หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ได้รายงานอ้างแหล่งข่าวจากหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กรณีคณะทำงานติดตามโครงการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงรายได้ลงพื้นที่บริเวณบ่อเต็น-บ่อหาน ในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นจุดที่ก่อสร้างสถานีรถไฟตามโครงการ One Belt One Road หรือ OBOR หรือเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ที่จะเชื่อมโยงแต่ละประเทศในอาเซียนและทั่วโลก จุดนี้คาดว่าปี 2564 น่าจะแล้วเสร็จตามแผนที่จีนกำหนดไว้

ซึ่งเส้นทางสายนี้จะมาบรรจบกับถนน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ที่ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่สร้างเสร็จแล้ว แต่มอเตอร์เวย์เชียงราย–เชียงใหม่ ซึ่งกรมทางหลวงดูแลรับผิดชอบนั้น ตามแผนในปีนี้กระบวนการต้องอยู่ที่การเวนคืนที่ดิน ในสายทางที่จะสร้าง
แต่ล่าสุดก็ยังไม่มีความคืบหน้า!!!
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนที่1 ครั้งที่ 3/62 ตัวแทนสำนักทางหลวงที่ 1 ได้ชี้แจงรายละเอียดสรุปว่า… โครงการการมอเตอร์เวย์เชียงใหม่-เชียงราย บรรจุในแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี ของกรมทางหลวง ตามแผนปี 2566 จึงจะมีการออกพระราชกฤษฎีกา จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน… ขั้นตอนการเวนคืนจะเริ่มในปี 2562 ซึ่งตัวแทนกรมทางหลวงยืนยันว่า… เอกชนที่กรมทางหลวงจ้างเป็นที่ปรึกษานำเสนอ ช่วงปี 2567-2570 จึงจะดำเนินการก่อสร้างได้… ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้พิจารณาดำเนินการก่อสร้างช่วงที่มีปริมาณยานพาหนะหนาแน่น ช่วงเชียงใหม่-เวียงป่าเป้า และจาก เวียงป่าเป้า–แม่ลาว ขยายเป็น 4 ชองจราจร… ในระยะ 2-3 ปี อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาของกรมทางหลวง… บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด… บริษัท วี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด… ใช้เวลา 18 เดือนศึกษา งบค่าจ้างกว่า 30 ล้านบาท
บริษัทที่ปรึกษาได้กำหนดสมมติฐานปีเป้าหมาย ให้ปี 2568 เป็นปีเริ่มบริการ ค่าดำเนินงานมี 3 ส่วนหลัก ๆ คือ…
- ค่าออกแบบและก่อสร้าง 88,661.49 ล้านบาท
- ค่าเวนคืนที่ดิน 12,007 ไร่ และเงินชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 819 หลัง กว่า 2,567.46 ล้านบาท
- ค่าบำรุงรักษาและบริหารโครงการ 10,021 ล้านบาท
รวมเงินลงทุนทั้งหมด 101,222.21 ล้านบาท… โครงการผ่านเกณฑ์ดัชนีชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจ มีอัตราผลตอบแทนสูงถึง12.61% รูปแบบการลงทุน วางไว้ 3 รูปแบบคือ… รัฐลงทุนทั้งหมด หรือรัฐร่วมทุนกับเอกชน และให้เอกชนลงทุนทั้งหมด

สายทางจะเป็นถนนตัดใหม่ กว้างราว 70 เมตร ขนาด 4–6 ช่องจราจร เริ่มต้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ผ่าน อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่ออน อำเภอเมืองปาน(จังหวัดลำปาง) อำเภอแจ้ห่ม(จังหวัดลำปาง) อำเภอวังเหนือ(จังหวัดลำปาง) อำเภอเมืองพะเยาและ อำเภอแม่ใจ(จังหวัดพะเยา) สิ้นสุดที่ตัวเมืองเชียงราย
มีพื้นที่เวนคืน 12,000 ไร่ บ้านเรือนกว่า 900 หลังต้องชดเชย โครงการจะมีทั้งระดับพื้นดิน 128.28 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับ 32.88 กิโลเมตร ทางลอดและอุโมงค์ 22.25 กิโลเมตร… ช่วงข้ามอุทยานแจ้ซ้อน-ดอยหลวง มีทางเข้าออก 6 จุดเชื่อมถนนสายหลักและสายรอง มีสถานีบริการ 3 แห่งและศูนย์บริการทางหลวง 1 แห่ง…
- บริเวณ กม.19+275
- กม.71+000
- กม.165+500
- ศูนย์บริการทางหลวง ที่กม.125+200
คาดว่าจะก่อสร้างปี 2563-2564 กำหนดแล้วเสร็จปี 2567-2568… สามารถลดเวลาเดินทางจากเชียงใหม่ถึงเชียงรายด้วยเวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง จากเดิม 3 ชั่วโมง… ซึ่งถือเป็นเครือข่ายเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนที่มีปลายทางลงใต้ยาวถึงปลายแหลมมาลายู… โครงการนี้จึงเนื้อหอมกับกลุ่มทุนจีนหลายกลุ่มที่สนใจร่วมลงทุนในขณะนี้
อ้างอิง