เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้… ฉากทัศน์ในอนาคตอันใกล้

COSCO Shipping Ports eyes stake in Guangxi Beibu Gulf Terminal

ช่วงกลางตุลาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา… ผมบุ๊คมาร์คข่าวรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ในโอกาสกล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงพิธีเปิดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 11 หรือ 11th Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation Forum ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์กล่าวปาฐกถาไว้อย่างน่าสนใจว่า… 

กรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้ เป็นความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคที่มีความสําคัญ ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีน และเป็นจุดยุทธศาสตร์สําคัญของ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” เป็นยุทธศาสตร์สําคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีนกับอาเซียน

ซึ่งทั้งสองฝ่าย ได้ร่วมกันผลักดันความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเงิน รวมถึงด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอย่างจริงจัง ทําให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโต อย่างรวดเร็ว และ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ยังเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งที่สําคัญในการลําเลียงสินค้าในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้งทางระบบราง ทางน้ํา ทางถนน และทางอากาศ โดยมีภูมิภาคตะวันตกของจีนกับอาเซียนเป็นแกนหลัก และขยายความเชื่อมโยงต่อไปยังทวีปเอเชียกลาง และยุโรปได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน “การท่าเรือแห่งประเทศไทย” ได้มีความร่วมมือกับ “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” ผ่านการจัดทําข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่าง “ท่าเรือแหลมฉบัง ราชอาณาจักรไทย” กับ “ท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง สาธารณรัฐประชาชนจีน” เพื่อขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ท่าเรือร่วมกัน  และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง ได้เปิดเส้นทางเดินเรือมุ่งตรงสู่ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรทางบกที่ติดขัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้… ได้มีการพัฒนาการขนส่งสินค้าแบบควบคุม อุณหภูมิ และมีคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ ทําให้ผลไม้ไทยกว่า 200 ตันถูกขนส่งทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบังของไทยไปขึ้นที่ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยสินค้าที่ไปถึงท่าเรือแล้ว จะได้รับการกระจายสินค้าต่อทางรถบรรทุกหรือทางรถไฟไปยังมณฑลทางภาคกลางและภาคตะวันตกของจีน ทําให้การส่งออกผลไม้สดและสินค้าเกษตรของไทยไปจีนสะดวกรวดเร็วขึ้น และสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือระหว่างสองประเทศ ที่มีแนวโน้มการพัฒนาไปอย่างมั่นคงต่อเนื่อง

รวมทั้ง รัฐบาลไทยเองก็มีนโยบายเร่งผลักดันความร่วมมือเชิงลึกกับมณฑลต่างๆ ของจีน ซึ่งรวมถึง “มณฑลไห่หนาน” ที่รัฐบาลจีนอยู่ระหว่างผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือการค้าเสรีระดับโลก ในการนี้ กระทรวงพาณิชย์กําลังอยู่ระหว่างการเจรจากับมณฑลไห่หนาน เพื่อทําข้อตกลงการค้าเป็นการเฉพาะระหว่างกัน ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 

  1. การส่งเสริม SMEs 
  2. การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการสร้างสรรค์ อาทิ ดิจิทัลคอนเทนต์  
  3. การอํานวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมทางการค้า 
  4. การส่งเสริมการค้าในรูปแบบ e-Commerce จะเริ่มเห็นผลที่เป็นรูปธรรมภายในปีหน้า ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันเป็นอย่างมาก

อนึ่ง ไทยได้เข้าร่วมการประชุมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับอ่าวเป่ยปู้ หรือ อ่าวตังเกี๋ย และทะเลจีนใต้ ได้แก่ จีน และสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย โดยกรอบความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้อ่าวเป่ยปู้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก และที่ผ่านมารัฐบาลจีนให้การสนับสนุนและผลักดัน “กว่างซีให้เป็นประตูสู่อาเซียน” และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเลในทศวรรษที่ 21 และข้อริเริ่ม BRI ของจีน

