ชื่อ Alibaba ในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็น eCommerce ยักษ์ใหญ่จากเมืองจีน ไม่ต่างจาก Amazon.com แต่สำหรับคนส่วนหนึ่งที่รู้จัก Amazon.com และ Alibaba.com รวมทั้ง Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba.com จะทราบว่า… เบื้องแรกเลยคือ Alibaba กับ Amazon แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย เอาแค่ข้อมูลผลประกอบการที่ Amazon.com มียอดขายมากกว่า Alibaba.com มากกว่า 3 เท่า และเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก… ในขณะที่ Alibaba.com กลับมีผลประกอบการที่สามารถทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้มากกว่า Amazon.com มากกว่า 3 เท่าจนตามกันไม่ทัน… ย่อมบอกอะไรกลายๆ ได้ว่า ไม่มีอะไรเหมือนกัน เพราะยอดขายก็คนละทิศ สัดส่วนกำไรก็คนละทางนั่นเอง
ซึ่งรูปแบบและโครงสร้างรายได้ที่ต่างกันคนละขั้วของ Amazon.com และ Alibaba.com ที่ว่า… หมายถึงโมเดลธุรกิจของทั้งสองธุรกิจ ไม่ได้เหมือนกันอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ และคน Alibaba ทุกคนตั้งแต่ Jack Ma จนถึงพนักงานฝึกหัดใน Alibaba… จะบอกคนอื่นๆ เหมือนกันหมดว่า พวกเขาไม่เหมือนและไม่มีวันเหมือน Amazon
Alibaba ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นตลาดกลางแบบค้าส่งในจีนเป็นภาษาอังกฤษ… ซึ่ง Jack Ma และทีมตั้งต้นนำ Alibaba.com เปิดตัวในช่วงเดือนเมษายน ปี 1999 ด้วยโมเดลธุรกิจแบบ B2B หรือ Business–to–Business และอีกหนึ่งปีต่อมา… Softbank โดย มาซาโยชิ ซน หรือ Masayoshi Son ก็ใส่เงินลงทุนก้อนแรก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้ Alibaba ในฐานะ Angel Fund… ซึ่งเรื่องเล่าการหาทุนและถูกปฏิเสธจากนักลงทุนเชื้อสายจีน ทั้งในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์และไทยของ Jack Ma ถือเป็นบทเรียนสำคัญให้ Startup รุ่นหลังกล้าหาญกับเป้าหมายจนถึงทุกวันนี้… กรณีนักลงทุนจากไทย เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ พูดบ่อยๆ ว่า ความผิดพลาดหนึ่งของท่านคือการปฏิเสธ Jack Ma ในวันที่ Alibaba ต้องการเงินลงทุน… แถม Jack Ma ยังคบหาและเคารพรักใคร่เจ้าสัวไม่เคยเปลี่ยนจนถึงปัจจุบัน
ปี 2003… อาณาจักร Alibaba ก็ปล่อยแพลตฟอร์มค้าปลีกชื่อ Taobao ออกให้บริหารผู้ค้ารายย่อยในจีน ให้สามารถค้าขายออนไลน์ได้ง่ายๆ ซึ่ง Taobao หรือเถาเป่า ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มแบบ C2C หรือ Customer–to–Customer ที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จทุกมิติ และกลายเป็นกรณีศึกษาในโมเดล C2C จากทั่วโลก… โดยเฉพาะตำนาน “วันคนโสด” หรือวันที่ 11 เดือน 11 ของทุกปีที่มีการลดราคาสินค้าถล่มทลาย จนสร้างยอดขายบรรลือโลกทุกปี… ปี 2015 ยอดขายจาก Taobao มีมากถึงถึง 1.59 ล้านล้านหยวน หรือ 2.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ… ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.11 ล้านล้านหยวน หรือราว 4.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019…
