ความคืบหน้าของการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนบรจุเข้าวาระการประชุมรัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมาย… โดยได้ปรับปรุงการคุ้มครองการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้น เปิดทางเจ้าของสิทธิ์แจ้ง ISP ถอดงานละเมิดจากเว็บได้ทันที จากเดิมที่ต้องร้องขอคำสั่งศาลก่อน พร้อมเพิ่มการเอาผิดผู้ผลิต ผู้ขายอุปกรณ์ที่ใช้ในการแฮก และเปิดทางไทยเข้าร่วมภาคี WCT หรือ WIPO Copyright Treaty หรือ World Intellectual Property Organization
คุณจิตติมา ศรีถาพร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับปรับปรุงใหม่ ได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ กระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันร่างกฎหมายแล้ว และเสนอผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี… คาดว่าน่าจะเข้าสู่การพิจารณาได้ในเร็วๆ นี้ และ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมายและบังคับใช้ต่อไป
สาระสำคัญของการการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับนี้ ได้เพิ่มเติมการปกป้อง คุ้มครองการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ ISP ในกระบวนการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตแบบแจ้งเตือนและเอาออก หรือ Notice and Takedown… หากเจ้าของสิทธิ์พบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เช่น การละเมิดเพลง ภาพยนตร์ ละคร บนเว็บไซต์ต่างๆ ก็สามารถแจ้งไปยัง ISP เพื่อให้นำงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันที
“กฎหมายเดิม หากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องไปร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้ระงับการเผยแพร่ และอาจใช้เวลานาน หรือบางครั้งศาลสั่งแล้ว ก็มีปัญหา หากผู้ที่ละเมิดอยู่ในต่างประเทศ หรือมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปร้องขอให้มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์อีก แต่กฎหมายใหม่ ให้เจ้าของสิทธิ์ สามารถส่งหนังสือแจ้งไปยัง ISP ให้ถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้เลย”
อ้างอิง