ปี 2020 เป็นปีที่เอกชนมากมายทั่วโลกคุยกันเรื่องการทำธุรกิจในอวกาศ อันหมายถึง การพูดคุยถึงโมเดลธุรกิจที่จะใช้พื้นที่สูงขึ้นไป 160–2000 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลกจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือกันว่าเป็นพื้นที่ในวงโคจรระดับต่ำของโลก หรือ Low Earth Orbit หรือ LEO Zone อันเป็นพื้นที่วงโคจรค้างฟ้า ที่วัตถุทุกประเภทสามารถลอยค้างอยู่ในวงโคจรได้โดยไม่ล่วงลงสู่พื้นโลกเพราะแรงโน้มถ่วง
วงโคจรต่ำของโลก จึงถูกใช้วาง หรือ ติดตั้งดาวเทียมมากมาย รวมทั้งสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS และ สถานีอวกาศ MIR ของรัสเซีย รวมทั้งกล้องฮับเบิล หรือ Hubble Space Telescope… และกำลังจะมีโรงแรมในวงโคจรเพิ่มขึ้นอีกหลายโครงการในอีกไม่นาน
ซึ่งการที่กิจกรรมของมนุษย์ในอวกาศ “มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในอนาคต” นี่เอง ที่นำมาซึ่งโมเดลธุรกิจในอวกาศของกลุ่มธุรกิจที่มองหาความท้าทายใหม่ๆ ผ่านวิสัยทัศน์สุดจินตนาการทั้งหมดที่คิดออก… โดยเฉพาะการใช้บริการวัตถุในวงโคจรสนับสนุนธุรกิจบนภาคพื้น ซึ่งคนค่อนโลกได้ใช้บริการสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และ ข้อมูลจากดาวเทียมในระบบ Global Positioning System หรือ GPS ที่อยู่ในอุปกรณ์เคลื่อนที่มากมาย โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือของทุกคน… และอื่นๆ อีกมาก
เมื่อมนุษย์ต้องขยับขยายขึ้นไปทำอะไรกันอีกมากในอวกาศ ก็คงเหมือนคนเมืองอพยพเข้าไปบุกรุกป่าสงวน สุดท้ายก็มีเสาไฟฟ้าตามไป จนทำให้ป่ากลายเป็นชุมชนและกลายเป็นเมืองเติบโตขึ้น… ดินแดนในวงโคจร LEO ก็เช่นกัน… ธุรกิจหลากวิสัยทัศน์ที่เห็นโอกาสก่อนจึงเคลื่อนไหวกันคึกคัก ตั้งแต่รายใหญ่ไปก่อนอย่าง SpaceX และ Blue Origin รวมทั้ง Virgin Galactic ที่บินรับงานขนส่งขึ้นลงระหว่างพื้นโลกและชั้นบรรยากาศ LEO Zone… ซึ่งในปัจจุบันมีเอกชนมากมายที่มีขีดความสามารถในการส่งของขึ้นอวกาศ ซึ่งคนในวงการรู้ดีว่าคึกคักและอู้ฟู้กันขนาดไหน
วันที่ 3 กันยายน ปี 2020… กองทัพอากาศไทยก็ใช้บริการส่งของชิ้นหนึ่งขึ้นวงโคจรไปกับเที่ยวบินของ Arianespace… ซึ่งวัตถุค้างฟ้าที่กองทัพอากาศไทยฝากส่งก็คือ ดาวเทียมจิ๋ว หรือ Nanosatellite ในโครงการ “นภา–1” ซึ่งเป็นดาวเทียมเพื่อความมั่นคงดวงแรกของกองทัพอากาศ ในภาระกิจลาดตระเวนทางยุทธวิธี ไปจนถึงสนับสนุนงานด้านบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ เช่น การสนับสนุนข้อมูลพื้นที่จุดความร้อน หรือ Hotspot เพื่อสนับสนุนการดับไฟป่า รวมทั้งการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในระดับประเทศ ซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ
พูดถึง Nanosate หรือ Nanosatellite ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า… การพัฒนาอุปกรณ์ IoT ขนาดเดียวกับ Nanosatellite กำลังเป็นที่สนใจในหมู่ Startup สาย Hardware ที่คิดถึงการเอาอุปกรณ์ชิ้นนั้นออกไปลอยค้างฟ้าในวงโคจร LEO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานยิ่งกว่าใช้บนพื้นโลกนั่นเอง ซึ่งมาตรฐานด้านขนาดและน้ำหนักของ Nanosatellite ขนาด 1U หรือ 1 Unit จะอยู่ที่ 10x10x10 เซนติเมตรทรงลูกบาศก์ มีมวลระหว่าง 1-1.33 กิโลกรัม… และสามารถประกอบให้มีขนาดหลายยูนิตเพิ่มได้ตามการออกแบบการใช้งานได้ด้วย แต่มวลรวมต้องไม่หนักเกิน 10 กิโลกรัม
การประกอบโมดูล และ การกำหนดชื่อเรียกขนาดของ Nanosatellite
ในเบื้องต้นที่อยากจะบอกก็คือว่า… ธุรกิจ Hardware Electronic โดยเฉพาะ IoT Hardware ที่มีความเคลื่อนไหวทั้งออกแบบ และ กำหนดฟังก์ชั่นการใช้งาน… มีข้อมูลมากมายยืนยันว่า สิทธิบัตรอุปกรณ์ IoT รุ่นใหม่ถูกขอเพื่อตอบโจทย์การใช้งานกับ Nanosatellite สูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา… สิทธิบัตรหลายใบได้จากการ Re-design อุปกรณ์เดิม… เหมือนกล้องมือถือกับรอยบากบ้าง หยดน้ำบ้าง เจาะรูบ้าง ซึ่งก็ขอรับและมีสิทธิบัตรได้กันหมด
ความจริงผมรู้จักคนไทยที่ทำดาวเทียมเป็นหลายท่าน… ซึ่งส่วนใหญ่ก็สมองไหลอยู่ต่างประเทศกันหมด ส่วนที่มีเรียนมีสอนกันอยู่ในประเทศไทยก็อย่างที่ทราบๆ กันว่า… ธุรกิจในบ้านเราที่รู้ว่าดาวเทียมหาเงินยังไงนอกเหนือจากสัญญาณทีวีผ่านดาวเทียมเพื่อเอาไว้ดูฟุตบอลยุโรป… มีน้อย หรือ อาจจะยังไม่มีเลยด้วยซ้ำ จนสถาบันที่สอนวิศวกรรมด้านนี้ ไม่กล้าผลิตทรัพยากรมนุษย์ด้านอวกาศออกมาจนทุกวันนี้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร… โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ธุรกิจ Hardware IoT ยังเหลือที่ว่างมากมายในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นไป 160 กิโลเมตร และ ประเทศไทยโดยหน่วยงานด้านอวกาศที่มีอยู่ ควรจะหยุดแหงนมองเวิ้งฟ้าเปล่าๆ แล้วหันหน้ามาคุยและให้ความรู้กับนักธุรกิจ และ ช่วยกันทำอะไรเจ๋งกันเถอะ… และถ้ามีไอเดียก็อย่าแค่แหงนขึ้นไปมองเลยครับถ้าท่านคิดอะไรออกแล้ว
References…