ปี 2004… อาณาจักร Alibaba ก็แจ้งเกิด Alipay… แพลตฟอร์มการชำระเงินที่โดดเด่นด้วยแนวคิดการใช้ รหัสคิวอาร์ หรือ QR Code มารับชำระค่าสินค้า ซึ่งจีนในช่วงเวลานั้น ไม่ได้มีระบบบัญชีธนาคารและบัตรเครดิต–เดบิตใช้เหมือนหลายๆ ประเทศ จนกลายเป็นอุปสรรคของ eCommerce อย่าง Taobao/Alibaba… ซึ่งการแจ้งเกิด Alipay ถูกจังหวะเวลา จึงสร้าง S-Cruve ให้ Alibaba Group อีกครั้ง
สิงหาคม ปี 2005… ข่าวใหญ่ในวงการธุรกิจการลงทุนสายเทคโนโลยีก็กระหึ่มโลก เมื่อ Yahoo.com ทุ่มเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐลงทุนใน Alibaba เพื่อถือหุ้น 40%… ทำให้ Yahoo เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Alibaba… และกลายแต้มต่อระดับโลกของ Alibaba อย่างสำคัญในเวลาต่อมา… ที่แน่ๆ ก็คือ การลงทุนครั้งนี้ ทำให้ Yahoo China ต้องควบรวมกับ Alibaba กลายเป็นแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในจีนทันที
พฤศจิกายน ปี 2007… Alibaba จึงเข้าสู่ขั้นตอนการ Exit Startup ด้วยการเสนอขายหุ้นเพื่อทำ IPO หรือ Initial Public Offering ในตลาดหุ้นฮ่องกง… ปีนั้น Alibaba ระดมทุนได้ 13,100 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง… และเปิดตัวด้วยราคา 13.50 ดอลลาร์ฮ่องกง และราคาหุ้นวันแรกที่เข้าตลาด วิ่งขึ้นไปจบวันที่ราคา 39.50 ดอลลาร์ฮ่องกงทีเดียว
เมษายน ปี 2008… Alibaba เปิดตัว Taobao Mall และรีแบรนด์เป็น Tmall ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม B2C หรือ Business–To–Consumer เพื่อให้ธุรกิจที่เป็นกิจการนิติบุคคลและมีแบรนด์ชัดเจน ได้เข้ามาใช้แพลตฟอร์ม Tmall ค้าขายกับชาวจีนทั้งประเทศ… และแก้ปัญหาสินค้าปลอมและสินค้าไร้คุณภาพ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของจีนในเวลานั้น
ปี 2009… Alibaba Group ก็ลงทุนในธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง และเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน แถมยังเป็นรายได้หลักที่ทำงเงินให้ Alibaba Group จนกลายเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติ้งที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกไปแล้ว… พอถึงเดือน พฤศจิกายน ปี 2009… มหกรรมวันคนโสด หรือ 11/11 ที่มีการลดราคาสินค้าทั้งบน Toabao และ Tmall ก็กลายเป็นตำนานแห่งสีสัน eCommerce โลกจนถึงปัจจุบัน
กันยายน ปี 2012… Alibaba ตัดสินใจซื้อหุ้นคืนจาก Yahoo ทั้งหมดมูลค่า 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยชำระคืนเป็นเงินสด 6,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และชำระเป็นหุ้นบุริมสิทธิ หรือ Preferred Stock อีก 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ… ว่ากันว่า ดีลขอคืนครั้งนี้ รัฐบาลจีนอยู่เบื้องหลังการหาเงินซื้อหุ้นคืนและยังใช้อิทธิพลกดดัน Yahoo จนต้องปล่อยหุ้นอย่างจำใจ แม้จะทำเงินตอบแทนการลงทุนให้ Yahoo มากถึง 7.6 เท่าจากเงินลงทุนเพียง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2005 เท่านั้นเองก็ตาม… และการจบความสัมพันธ์ครั้งนี้ นำไปสู่การฟ้องร้องระหว่าง Yahoo และ Softbank เกี่ยวกับสิทธิ์ใน Alipay ซึ่งเป็นธุรกิจที่ Spin Off หรือ แยกตัวออกไปเติบโตด้วยตัวเอง และ Alibaba ภายใต้การนำของ Jack Ma ต้องใช้เงินอีกกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อยุติข้อพิพาทของหุ้นส่วนครั้งนี้
