ตัวเลขผู้ประกันตนตกงาน จากยอดสรุป ณ สิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 จากกระทรวงแรงงานมี 790,000 และพบแนวโน้มการตกงานเพิ่มในปี พ.ศ. 2564 อีกราว 2,500,000 คน อ้างอิงจากตัวเลขผู้ถูกสั่งพักงานชั่วคราวและสภาพธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และแจ้งข้อมูลการจ้างงานผ่านกลไกระบบประกันสุขภาพเข้ามา
ส่วนข้อมูลจากฝั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานตัวเลข ณ วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564… กรมปศุสัตว์ มีทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งสิ้น 3,548,540 ราย และมีเกษตรกรรายใหม่ด้านปศุสัตว์เพิ่มขึ้น 164,801 ราย… ส่วนกรมประมงก็มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนกว่า 6 แสนราย…
ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรล่าสุด 4,600,000 ครัวเรือน คิดเป็น 106.5% ของเป้าหมาย 4,400,000 ครัวเรือน หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 200,000 ครัวเรือน และคณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินชดเชยราคาข้าวรวมทั้งสิ้นกว่า 50,600 ล้านบาท… โดยไม่รวมการสนับสนุนชาวนาทางอ้อมผ่านโครงการอื่นๆ อีกมาก
เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง พบตัวเลขทะเบียนเกษตรกรเพิ่มขึ้นกว่า 760,000 ครัวเรือน จากเป้าหมาย 524,000 ครัวเรือน โดยตั้งงบประมาณในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังด้วยวงเงิน 9,788 ล้านบาท สำหรับ 524,000 ครัวเรือนเท่านั้น
ในขณะที่กรอบวงเงินชดเชยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่อนุมัติไว้ 10,042 ล้านบาท… ซึ่งจ่ายชดเชยไปแล้ว 3 งวด… และงวดที่ 4 ก็คงไม่รอดที่คณะรัฐมนตรีจะต้องเคาะจ่ายในช่วงที่ต้องอัดฉีดงบประมาณช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดครั้งนี้…
ประเด็นที่น่าจับตาที่สุดจึงเป็นเรื่องโครงสร้างรายจ่ายภาครัฐ และภาระทางการคลังอันหมายถึงภาระของทุกคนในชาติ ผ่านภาษีแบบต่างๆ และคงไม่พ้นที่จะต้อง “จัดสรรเพิ่มเติม” เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกรทั้งรายเก่าและรายใหม่… ซึ่งอาชีพเกษตรกรได้กลายเป็นอาชีพที่มั่นคงมากที่สุดอาชีพหนึ่งไปแล้ว จากโครงการประกันรายได้ที่รัฐบาลทุกชุด คงหาโมเดลอื่นมาดูแลทดแทนโมเดลประกันรายได้ให้คนกลุ่มใหญ่ขนาดนี้ต่อไป
เอาใจช่วยทุกฝ่ายครับ!!!