เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา… กองยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แถลงข่าวและเผยแพร่รายงาน ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2563 และแนวโน้มปี 2563 ซึ่งถือเป็นตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการของประเทศไทย ที่ทำขึ้นเพื่อใช้ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมิติต่างๆ ของไทยทั้งระบบ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ปรับตัวลดลง 12.2% ต่อเนื่องจาก การลดลง 2.0% ในไตรมาสก่อนหน้า YoY หรือ Year on Year หรือ การเปรียบเทียบตัวเลขรายไตรมาสในช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า… และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ลดลงจากไตรมาสแรกของปี 2563 9.7%… รวมครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลง 6.9%
ด้านการใช้จ่าย… การส่งออกสินค้าและบริการ… การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัว
ลดลง ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัว… ด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและ
บริการด้านอาหาร สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
สาขาการขายส่ง การขายปลีก และสาขาไฟฟ้าและก๊าซ ปรับตัวลดลง… ในขณะที่การผลิต
สาขาก่อสร้าง สาขาการเงินและการประกันภัย และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ขยายตัว
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563… คาดว่าจะปรับตัวลดลง -7.8% ถึง -7.3% เนื่องจาก…
1. การปรับตัวลดลงมากของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
2. ภาวะถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
3. ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศ
4. ปัญหาภัยแล้ง โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 10.0 การบริโภค
ภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อ
ทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง -1.2% ถึง -0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของ GDP
ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ
การป้องกันการกลับมาระบาดของไวรัสในประเทศ ควบคู่ไปกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ
ในประเด็นสำคัญๆ ประกอบด้วย
1. การประสานนโยบายการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดย…
1.1. การเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับเงื่อนไขในการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจ
1.2. การติดตามและป้องกันปัญหาในบางภาคการผลิตที่อาจส่งผลกระทบเชื่อมโยงไปยังภาคการเงิน
1.3. การสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
2. การพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการฟื้นตัว โดยเฉพาะ…
2.1. กลุ่มธุรกิจและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง
2.2. กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังมีศักยภาพในการฟื้นตัวแต่ยังมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการภาครัฐ
2.3 กลุ่มธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในช่วงของการปิดกิจการชั่วคราว รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ว่างงานและแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่
3. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุน
ภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับ
3.1. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการระบาดของโรคโควิด 19
3.2. การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในด้านขีดความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรค
3.3. การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศภายในกลุ่มอาเซียน
4. การดูแลภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและการลดลงของราคาสินค้าส่งออกโดยให้ความสำคัญกับ…
4.1. การจัดหาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ
4.2. การชดเชยเยียวยาเกษตรกร
4.3. การปรับเปลี่ยนการผลิตในภาคเกษตร
4.4. การสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์และบริการโลจิสติกส์ต้นทุนต่ำ