ปลายปี 2020 ที่ผ่านมา… ข่าวใหญ่ที่สุดข่าวหนึ่งในวงการค้าปลีกและธุรกิจก็คือกรณีการควบรวมกิจการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ กลุ่มซีพี กับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus… ด้วยธุรกรรมมูลค่ากว่า 3.35 แสนล้านบาท… รายละเอียดดีลที่เกิดขึ้นสามารถค้นข้อมูลย้อนหลังดูได้ครับถ้าท่านสนใจรายละเอียด เพราะบทความตอนนี้จะข้ามไปพูดถึงแนวโน้มการควบรวมกิจการ เพื่อเติบโตและอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตโควิด ที่หลายอย่างพลิกเปลี่ยนไปรวดเร็วเหลือเกินในโลกธุรกิจ
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… การอยู่รอดของธุรกิจกับการผลักดันการเติบโตของธุรกิจนับจากนี้ไป ต้องหาหนทางที่จะมีอำนาจต่อรองเหนือตลาดในทางใดทางหนึ่งให้พบ หรือที่ภาษานักกลยุทธ์เรียกว่า Unfair Competitive Advantage เพื่อใช้เป็นข้อได้เปรียบทั้งต่อคู่แข่ง คู่ค้าและลูกค้า โดยเฉพาะในระยะของการสร้างการเติบโตของผลตอบแทนธุรกิจ
แนวทางหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อไปให้ถึงการมีอำนาจต่อรองเหนือตลาดที่ง่ายที่สุดก็คือ… การควบรวมกิจการและการซื้อกิจการนั่นเอง
ประเทศไทยมีกฏหมายและระเบียบเกี่ยวกับการทำ M&A หรือ Mergers and Acquisions โดยมี สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และมีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. เป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย ติดตามพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการฝ่าฝืน พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560
โดยส่วนตัวผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับการทำ M&A ให้ลูกค้าธุรกิจ ในกรณีที่ต้องการเติบโตเร็วกว่าการริเริ่มใหม่… ซึ่งการทำ M&A ก็คือการโอนย้ายความเป็นเจ้าของ หรือ Ownership ของกิจการหรือทรัพย์สินของทั้งสองกิจการรวมเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านธุรกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนในหลายๆ รูปแบบ แต่ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ก็จะต้องมีการรวมทรัพยากรของทั้งสองกิจการเข้าด้วยกัน… ซึ่งก็มีตั้งแต่การตั้งนิติบุคคลใหม่ขึ้นมาซื้อทั้งสองกิจการไปดำเนินการในชื่อใหม่… หรือให้กิจการที่ถูกซื้อปิดตัวไปโดยโอนทัพย์สินและทรัพยากรมาให้กิจการหลักได้ดำเนินธุรกิจต่อ หรือยังดำเนินกิจการต่อไปทั้งคู่ก็ได้ด้วย
โดยทั่วไป… การ Mergers หรือการควบรวมกิจการจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในหลายๆ ประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการจัดสรรโครงสร้างและที่นั่งในบอร์ดบริหารของกิจการที่ควบรวมขึ้นใหม่ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับหุ้นและสิทธิ์ต่างๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะรวมถึงทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆ ไปจนถึงการจ้างและเลิกจ้างบุคลากรในกิจการที่ควบรวมใหม่… ซึ่งทั้งหมดต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ แม้มูลค่ากิจการจะไม่ได้ใหญ่โตก็ตาม
ส่วนการทำ Acquisitions หรือการเข้าซื้อกิจการจะง่ายกว่าหน่อย เพราะผู้ซื้อกิจการย่อมกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการที่ถูกซื้อโดยปริยาย… ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ ตั้งแต่บอร์ดบริหารจนถึงพนักงานทุกคน ย่อมอยู่ในดุลพินิจตามกลยุทธ์ของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ได้จากการซื้อกิจการนั่นเอง… ซึ่งถ้าเป็นการซื้อเพื่อควบรวม… ก็จะมีการนำสู่ขั้นตอนการควบรวมในขั้นต่อไป
ส่วนประเด็นในการพิจารณาทำ M&A โดยส่วนใหญ่มักจะมีประเด็นของสมการธุรกิจแบบ 1+1=11 ซึ่งครอบคลุมกลยุทธ์ดังต่อไปนี้คือ
- Economy of Scale หรือ การประหยัดจากขนาด… เพราะเมื่อซื้อหรือควบรวมกันแล้ว ส่วนใหญ่จะสามารถลดคนลดฝ่ายลงได้มากใกล้ 50% ก็มี ในขณะที่ขนาดและมูลค่าตลาดกลับเพิ่มขึ้นจากการรวมกันทำให้กำไร หรือ Profit Margin เพิ่มขึ้นทันที
- Economy of Scope หรือ ประสิทธิภาพด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น… ซึ่งหลายกรณีสามารถเพิ่มขอบเขตทางการตลาด และการจัดจำหน่ายหรือบริการในตลาดที่ใหญ่ขึ้นทันที ผ่านจุดแข็งของสองกิจการ
- Gain Revenue and Market Share หรือ รายได้เพิ่มขึ้นและส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น… การซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการเพื่อเป็นที่หนึ่ง ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของรายใหญ่ที่หลายกรณีสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างอำนาจต่อรองเหนือตลาดโดยไม่เป็นธรรม… แต่หลายครั้งก็เกิดขึ้นเพื่อทวงความเป็นธรรมจากกิจการที่มีอำนาจต่อรองเหนือตลาดอยู่เดิมก็ได้
- Cross Selling หรือ การทำตลาดไขว่กัน… ซึ่งการควบรวมเพื่อแลกลูกค้าหรือแบ่งปันกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกัน ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่การควบรวมและซื้อกิจการ กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกลยุทธ์เดียวแต่ได้ผลประโยชน์สองก้อน
- Synergy หรือ รวมกันเราแกร่ง… โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นกิจการแบบเดียวกัน ซื้อหรือควบรวมเพื่อให้สมการธุรกิจเกิดขึ้นแบบ 1+1=3 เป็นอย่างน้อย
- Innovation and Technology หรือ ต้องการนวัตกรรมและเทคโนโลยี… ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นกิจการยักษ์ใหญ่ เข้าซื้อหรือลงทุนในกิจการขนาดเล็ก ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามเป้าหมายการลงทุน โดยการเข้าซื้อส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่ต้องการนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ต้องการเท่านั้น เพราะเป้าหมายที่ต้องการครอบครองสิทธิบัติและนวัตกรรมซึ่งถือเป็น Unfair Competitive Advantage อันชอบธรรม มักต้องการทรัพยากรบุคคลในกิจการที่มีนวัตกรรมเหล่านั้นด้วยเสมอ
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นอีกมากที่การเข้าซื้อกิจการและควบรวมกิจการ มีหลักและกลยุทธ์เฉพาะกรณีที่มีแต่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจผลักดันธุรกิจเท่านั้นที่จะทราบว่า… เมื่อไหร่ต้องการยาโด๊ปเพื่อโตและแข็งแรงเพื่อผ่านขั้นตอนการเติบโตที่สำคัญ… และปีนี้ หลายความเห็นคาดว่าจะได้เห็นการควบรวมและซื้อขายกิจการเพิ่มขึ้น… ซึ่งแม้แต่ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า ก็เคยให้ความเห็นในทำนองเดียวกันนี้เอาไว้ด้วย
References…