ผมลอกคำกล่าวปาฐกถาของคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ มาจากเวบไซต์ transtimenews.co ครับ… เนื่องจากข้อมูลในมือของผมส่วนหนึ่ง ที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจหลายมิติ ตลอดเส้นทางโลจิสติกส์ของคู่ค้าไทย–จีน ที่กระชับเส้นทางทางบกเข้าหากัน ผ่านประเทศเพื่อนบ้านลาวและเวียดนาม ซึ่งแผนพัฒนาของแต่ละพื้นที่ในแต่ละประเทศ อันเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ในมือของประเทศเจ้าของพื้นที่ ทั้งไทย ลาว เวียดนามและจีนเอง… ต่างก็เปิดแผนพร้อมเป้าหมายการเติบโตด้วยวาระพึ่งพิงกันและกันอย่างน่าสนใจ

เวบไซต์ thaibizchina.com ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ไว้ว่า… เขตเศรษฐกิจอ่าวเปยปู้กว่างซี มีพื้นที่รวม 1/5 ของมณฑลกว่างซีหรือ ราว 43,732 ตารางกโลเมตร… มีจำนวนประชากรคิดเป็น 1/4 ของมณฑลหรือราว 13.7 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจ 1/3 ของมณฑล มีรายได้การคลัง 2/5 ของมณฑล เป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจหลักของมณฑลกว่างซีก็ว่าได้

ข้อมูลจากสำนักงานเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้และความร่วมมือกับอาเซียน หรือ Beibu Gulf Economic Zone & Cooperation with ASEAN Office of Guangxi หรือ 广西北部湾经济区和东盟开放合作办公室 ได้ประกาศแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 ซึ่งดำเนินการไปแล้วระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563 นั้น

มีการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลจีน-อาเซียน ผ่านความร่วมมือระดับ “การศึกษาวิจัยแผนงานแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน” เพื่อเร่งสร้างฐานความร่วมมือด้านทรัพยากรบุคคลกับอาเซียน… มีการทดลองดำเนินการเรื่อง “การยอมรับวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพร่วมกับอาเซียน” เพื่อสนับสนุนโอกาสการเข้าทำงานด้วยความเสมอภาคเท่าเทียบกับประชาชนจีน

นอกจากนั้น… แผนรวมกลุ่มเมือง หรือ Urban Integration ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานด้านการปกครองในเขตเมืองสมาชิก 4 เมืองในเขตอ่าวเป่ยปู้ ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองเป๋ยไห่ เมืองชินโจว และเมืองฝางเฉิงก่าง… เพื่อให้ประชาชนที่มีชื่อในทะเบียนแต่ละเมือง ได้ใช้ระบบประกันสุขภาพ ระบบโทรคมนาคม ระบบการเงินการธนาคาร และสิทธิ์การซื้ออสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งผ่อนคลายนโยบายสำมะโนครัว รวมทั้งระบบประกันสุขภาพของเมืองกับชนบทบนมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะการชำระค่ารักษาพยาบาลผ่านบัตรประกันสังคมในต่างเมือง… ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการลงทุนของภาคเอกชนในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้

อีกประเด็นหนึ่งคือการพัฒนาความร่วมมือด้านการแพทย์กับอาเซียน เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลกับอาเซียน รวมทั้งการผ่อนคลายความเข้มงวดในการเข้าสู่ตลาดด้านการบริการทางการแพทย์ การสร้างกลไกความร่วมมือด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียนด้วย

ผมต้องยกข้อมูลจากแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ ฉบับที่ 13 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้ว… และกำลังตามข้อมูลแผนฉบับ 14 ของสำนักงานเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้และความร่วมมือกับอาเซียน… ซึ่งผมยังหาไม่ได้ครับ ท่านใดพอมีสำเนาแบ่งปัน ก็ขอความอนุเคราะห์แบ่งปันด้วยเถอะครับ ฉบับภาษาจีนก็ได้… ขอบพระคุณล่วงหน้า

มีอย่างน้อย 3 ประเด็นครับที่ผมลอกข้อมูลชุดนี้มาเกริ่นนำยาวยืด… อันแรกคือเส้นทางโลจิสติกส์ทางบก ผ่านแผนท่าเรือบกที่โคราชและขอนแก่น และด่านชายแดนที่มุกดาหารและอุบลราชธานีของไทย… ซึ่งอยากให้หลายๆ ท่านมองในมิติขนส่งและอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคลังสินค้ารองที่ SMEs น่าจะยังมีโอกาสอยู่ไม่น้อยในเขตทางโลจิสติกส์ที่กำลังจะเติบโตนี้

