Nike Shape เป็นชื่อทางการค้าของ Nike สินค้าประเภทสปอร์ตบราสำหรับสาวสายสตรองที่รักและนิยมการออกกำลังกาย… แต่พาดหัวข่าวจากเวบไซต์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาในหมวด หุ้น-การเงิน พาดไว้ว่า… “วิรไท” คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบ “ไนกี้ เชป” ยันไม่จำเป็นต้องพึ่งเงินกู้ IMF
ซึ่งแน่นอนว่า ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คงไม่ได้หมายถึงสปอร์ตบราหรอกครับ… แต่ท่านหมายถึง “โลโก้ Nike” ที่ท้องล่างมีส่วนโค้งเหมือนตัว U เพียงแต่ปลายส่วนหลังทำมุมชันไม่เกิน 35 องศากับระนาบ 0-180 นั่นเอง… ซึ่งผมยอมรับว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเรียก เส้นอ้างอิงทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ยินแต่ V Shape หรือ เศรษฐกิจตกต่ำสุดแล้วก็ดีดกลับด้วยแรงสะท้อนเท่าตอนตก… U Shape หรือ เศรษฐกิจตกต่ำสุดแล้วก็ค่อยฟื้นตัวในช่วงแรกๆ ระยะหนึ่ง ก่อนจะยกตัวขึ้น… และ L Shape หรือ เศรษฐกิจตกต่ำสุดแล้วไม่มีกำลังจะปรับตัวกลับจากอะไรเลย จนลากยาวเสมอแนวต่ำไปอีกนาน
คำให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนาวิชาการ “ชวนคุยชวนคิด ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน” ภายใต้หัวข้อ “ก้าวต่อไป…ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัฒน์” ของ ดร. วิรไท สันติประภพ ต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ถึงจุดต่ำสุด และ หากโควิดไม่มีการระบาดรอบ 2 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ภายในปลายปี 2564 โดยลักษณะการฟื้นตัวจะอยู่ในรูปแบบ เครื่องหมายถูก หางยาว หรือ Nike Shaped ซึ่งจะเป็นการฟื้นตัวไปอยู่ในช่วงก่อนที่มีโควิด-19
อย่างไรก็ดี… เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงลึกกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เป็นผลมาจากไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่มีการพึ่งพาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหลังมีการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก เพราะความต้องการท่องเที่ยวจากต่างประเทศน้อยลง ดังนั้น การจะให้จำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาอยู่ที่ระดับ 40 ล้านคน อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีต่อจากนื้
ขณะที่ภาคการส่งออกก็มีบทบาทสำคัญระบบเศรษฐกิจไทย เพราะอุปสงค์ขึ้นอยู่กับประเทศคู่ค้า ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบทั้งหมด ทำให้อำนาจลดลง เช่นเดียวกับการผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานก็ถูกกระทบ ทำให้การฟื้นตัวจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ดร. วิรไท สันติประภพ ยืนยันว่า… ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF เหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งอีก… เนื่องจากไทยยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแรง แม้ว่าภาคเศรษฐกิจจริงจะโดนกระทบแรงไม่แพ้ปี 2540 และมีกันชนเศรษฐกิจมหภาคค่อนข้างแรงแรง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศระดับสูง และไทยไม่ได้พึ่งพิงเงินกู้จากต่างประเทศ ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถทำนโยบายการเงินด้วยเทคนิคการลดดอกเบี้ยจนต่ำเป็นประวัติการณ์ได้
นอกจากนั้น… ในงานสัมนา “ก้าวต่อไป…ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัฒน์” ยังสรุปผลกระทบจาก COVID19 ต่อภาคการเงิน โดยแบ่งผลกระทบเป็น 3 ช่วง ได้แก่
- ช่วงที่แรก ปลายเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563… กระทบกลไกตลาดเงินตลาดทุน ทำให้คนต้องการถือเงินสดทั้งโลก ดังนั้น มาตรการช่วงแรจะเน้นการรักษาเสถียรภาพการเงินเป็นเรื่องสำคัญผ่านการตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF)
- ช่วงที่สอง การควบคุมโรคระบาดไม่ให้รุนแรงโดยมาตรการล็อกดาวน์ หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้คนว่างงาน มีการปิดกิจการชั่วคราว จึงเป็นนโยบายเร่งเยียวยาผ่านการให้เงินจากภาครัฐ และภาคธนาคารได้ออกมาตรการขั้นต่ำเป็นการทั่วไปสำหรับลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบ
- ช่วงที่สาม ช่วงการฟื้นฟู การเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สอดรับหลังโควิดภิวัฒน์ โดยจะต้องเป็นมาตรการที่ตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้เฉพาะกลุ่มมากกว่าเป็นมาตรการทั่วไปที่เป็นลักษณะเหวี่ยงแห เพราะจะเป็นการสร้างผลกระทบข้างเคียงให้กับสถาบันการเงิน หากลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ แต่เข้าโครงการ ทำให้ธนาคารไม่มีทรัพยากรไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ แต่อีกข้างธนาคารยังคงต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก

สรุปว่า… อย่ารีบ… อย่าเร่ง… อย่าร้อน ถ้าเชื่อความเห็น ดร. วิรไท สันติประภพ… ซึ่งผมคิดว่า ท่านกล้าพูดตรงไปตรงมาในประเด็นนี้อย่างน่าชื่นชม เพราะกราฟการฟื้นตัวแบบ Nike Swoosh Shape สำหรับผม… มันก็คือ L Shape ที่มีมุมเงยเล็กน้อยไปอีก 12-20 เดือนข้างหน้าทีเดียว… มองยาวข้ามถึงปี 2564 เลยครับ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม… ระหว่างนี้ก็ประครองกันไป มองหาโอกาสใหม่ๆ กันไป
ครับผม!
อ้างอิง