ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน นอกจากจะก่อกรรมต่อประชาชนชาวยูเครนอย่างหนักจนเกินบรรยายแล้ว… การก่อสงครามเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับคู่ขัดแย้งนอกสมรภูมิที่นำโดยพันธมิตร NATO ก็ดูเหมือนจะก่อกรรมกับคนทั้งโลก ให้เจอปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่ที่หนักหนาอยู่ก่อนจากวิกฤตโควิด ด้วยการดึงค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างน่าตกใจภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่กองทัพรัสเซียเคลื่อนทัพข้ามพรมแดนยูเครนราววันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022…
มาตรการทางการเงินที่พันธมิตร NATO ทำกับรัสเซีย พร้อมๆ กับการหาทางยึดตลาดพลังงานที่รัสเซียส่งออกทำรายได้ทั้งหมด จนนำมาซึ่งการตอบโต้จากรัสเซียด้วยการงดส่งออกสินค้าต้นทุนการผลิตอาหารอย่างปุ๋ยและวัตถุดิบผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งวัตถุดิบสินค้าโ๓คภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งอีกไม่นานก็คงได้เห็นอาหารแพงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน
ส่วนราคาเชื้อเพลิงพลังงาน… โดยเฉพาะน้ำมันที่จำเป็นต่อกลไกทางเศรษฐกิจ หลังจากราคามีการฟื้นตัวปรับเพิ่มขึ้นจากการหดตัวของอุปสงค์จากวิกฤตโควิด ที่ความต้องการใช้น้ำมันเคยหายไปมากในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา จนราคาร่วงลงใกล้แตะ 20 ดอลลาร์สหรัฐมาแล้ว… ก็ได้เห็นการปรับราคาเพิ่มขึ้นภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์อย่างรุนแรงเช่นกันอีกครั้ง… ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาถือว่าเป็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่เชื่อได้เลยว่าจะเกิดเงินเฟ้อจนมีคนคิดเรื่องฆ่าตัวตายเพิ่มอีกมากทีเดียว
ประเด็นก็คือ… เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกข้ามราคาจิตวิทยาที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลเมื่อใด พฤติกรรมการบริโภคน้ำมันก็จะเปลี่ยนแปลงเพื่อหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ เสมอ… ท่านที่โตทันราคาน้ำมันทะลุไปถึง 170-180 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลช่วงกลางปี 2008 คงจะจำได้ดีว่า… เจ้าของรถยนต์ในเมืองไทยส่วนหนึ่งได้หันไปดัดแปลงเครื่องยนต์เพื่อใช้ LPG และ NGV หลีกเลี่ยงราคาน้ำมันสุดโหดกันไม่น้อย… ในขณะเดียวกันก็เกิดการผลักดันนโยบายรถยนต์ประหยัดพลังงาน หรือ อีโคคาร์ หรือ ECO Car เพื่อลดอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันของรถใช้งานประจำวันลง จนนำไปสู่นโยบายแปลกๆ ที่เอื้อต่อกลุ่มทุนอุตสาหกรรมยายนต์ในประเทศ ผ่านนโยบายภาษีซับซ้อน จนหลายคนยังงงไม่หายมาถึงทุกวันนี้… แต่วิกฤตราคาน้ำมันในปี 2022 ครั้งนี้กลับมีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมากมายเชื่อว่า แม้ราคาน้ำมันจะไม่พุ่งสูงไปมากเหมือนปี 2008 แต่ก็คงขายแพงเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลไปอีกนาน… ไม่ว่าสงครามรัสเซีย–ยูเครนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ข่าวดีก็คือ… วิกฤตราคาน้ำมันปี 2022 ได้ตามหลังกระแส EV หรือ Electric Vehicle ซึ่งเป็นพาหนะใช้พลังงานไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีการเตรียมสินค้าลงตลาดกันอย่างคึกคักอยู่เดิมตลอดหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปรากฏการณ์ TESLA… โดยมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างจุดชาร์จ หรือ สถานีชาร์จที่เริ่มเห็นมีมากพอที่จะอุ่นใจได้ว่า ระยะวิ่ง 300-400 กิโลเมตรบนเส้นทางสายหลักทั่วประเทศได้มีการติดตั้ง EV Charger เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะทางหลวงแผ่นดินทุกสาย
การจะมี EV เพิ่มขึ้นบนถนนทดแทนรถใช้น้ำมันนี่เองที่จะทำให้วิกฤตราคาน้ำมันในรอบนี้ไม่น่ากังวลมาก… เพราะผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ และ ประเทศส่งออกน้ำมันทั้งหลายก็คงหาทางระบายน้ำมันราคาดีแบบนี้ออกมาให้ได้มากที่สุดเหมือนกัน ซึ่งข้อมูลการเพิ่มขึ้นของ “จ๊อบเบอร์” หรือ พ่อค้าคนกลางผู้ซื้อน้ำมันจากคลังปิโตรเลียมมาขายแบบอิสระกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้งในวงการน้ำมัน… และน้ำมันก็ยังคงเป็นน้ำมันในกลไกทางเศรษฐกิจที่ผู้เล่นหลัก หรือ เจ้ามือมักจะคุมเกมราคาได้ดีเสมอ…
แต่อย่าไปกังวลมากครับ เราจะผ่านมันไปด้วยกัน!