กันยายน ปี 2014… Alibaba นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และยังทำสถิติเป็นธุรกิจนอกสหรัฐ ที่มีการการ IPO หรือ Initial Public Offering ด้วยราคาสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยมูลค่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ… ปัจจุบัน Alibaba ถูกประเมินให้เป็นหนึ่งในบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ปี 2014… Alibaba ยังเปิดตัว Ant Financial เพื่อทดแทน Alipay ที่ต้องแยกตัวออกไปเพราะปัญหาหุ้นส่วนและการเมืองระหว่างประเทศ… และการเกิดของ Ant Financial ไม่ได้เกิดเพื่อเป็น Payment Gateway อย่าง Alipay… แต่ Ant Financial เกิดเพื่อเป็น FinTech ครบวงจรที่โตวันโตคืน โดยเฉพาะสินเชื่อ
และตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา… Alibaba ก็รุกเข้าลงทุนกับ Startup ทั่วโลกมากมาย รวมทั้ง Lazada แพลตฟอร์มค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
10 กันยายน ปี 2019… Jack Ma ก็ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ของ Alibaba โดยส่งต่อหน้าที่ให้ David Zhang หรือ เดวิด เซียง หัวหน้าทีม Ant Financial เป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง… ในขณะที่ Jack Ma ยังนั่งเก้าอี้ในกรรมการบริหารบริษัทต่อไป
เรื่องเล่าของ Jack Ma และความสำเร็จของ Alibaba Group กลายเป็นตำนานยิ่งใหญ่เคียงไหล่การผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกของจีน ท่ามกลางวิสัยทัศน์โรงงานของโลก ที่จีนสามารถผลิตสินค้าทุกอย่างที่โลกนี้ต้องการ ส่งไปขายให้คนที่ต้องการจากทุกมุมของโลกได้หมด… แน่นอนว่า ใครที่อยากได้สินค้าจากโรงงานในจีน ก็แค่สมัครสมาชิก Alibaba.com เข้าระบบ หาสินค้าและโรงงานที่ต้องการ และกรอกออเดอร์
ผมจะไม่เล่าประวัติของ Jack Ma ที่มีคนเล่าและพูดถึงไว้มากมายแล้ว และผมเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเขา… ชายที่เคยไปสมัครงานที่ KFC กับคนอีก 24 คนและมีแต่ Jack Ma คนเดียวที่ไม่ได้งานในวันนั้น… และเป็นชายที่เทเงินก้อนใหญ่ให้คู่ขัดแย้งธุรกิจเพื่อรักษาน้ำใจและความสัมพันธ์… และเป็นชายที่สั่งซื้อหน้ากากอนามัยด้วยเงินส่วนตัว ส่งให้เกือบทุกประเทศในโลก ท่ามกลางวิกฤต COVID19 ที่แม้แต่ผู้นำหลายๆ ประเทศยังเอาแต่ชี้หน้าด่าคนอื่นอยู่ด้วยซ้ำ
ผมมีคำคมของ Jack Ma ที่ผมจดไว้มากมายมาฝากหนึ่งบท แม้ว่าจะเลือกยากมากก็ตาม… ผมเลือกเอาบทที่ชอบมากเวลาจิตตกจากความรู้สึกเป็นลบรายวัน ที่บ่อยครั้งก็ต้องการพลังเพื่อไปต่อเหมือนกัน…
Never Give Up. Today Is Hard, Tomorrow Will Be Worse, But The Day After Tomorrow Will Be Sunshine… อย่าถอดใจ ถึงวันนี้จะยาก พรุ่งนี้จะเลวร้าย แต่ถัดจากพรุ่งนี้ไปก็เจอแสงเจิดจ้าของดวงอาทิตย์แล้ว!

อ้างอิง