่อนลงทุน ประกอบด้วยเช็คลิสต์ 5 ข้อ สำหรับผู้ลงทุนสำรวจตัวเอง ดังนี้ 

  1. ทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน โดยเจ้าหน้าที่การตลาดที่ขายหุ้นกู้จะให้ผู้ซื้อลงนามรับทราบความเสี่ยงการซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนก่อนซื้อ
  2. เงินที่นำมาลงทุนเป็นเงินสำหรับลงทุนได้ในระยะยาวมาก
  3. ศึกษา Factsheet และ ลักษณะของหุ้นกู้ หรือ Features และ เงื่อนไขต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่น การไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด การจ่ายดอกเบี้ย
  4. รู้เครดิตเรทติ้ง
  5. รู้วิธีขายคืน

สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่น SEC Bond Check เครื่องมือใหม่ที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ลงทุนตราสารหนี้ มีข้อมูลพื้นฐานของหุ้นกู้ พร้อมแสดงอันดับเครดิตเรทติ้ง อย่างชัดเจน ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ ทั้งในระบบ iOS และ Android 

References…

Share this post

Add Properea's Friend

เพิ่ม Properea.com เป็นเพื่อนทาง Line
ท่านจะได้ Link บทความใหม่ส่งตรงให้อย่างสม่ำเสมอโดยรบกวนแต่น้อย

Related Post

Aeroponics for Potatoes

เทคนิคการปลูกมันฝรั่งแบบ Aeroponics

สถาบัน Neiker-Tecnalia Basque Institute for Agricultural เป็นศูนย์วิจัยทางการเกษตรอิงวิถีเกษตรของชาวแบสค์ หรือ Basque เขตเมืองวิโตเรียทางตอนเหนือของเสปน… ซึ่งชาว Basque เป็นคนพื้นเมืองทางตอนเหนือของสเปนและตอนใต้ของฝรั่งเศส

IFRS 9… และทรัพย์จากสถาบันการเงิน

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกหนังสือเวียนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 หรือ IFRS 9 เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยยืดหยุ่นให้สถาบันการเงินสามารถ “ผ่อนปรนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ต้องจัดชั้นหนี้และอนุมัติสินเชื่อใหม่”

The Data Science of Health Informatics โดย Johns Hopkins University

ข้อมูลในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือ Health Science ถือเป็นข้อมูลที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากที่สุดสาขาหนึ่ง ซึ่งใครก็ตามที่ได้เห็นข้อมูลในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพครบทุกมิติก็จะทราบว่า การทำข้อมูลทั้งหมดให้กลายเป็น Information โดยขาดตกหกหล่นน้อยที่สุดนั้นไม่ง่าย… การเตรียมทักษะเพื่อทำงานกับข้อมูลวิทยาศาสตร์สุขภาพจึงต้องเรียนรู้ และ ฝึกประสบการณ์เฉพาะทางที่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มากกว่าการจัดการข้อมูลทั่วไป ซึ่งการหาที่เรียนวิทยาการข้อมูลในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือ Healthcare and Clinical Informatics ในเมืองไทยยังถือว่าไม่ง่ายแม้ในปี 2022…