เรากำลังอยู่ในยุคที่ “เทคโนโลยีนำทาง และ เปลี่ยนแปลงบริบทของชีวิต” ซึ่งบางท่านที่ผมรู้จักและเคารพนับถือในภูมิรู้และวิสัยทัศน์ของท่าน ได้เปรยไว้ให้ผมได้ยินในประเด็น “เทคโนโลยีนำทาง” ไว้ด้วยซ้ำว่า… เทคโนโลยีหลายอย่างที่พลิกเปลี่ยนวิถีและวิธีดำเนินชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน ไม่ได้ต่างจากการก่อเกิดศาสดาในความเชื่อทางศาสนาและลัทธิความเชื่อมากมายในอดีต ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อ ความคิด ความรู้ ความหวัง ความรัก ความกลัว และ ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น ที่ล้วนต้องอธิบายใส่รายละเอียดใหม่หมด… โดยมีเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลางแทนความเชื่อดั้งเดิมที่เคยเป็นรากฐานเหมือนแต่ก่อน
ประเด็นก็คือ… คนส่วนหนึ่งยังละเลยและเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเปิดรับเทคโนโลยีที่หนุนเนื่องการเปลี่ยนแปลงที่มีและเกิดขึ้นตลอดเวลาในปัจจุบัน… ได้น้อยมาก โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้เพียงฐานะ User หรือ ผู้ใช้เพื่อสนับสนุนการอุปโภคและบริโภคเท่านั้น
ยกตัวอย่างแค่กรณีกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ใช้โซเชี่ยลมีเดียเพื่อพูดคุยสื่อสารอย่างเดียว กับคนส่วนน้อยที่ใช้โซเชี่ยลมีเดียเพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตตัวเอง ทั้งอาชีพการงานและธุรกิจ ซึ่งดูเหมือนจะมีสัดส่วนแตกต่างกันมาก… แถมในจำนวนคนส่วนน้อยที่ว่านี้ ยังมีน้อยมากที่ใช้โซเชี่ยลมีเดียไปสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ชัดเจน และ หวังผลได้อย่างแท้จริง เพราะคนส่วนหนึ่งที่อยากใช้เพื่อยกระดับอาชีพการงานและธุรกิจ ยังใช้โซเชี่ยลมีเดียในระดับพื้นฐานโดยหวังว่าจะสร้างโอกาสให้อาชีพการงานและธุรกิจได้มากมายเหมือนที่ได้ยินมา… ซึ่งมีการกล่าวอ้าง และ มีกรณีที่ประสบความสำเร็จมากมายจริง แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องทำอะไรบนโซเชี่ยลมีเดียที่มัน “ยาก” กว่าการใช้ระดับพื้นฐานมาก… เอาแค่ตัวอย่างการโพสต์ขายสินค้าบน Facebook Page ของเพจที่ใช้ฟรี กับ เพจที่ใช้ฟังก์ชั่นทางสถิติของเพจ มาปรับแต่งกลยุทธ์การโพสต์ขายสินค้าตลอดเวลา… เฉพาะผลลัพธ์ของสองกรณีนี้ก็ต่างกันมากมายแล้ว ยิ่งถ้าเป็นเพจที่ใช้สถิติปรับแต่งกลยุทธ์ เพิ่มการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างเป็นระบบเข้าไปอีกขั้น ความสำเร็จของเพจบ้านๆ กับเพจมีกึ๋นใหญ่ๆ หนาๆ จากการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้ทันเทคโนโลยีจริงๆ ย่อมเทียบกันได้ยาก
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… กรณีการใช้งานโซเชี่ยลมีเดียเพื่อสร้างโอกาสนั้น ถือว่าน้อยนิดในโลกของการเปลี่ยนแปลงที่มีเทคโนโลยีนำทาง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีระดับ “นวัตกรรม” ในมิติต่างๆ ที่สอดคล้องกับโอกาส และ เพิ่มเติมขีดความสามารถของตัวเองหรือธุรกิจของตัวเองได้โดยตรง จึงถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้อง “ตามให้ทัน และ เปลี่ยนให้ทัน” ทางเดียวเท่านั้น… หรือไม่ก็ต้องยอมถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพราะไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรให้เหนื่อยล้าอีก เหมือนคนวัยปลายที่เหลือเวลาให้เพียงความสุขเท่าที่มีก็มากมายเกินจะคุ้มค่าแล้ว
การเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อตามให้ทันเทคโนโลยีจนสามารถใช้งานให้ได้ผลลัพธ์ในขั้นกว่า จึงสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีกำลังนำทางและเปลี่ยนแปลงบริบทของชีวิตทุกคน เหมือนครั้งหนึ่งที่ศาสดาในทุกความเชื่อเคยนำทางผู้คนเข้าหาทางสว่างมาก่อน… ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในระดับ “ยอมให้ความเชื่อหรือกระแสที่ต่างไปจากความคุ้นเคยดั้งเดิม” ได้นั้น… คนๆ นั้นต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงจากภายในตนเองโดยดุษฎีเสียก่อน… อย่างน้อยก็ควรเปลี่ยนให้ตัวเองเชื่อว่า เทคโนโลยีที่ต้องพยายาม “เรียนรู้ให้ลึกซึ้งขึ้นอีกขั้น หรือ หลายๆ ขั้นจนใช้ประโยชน์ต่อตนเองได้” นั้น เปลี่ยนอนาคตของตัวเองหรือมอบความสุขให้ตัวเองได้มากกว่า… เหมือนหลายท่านที่เชื่อว่า ทำสมาธิจะทำให้ตัวเองสงบสุขกว่า จึงพยายามฝึกสมาธิอย่างตั้งใจ… เหมือนหลายท่านที่เชื่อว่า การออกกำลังกายประจำสม่ำเสมอ จะทำให้ตัวเองเจ็บป่วยแก่เฒ่าช้ากว่า จึงปลุกตัวเองมาออกแรงอย่างอดทนและมีวินัยต่อเนื่อง
นานมาแล้วที่ราชาสิ่งประดิษฐ์คนสำคัญของโลกอีกคนหนึ่งอย่าง Charles Kettering เคยบอกไว้ว่า… People Are Very Open Minded About New Things, As Long As They’re Exactly Like The Old Ones. คนส่วนใหญ่จะเปิดใจกับสิ่งใหม่ๆ ได้มาก ตราบเท่าที่พวกเขายังไม่เป็นเหมือนคนแก่เฒ่า…
การเปิดใจกับสิ่งใหม่และการเปลี่ยนแปลง ที่ถูกอธิบายด้วยภาวะถดถอยของสติปัญญา และ ความเสื่อมถอยของร่างกาย จนไม่จำเป็นต้องกระตือรือล้นกับอะไรใหม่ๆ เพื่อเอาพลังที่เหลือ ไปประคองชีวิตใกล้ฝั่งให้ยืนหยัดสดชื่นได้ถึงเช้าวันใหม่ก็เพียงพอแล้ว
Charles Kettering ถือว่าเป็นนักประดิษฐ์ที่มีผลงานโดดเด่นไม่น้อยหน้าพี่น้องตระกูลไรต์ หรือ Wright Brothers… Thomas Alva Edison… Nikola Tesla หรือแม้แต่ Albert Einstein ซึ่งล้วนถือเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณูปการต่อชาวโลกผู้ยิ่งใหญ่ไม่ต่างกัน… ถ้าท่านเห็นหลอดไฟแล้วนึกถึง Thomas Alva Edison เวลาท่านสตาร์ทรถ ก็น่าจะคิดถึง Charles Kettering ในฐานะผู้ประดิษฐ์มอเตอร์สตาร์ท หรือ ไดสตาร์ท เจ้าของสิทธิบัตร US1150523 ได้เช่นกัน
นอกจากนั้น… Charles Kettering ยังเป็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์เครื่องบินไร้คนขับ หรือ โดรน หรือ Drone คนแรกของโลก ที่สร้างและทดสอบบินในปี 1918 ระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง… โครงการ Kettering Aerial Torpedo หรือ Code Name: Kettering Bug ที่ Charles Kettering พัฒนาขึ้นนั้น เป็นยานบินไร้คนขับโดยใช้คนควบคุมจากระยะไกล ด้วยระยะบิน 40 ไมล์จากจุดควบคุม โดยบรรทุกตอปิโดแบบอากาศสู่พื้น เพื่อทำลายเป้าหมายทางทหารในภาวะสงคราม… แต่การวิจัยและทดสอบยังไม่เป็นที่ประทับใจกองทัพสหรัฐ ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็รุนแรงขึ้นมากจนไม่เหลือทรัพยากรพอจะมาเทให้งานค้นคว้าประดิษฐ์ที่ยังไม่พร้อมใช้งาน…
ภากหารเตรียมทดสอบ Kettering Bug ใน National Museum of the United States Air Force
Charles Kettering กับ ชุดมอเตอร์สตาร์ทด้วยไฟฟ้า ที่ทำให้การสตาร์ทเครื่องยนต์สะดวกสะบายกว่าการหมุนด้วยมือ หรือ ถีบสตาร์ทด้วยเท้าเหมือนมอเตอร์ไซค์บางรุ่น