ประเด็นที่สองคือ… ฝ่ายจีนชัดเจนเรื่องพัฒนาทรัพยากรบุคคลจีน–อาเซียน ซึ่งผมยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวของฝ่ายการศึกษาบ้านเรา ในการเทียบวุฒิการศึกษา… โดยเฉพาะการเทียบวุฒิการศึกษาระดับปฐมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งสำคัญกับการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือทั้งไทยไปจีนและจีนมาไทยอย่างสำคัญ… แม้ว่ากรอบใหญ่จะพูดถึงวุฒิการศึกษาระดับแรงงาน แต่ผมคิดว่าเด็กๆ ที่ต้องย้ายที่เรียนตามครอบครัวเป็นประเด็นใหญ่และสำคัญมากเหมือนกัน

และประเด็นสุดท้ายคือ… กรอบความร่วมมือด้านการแพทย์จีนกับอาเซียน ที่ผมยังเห็นแนวคิดที่อยากโยนต่างด้าวเข้าโรงพยาบาลเอกชนไปมากกว่า ดีกว่าจะยอมให้มาเบียดแย่งพื้นที่หรือคิวในโรงพยาบาลรัฐ หรือมาแชร์ระบบประกันสุขภาพในบ้านเรา… ซึ่งถ้า “แผนการพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ เมดิคอลฮับ” คือการโอนโอกาสทั้งหมดให้โรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น… ผมก็ไม่มีอะไรจะพูดกว่านี้อีก

ขอบคุณที่ติดตามครับ!

References…

Share this post

Add Properea's Friend

เพิ่ม Properea.com เป็นเพื่อนทาง Line
ท่านจะได้ Link บทความใหม่ส่งตรงให้อย่างสม่ำเสมอโดยรบกวนแต่น้อย

Related Post

Ropsten Merge… เครือข่ายทดสอบ ETH2 พร้อมแล้ว

ข่าวสำคัญที่ Joe Lubin แจ้งผ่าน Bloomberg ก็คือการอัพเกรดเครือข่ายทดสอบที่อยู่คู่นักพัฒนา Ethereum Blockchain มานานอย่าง Ropsten ที่ประกาศวันเผยแพร่ Ropsten Testnet แบบ Proof-of-Stake ในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะเกิดการ Fork Ropsten Testnet เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักพัฒนาที่รัน Smart Contract บน Ethereum Mainnet ได้นำโค้ดมาทดสอบก่อนจะย้ายไป Beacon Chain ในช่วงสิงหาคม ปี 2022

Ready To Eat

หลักและแนวคิดการพัฒนาสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน

อาหารพร้อมรับประทาน หรืออาหาร RTE หรือ Ready To Eat ว่า… ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าตลาดรวม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปี 2563 มูลค่าตลาดอาหารพร้อมทานจะอยู่ที่ 20,200–20,500 ล้านบาท โต 3.0–5.0% Year-on-Year จากความหลากหลายแปลกใหม่ของสินค้า

Storytelling for Social Change จาก University of Michigan

Soft Power หรือ อำนาจแบบนุ่มนวล ซึ่ง  Prof. Dr.Joseph Nye จาก Harvard University แนะนำว่าเป็น The Best Propaganda Is Not Propaganda หรือ เป็นการชวนเชื่อที่ยอดเยี่ยมที่สุดโดยไม่ต้องโฆษณาชวนเชื่อ… ซึ่งในกลุ่มเครื่องมือการจัดการ หรือ Management Tools ที่ถือว่าเป็น Soft Power ที่สำคัญสำหรับนักบริหารในปัจจุบันก็คือ… Storytelling หรือ การเล่าเรื่อง

MARSHA - AI Space Factory

MARSHA… ต้นแบบบ้านบนดาวอังคาร

ตั้งแต่ปี 2015 นาซ่าได้จัดการแข่งขัน NASA Centennial Challenges เพื่อค้นหาแบบบ้านที่จะใช้ในการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร ซึ่งมีกติกาอยู่ 3 ข้อได้แก่ อันแรก…วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจะต้องสามารถพบได้บนดาวเคราะห์สีแดง… ข้อสอง… วัสดุเหล่านั้นสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้… และสาม… เทคโนโลยีในการสร้างจะต้องเป็น 3D Printing เท่านั้น