ช่วงนี้ผมกำลังทำความรู้จักกับก๋วยเตี๋ยวผ่านมุมมองของการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งในมิติของการลงทุนและมิติของเรื่องเล่าสูตรสำเร็จ เลยเถิดไปถึงงานออกแบบบริการในร้านก๋วยเตี๋ยว ไปถึงงานออกแบบร้าน และไม่ลืมที่จะยัดแนวคิด UX หรือ Users Experience แทรกเข้าไปตามประสาคนออกแบบโมเดลสตาร์ทอัพ ที่มีสูตรคิดวนๆ อยู่ไม่กี่สูตรให้เอามาปรับใช้
อย่างแรกเลยที่ต้องสารภาพคือ… ผมเพิ่งทราบว่าก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทยมีประวัติคลุมเครือจนแม้แต่คุณเอนก นาวิกมูล แห่งบ้านพิพิธภัณฑ์ ก็มีข้อมูลเกี๋ยวกับก๋วยเตี๋ยวไม่มากกว่าคนอื่นเท่าไหร่… แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันก็คือ ประเทศไทยมีร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ทุกหนทุกแห่ง ที่แปลว่าคนไทยชอบนิยมกินก๋วยเตี๋ยวกันถ้วนทั่ว และค่อนข้างมั่นใจได้ว่า… คนไทยส่วนใหญ่กินก๋วยเตี๋ยวเป็นและเคยกินกันทุกคน
วันนี้ผมขอข้ามเรื่องปลีกย่อยเกี่ยวกับเมนูก๋วยเตี๋ยวที่แบ่งตามเส้นบ้าง เครื่องปรุงบ้าง วิธีเสิร์ฟวิธีขายบ้าง… เพราะส่วนตัวแล้วอยากพูดถึง Success Cases หรือเรื่องราวความสำเร็จของกิจการก๋วยเตี๋ยว ที่จับต้องเอ่ยถึงได้…
ผมเจอข้อมูลเผยแพร่เรื่องราวความสำเร็จของคนขายก๋วยเตี๋ยวมากมาย รวมทั้งกรณีของคุณเอ๋ หรือ คุณมณเฑียร ฉายสุวรรณคีรี แห่ง Whatever Boat Noodle… ร้านก๋วยเตี๋ยวในกัมพูชาที่ล่ำลือกันว่า ทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน… ก็ราวๆ 600,000 แสนกว่าบาท
ซึ่ง Key Success ของคุณเอ๋ที่เล่าไว้… แม้จะอิงๆ การประชาสัมพันธ์หลักสูตร Cost Control ของเวบไซต์ เพื่อนแท้ร้านอาหาร… แต่ข้อเท็จจริงที่เจ้าตัวยินดีเล่าแบ่งปัน ถือว่ามีค่ามากมายกับแนวคิดการเซ้งร้านก๋วยเตี๋ยวมาทำต่อเพราะชอบกิน… ซึ่งเป็นการทำร้านก๋วยเตี๋ยวเพื่อให้อยู่รอด เติบโตและมีกำไรไม่ได้ง่ายอย่างที่มุมมองคนกินเห็น… กิจการที่ดูตรงไปตรงมาอย่างขายก๋วยเตี๋ยวในมุมมองเจ้าของกิจการและการลงทุน จึงไม่ใช่ของเล่นขำๆ ที่ใครก็ทำเลี้ยงปากท้อง ทำกินและสร้างครอบครัวร่ำรวยได้ง่ายๆ… เผลอเมื่อไหร่ก็ขาดทุนได้เหมือนกัน
วันนี้ผมเลยรวบรวม Key Success เบื้องต้นของการทำร้านก๋วยเตี๋ยวมาแบ่งปัน… ซึ่งก็เทียบเคียงใช้ได้กับร้านอาหารปรุงร้อน/เสิร์ฟร้อนอื่นๆ ได้ด้วย… ไปดูด้วยกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง
1. ต้องบริหารกิจการเป็น… เพื่อออกแบบกลไกการจัดการภายในร้านที่มีประสิทธิภาพ
2. ต้องจัดการต้นทุนได้… โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบและอุปกรณ์… ค่าเช่า… ค่าจ้างเงินเดือน
3. ต้องเลือกทำเลร้าน… ซึ่งถ้าไม่ติดเงื่อนไขเรื่องมีทำเลอยู่ก่อนแล้ว ควรเลือกทำเลจากจำนวนคนผ่านร้านอย่างเหมาะสมรอบคอบ ซึ่งมีรายละเอียดพอสมควร
4. ต้องเป็น “ชนิดก๋วยเตี๋ยว” ที่เหมาะสม… เพราะร้านก๋วยเตี๋ยวมีมาก เลือกทำเลได้แล้ว ก็ต้องสำรวจร้านอาหารแบบ Walk-in รอบๆ ทำเล เพื่อนำมาใช้กำหนดกลยุทธ์การดึงลูกค้าของร้าน
5. ต้องเป็น “สูตรก๋วยเตี๋ยว” ที่ลูกค้าชอบ… ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ทีน้ำซุปและเครื่องปรุง แต่ถ้ามีจินตนาการกว่านั้น หรือมีทีเด็ดที่น่าหลงไหลกว่านั้นก็อย่าลืมใส่เข้าไป
6. กำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจน… จะขายใคร กำลังซื้อเป็นยังไง ลูกค้ามาตอนไหน
7. ควรมีเมนูเด็ดของร้าน… เพื่อใช้ขับเคลื่อนการตลาดให้ลูกค้าจดจำบอกต่อได้ง่าย ซึ่งเมนูเด็ดควรคำนึงด้านกลยุทธ์ทางการตลาดมากกว่าจะคำนึงถึงแค่ระดับเมนูหรือสูตรอาหารทั่วไป
8. เมนูเสริมและเครื่องดื่ม… คนกินก๋วยเตี๋ยวมักจะต้องการอาหารพร้อมกิน และถือเป็นการขายอาหารจานเดียวเฉพาะคนที่ต้องการเมนูเฉพาะให้ลูกค้าเลือก แต่รายการอาหารกับเครื่องดื่มพื้นฐานรวมทั้งของแกล้มและขบเคี้ยว ก็ควรออกแบบและเสนอบริการให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
9. ออกแบบงานบริการด้วยจิตบริการ
ประมาณนี้อย่างคร่าวๆ ครับ… ซึ่งแต่ละประเด็นยังมีรายละเอียดเฉพาะกรณีที่ต้อง “ใส่ใจรายละเอียด” ให้มากทุกตัวแปรและในบทความแบบนี้คงชี้แนะได้เพียงหลักการคร่าวๆ ก่อน… ส่วนการออกแบบและจัดการร้านเมนูเส้นที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดสมัยใหม่ ทั้งการนำซอฟท์แวร์ ERP เข้ามาใช้ในร้าน ไปจนถึงการออกแบบตกแต่งที่ทันสมัยและมีเอกลักษณ์… ซึ่งชุดความคิดของผู้ประกอบการขั้นนั้นคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
อ้างอิง