เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ… คุณดนุชา พิชยนันท์ ได้เปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่หลายฝ่ายเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางตัวแปรทางเศรษฐกิจเกือบทุกตัวยังอ่อนไหวและวางใจอะไรไม่ได้… ข้อมูลจากเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยืนยันว่า… ภาวะหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2565 ชะลอตัวลง แต่ยังทรงตัวสูง ที่ระดับ 86.9% ต่อ GDP โดยหนี้เสียทั้งระบบยังทรงตัว แต่ต้องจับตาความเสี่ยงสินเชื่อเช่าซื้อ หลังพบการค้างชำระตั้งแต่ 30-90 วันเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น และ ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ต่อสินเชื่อรวมในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ระดับ 2.62% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุเพิ่มเติมว่า… สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงานปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ แรงงานมีการทำงานล่วงเวลามากขึ้น และ ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น
ข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า… ประเทศไทยมีผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัว 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม… โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมขยายตัว 1.6% จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.7% จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขาการค้าส่งและค้าปลีก และ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนการจ้างงานสาขาการผลิตขยายตัวได้เล็กน้อย
ขณะที่ผู้เสมือนว่างงานลดลงกว่า 11.3% อัตราการว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 1.05% โดยผู้ว่างงานมีจำนวน 4.2 แสนคน สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป คือ
- การขาดแคลนแรงงานด้านดิจิทัลและไอทีจากการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ในแต่ละปีมีความต้องการแรงงานสายงานไอทีประมาณ 20,000-30,000 ตำแหน่ง แต่กลับมีผู้จบการศึกษาในด้านนี้ไม่เพียงพอ
- รายได้และการจ้างงานของแรงงานภาคเกษตรกรรมจากผลกระทบของ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลต่อการเพาะปลูกและผลผลิตของเกษตรกร
- พฤติกรรมการเลือกงาน โดยคำนึงถึงค่าตอบแทนที่สูงและสมดุลในชีวิตของคนรุ่นใหม่
ข้อมูลจากเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ซึ่งสำรวจความเห็นผู้บริโภคไทยในแบบสำรวจ “SCB EIC Consumer Survey 256”’ เกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อรายได้ รายจ่าย รวมถึง “ภาระหนี้ในระบบ และ หนี้นอกระบบ” โดยการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 4,733 คน ในช่วงวันที่ 20 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยผลสำรวจสะท้อนปัญหาและแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่น่ากังวลในหลายประเด็น เช่น
- แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย
- ผู้ตอบแบบสอบถาม 63% มีหนี้สิน และ 31% เป็นหนี้นอกระบบ และ มีแนวโน้มจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง… โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามที่มีหนี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดทั้งที่ไม่เคยมีหนี้มาก่อนมีสัดส่วนราว 40%… อีก 60% เป็นผู้ที่มีหนี้อยู่ก่อนแล้ว และ มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด โดยสำรวจพบผู้ตอบแบบสอบถามที่มีหนี้ในปัจจุบันมีแนวโน้มจะกู้ยืมเพิ่มขึ้นในอนาคต
References…