การให้เกียรติก็เหมือนอากาศ มองไม่เห็นด้วยตาแต่ขาดไม่ได้ถ้าอยากเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รัก… ประโยคยาวๆ ตอนต้นเป็นข้อความที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ แบ่งปันบอกต่อเกี่ยวกับทักษะผู้นำในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ต้องการ Softskills มากมายที่มีผลต่อความคิดและความรู้สึกระหว่างกันของมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ที่ควรรู้สึกได้ว่า… คุณค่าในตัวเองมีคนมองเห็นและ “ให้เกียรติ” คุณค่านั้นอย่างเด่นชัดในความรู้สึก
การสำรวจของ Georgetown University มากมาย ที่ศึกษาเชื่อมโยงสาขาวิชาชีพจากภาควิชาต่างๆ กับคำว่า Respected หรือการยอมรับนับถือซึ่งก็คือการให้เกียรติ… พบนัยยะความสุขและความสำเร็จที่สร้างผ่านการให้เกียรติ จนทำให้ Georgetown University โดดเด่นด้าน Respectation Theory อย่างน่าสนใจ
การวิจัยที่โดดเด่นจนมีการอ้างอิงมากมายจาก Georgetown University ที่สำรวจคนทำงานกว่า 20,000 คน จากหลายสาขาอาชีพทั่วโลกพบข้อสรุปว่า… การได้รับการให้เกียรติในที่ทำงาน คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกดีหรือแย่กับงานที่ทำ
ทักษะผู้นำและทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 จึงต้องหันกลับมาโฟกัส “ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน” ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในองค์กรที่พึ่งพาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการสร้างกลไกเศรษฐกิจให้องค์กร ซึ่งแต่เดิมอาจจะละเลยเพราะคุ้นเคยแต่กับวัฒนธรรมที่เอาผลผลิตเป็นศูนย์กลาง ที่พัฒนามาจากเกษตรแรงงานและอุตสาหกรรมการผลิต อันมีรากแต่เดิมจากยุคแรงงานไพร่ทาส
คนทำงานในองค์กรเก่าแก่จึงมี “นายและลูกน้อง” ทิ้งร่องรอยสืบทอดกันต่อๆ มาจนยังหลงเหลือให้เห็นอยู่มากมายทั่วไป… ซึ่งอีกด้านหนึ่งของ “วัฒนธรรมนายและลูกน้อง” ในยุคปัจจุบัน จึงสะท้อนภาพปัญหา “ความรับผิดชอบและการตัดสินใจ” อันด้อยประสิทธิภาพ จากรูปแบบที่ต้องใช้นายสั่งให้ลูกน้องทำและลูกน้องทำเท่าที่นายสั่งก็หมดภาระรับผิดชอบ… ซึ่งงานที่รอทำตามสั่ง กับ งานที่ทำให้เสร็จตามสั่ง กำลังจะถูกทดแทนด้วย AI
ในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงเหลืองานสำหรับมนุษย์จริงๆ แต่งานที่ต้องใช้ปัญญาและใจทุ่มใส่และเติมลงในผลงาน และคนที่ใช้ปัญญาและใจทำงานเป็นย่อมอ่อนไหวต่อคุณค่า ที่ต้องรู้สึกได้ว่ามีอยู่เหมือนอากาศหายใจ… องค์กรในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นอันดับแรก และคำถามคือ ปัจจัยใดบ้างที่ชี้ว่าองค์กรได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก?
เวบไซต์ Action Strategies By Design ได้รวบรวมแนวทางการสร้างองค์กรที่ให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก เอาไว้ในบทความชื่อ How to Create a People First Culture ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้คือ
- Be Approachable หรือ เข้าถึงง่าย โดยเฉพาะหัวหน้าและผู้บริหารที่เปิดประตูต้อนรับ “สมาชิกทีม” ให้มีโอกาสพบปะพูดคุยได้ด้วยความยินดีเท่าที่ต้องการ
- Ask for Input หรือ ถามหาความต้องการ ซึ่งองค์กรและผู้นำองค์กรควรรับรู้ความต้องการทั่วไปของสมาชิกในองค์กร ซึ่งก็จะมีทั้งที่เป็นทั้งความคิดเห็นและความต้องการ โดยองค์กรหรือผู้นำอาจจะตอบสนองต่อความเห็นหรือความต้องการเหล่านั้นหรือไม่อย่างไรก็ได้
- Listen หรือ รับฟัง ซึ่งผู้นำและองค์กรยุคใหม่มักจะให้ความสำคัญกับการฟังให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกรอบทิศ และการฟังถือเป็นกลยุทธ์องค์กรในศตวรรษที่ 21
- Act as a Guide หรือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยผู้นำยุคใหม่ต้องปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ส่งเสริมคุณค่าให้แก่สมาชิกทีม ซึ่งจะกลายเป็น Role Model ให้คนอื่นๆ เดินตามได้ง่าย
- Adopt a Leader Mindset หรือ ยึดมั่นกับชุดความคิดผู้นำ โดยอ้างอิงแนวทางของ Jack Welch ที่บอกว่า… Before you are a leader, success is all about growing yourself. When you become a leader, success is all about growing others. หรือ ก่อนการเป็นผู้นำ ความสำเร็จทั้งหมดจะเกี่ยวกับการเติบโตก้าวหน้าของตัวเองทั้งหมด และเมื่อได้เป็นผู้นำ ความสำเร็จทั้งหมดจะเกี่ยวกับการเติบโตก้าวหน้าของคนอื่นๆ… ซึ่งผู้นำที่เห็นคุณค่าของสมาชิกทีมจะมอบเพียงวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องให้ แล้วให้อิสระและเกียรติแก่สมาชิกทีมได้ช่วยกันสร้างความสำเร็จร่วมกัน
สนใจก็ลองเอาไปปรับใช้ดู… เจอกันใหม่ปีหน้าครับ!
References…