ปี 1920… General Motors หรือ GM ได้เทเงินซื้อบริษัท Delco ที่ Charles Kettering เป็นเจ้าของเพื่อให้ได้สิทธิบัตรมอเตอร์สตาร์ท หรือ ไดสตาร์ทที่คนไทยเรียก ซึ่ง Charles Kettering ได้ออกแบบร่วมกับ Henry M. Leland ไว้ตั้งแต่ปี 1911 และดึงตัวนักประดิษฐ์ทั้งสองคนมาทำงานที่ GM
ที่ GM Motor… Charles Kettering กลายเป็นส่วนสำคัญในการนำ General Motors ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกา และตลาดโลกในเวลาต่อมา โดยเฉพาะการพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเติมสารตะกั่วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์และลดการสึกหรอ ก่อนจะถูกยกเลิกการใช้น้ำเติมสารตะกั่วในช่วงปลายศตวรรษที่ 20
นอกจากนั้นยังเป็นผู้พัฒนาแลกเกอร์เคลือบสีรถยนต์ภายใต้แบรนด์ Duco และพา GM กลายเป็นรถยนต์หลากสี จนกระทบคู่แข่งอย่าง Ford Motor ที่กำลังเมามันกับการขาย Ford Model T ซึ่งทำยอดขายเอาไว้ถล่มทลายจน Henry Fordเคยพูดอย่างหยิ่งทระนงไว้ว่า… Any customer can have a car painted any colour that he wants, so long as it is black. ลูกค้าสามารถซื้อรถสีอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่เลือกสีดำ… ซึ่งกลายเป็น “เยี่ยงอย่างยอดแย่” สำหรับแนวคิดเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางในปัจจุบัน… และกลายเป็นจุดที่ทำให้ Ford ไม่เคยเป็นค่ายรถยนต์อันดับหนึ่งอีกเลยนับตั้งแต่นั้น
นอกจากนั้น… ผลงานอันลือลั่นอีกชิ้นหนึ่งของ Charles Kettering ก็คือ “เครื่องยนต์ดีเซลหมุนเร็ว” จนสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องยนต์ในรถยนต์ได้ไม่ต่างจากเครื่องยนต์เบนซิน และยังได้ออกแบบ “เครื่องยนต์ดีเซลสองจังหวะ” หรือเครื่องคูโบต้าที่คนไทยรู้จักอีกด้วย
นอกจากนั้นอีกหนึ่งผลงาน… Charles Kettering ยังได้ร่วมงานกับ DuPont Chemical Company ในการพัฒนาสารทำความเย็นอย่าง Freon เพื่อใช้ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศอีกด้วย
และที่โดดเด่นนอกจากนั้นอีกหนึ่งผลงานก็คือ… Charles Kettering ได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนา “เครื่องจักรดีเซล” สำหรับ หัวรถจักรดีเซลราง หรือ Locomotive และ เครื่องจักรกลหนัก หรือ Heavy Equipment
ปี 1927… Charles Kettering ก่อตั้งมูลนิธิ Kettering Foundation… และ Time magazine ยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปี และขึ้นปก Time ฉบับวันที่ 9 มกราคม ปี 1933…
Charles Kettering ถือสิทธิบัตรมากถึง 186 U.S. Patents ตลอดชีวิตการทำงาน… เขาได้รับการยกย่องมากมายในวงการสิ่งประดิษฐ์และวิศวกรรม… ได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ Franklin Medal ในปี 1936… ได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ Hoover Medal ในปี 1955 และได้รับรางวัล IEEE Edison ในปี 1958
วันที่ 1 มกราคม ปี 1998… General Motors Institute of Technology ซึ่งเป็นสถาบันเทคโนโลยีที่ตั้งขึ้นและดำเนินการโดยเงินทุนจาก General Motors ก็เปลี่ยนชื่อสถาบันเป็น Kettering University จนถึงปัจจุบัน
Charles Franklin Kettering เกิดวันที่ 29 สิงหาคม ปี 1876 ใน Loudonville, Ohio และจากไปในวันที่ 25 พฤษจิกายน ปี 1958 ใน Dayton, Ohio… ศิริอายุ 82 ปี
References…