ประเด็นการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการ ตามหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอในอัตรา 0.10% ตามกฏหมายเดิม โดยในปีแรกจะจัดเก็บเพียงครึ่งหนึ่ง หรือ ในอัตรา 0.055% และ จะให้เวลาเตรียมตัว 3 เดือนก่อนเริ่มเก็บจริงในราวเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2566 นั้น… ยังเหลือข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังได้ยกเว้นการเก็บภาษีขายหุ้นให้กับกองทุนบำนาญต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษียณอายุ เช่น ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ Market Maker… โดยการยกเว้นการเก็บภาษีขายหุ้นกับ Market Maker นี่เองที่กำลังถูกพูดถึงอย่างเผ็ดร้อนไม่ธรรมดา โดยเฉพาะการตั้งคำถามตัวโตๆ ว่าเป็นเงื่อนไขที่เอื้อให้ทุนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ใช่หรือไม่
ข้อมูลจากเวบไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้ข้อมูลว่า… การยกเว้นภาษีการขายหุ้นให้กับ Market Maker เป็นการเอื้อนักลงทุนรายใหญ่หรือไม่นั้น?… คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงเรื่องนี้ว่า… อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ยังไม่ตรงกันในส่วนของ Market Maker ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาด ไม่ได้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เป็นผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกการซื้อการขาย และที่ต้องมี Market Maker เพราะบางทีมีหุ้นใหม่ออกในตลาด Market Maker ก็ต้องทำหน้าที่ว่ามีสภาพคล่องเพียงพอที่จะเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดที่ออกมาใหม่ หรือในสิ้นวันของการเทรดก็ต้องดูว่าสภาพคล่องว่ากระจาย หรือ กระจุกส่วนไหนเพื่อสนับสนุนให้มีการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน
ด้านข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ระบุว่า… บทบาทของ Market Maker สามารถเทรดเสริมสภาพคล่องได้ แต่ห้ามทำ Wash Trading หรือ การปั่นราคาหุ้นด้วยการซื้อขายกันเองในช่วงเวลาอันสั้นโดยเพิ่มราคาซื้อขายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการส่งคำสั่งของ Market Maker ต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดโดยรวม หรือ หาประโยชน์จากผู้ลงทุน และ ต้องไม่เป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
ความจำเป็นของการมี Market Maker ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งจะมีไว้ในกรณีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลในหลายตลาด ซึ่งจะเกิดช่วงห่างของราคาซื้อขายแตกต่างกัน… กลไกการเข้าไปดูแลสภาพคล่องของ Market Maker ก็จะทำให้ราคาของหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในราคาที่ใกล้เคียงกับที่ซื้อขายในตลาดอื่น ผ่านกระบวนการ Arbitrage โดยซื้อหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดที่ราคาต่ำกว่า และไปขายในตลาดที่ราคาสูงกว่า เพื่อสร้างจุดสมดุลย์ราคาส่วนต่าง และ ปิดโอกาสในการทำกำไรจากการเทรดข้ามตลาดแบบ Arbitrage… ซึ่งในทางเทคนิคจะใช้การตั้งราคาเพื่อรองรับการซื้อขายกับผู้ลงทุน โดยไม่เข้าไปซื้อขายและจับคู่กันเอง เพื่อให้ราคาไปอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ในลักษณะการชี้นำราคา และทำให้บุคคลทั่วไปสำคัญผิดทั้งในส่วนของราคา และ ปริมาณการซื้อขาย ซึ่งเป็นการทำเกินหน้าที่ เอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น และ เข้าข่ายทำผิดกฎหมาย Wash Trading หรือ การปั่นราคาหุ้น
Market Maker ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจึงมีความสำคัญกับกลไกตลาด ที่ถูกเตรียมไว้เพื่อแทรกแซงการซื้อขายเพื่อปกป้องตลาดทุน และ นักลงทุน… เหมือนสารกันบูดในอาหารแปรรูปที่ต้องมี และ อนุญาตให้ใช้เพื่อไม่ให้อาหารก่อพิษอื่นที่ร้ายแรงกว่า… ส่วนการยกเว้นภาษีขายหุ้นให้กับ Market Maker ผู้ทำหน้าที่ดูแลตลาดทุนโดยตรงให้มีเสถียรภาพย่อมเหมาะสมแล้ว… ส่วนประเด็น Maket Taker ในคราบของ Market Maker ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะและคลุมเครือแบบหาหลักฐานอ้างอิงไม่ได้นั้น ไม่คุยครับ!!!
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thansettakij.com