มรสุมเศรษฐกิจและธุรกิจครั้งนี้ที่ทุกคนต้องเจอเผด็จการ COVID19 พร้อมกัน ประเทศไทยและคนไทยก็ร่วมกันรับมือจนสถานการณ์คลี่คลายมาระดับหนึ่ง ผ่านช่วงเวลายากลำบากตั้งแต่ Lock Down ทุกอย่างกระทั่งเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูอย่างช้าๆ เป็นระยะ… ซึ่งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแบบบริการในร้าน กลายเป็นกลุ่มธุรกิจท้ายๆ ที่ได้รับการพิจารณาผ่อนปรน ที่แปลว่า… ธุรกิจร้านอาหารมีความเสี่ยงทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตัวแปรใหญ่คือ วิกฤตโรคระบาด
เมื่อครั้งเริ่มขั้นตอนการ Lock Down ทั้งประเทศ… ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม จนถึงสถานบันเทิงที่มีรายได้จากอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด ต่างปิดตัวลงทั้งประเทศเป็นครั้งแรก และความพยายามที่จะกลับมาเปิดบริการใหม่หลังการผ่อนคลาย ก็ยังไม่มีข้อมูลและตัวเลขที่ชัดเจนว่า ร้านอาหารน้อยใหญ่กลับมาทำธุรกิจต่อได้จำนวนเท่าไหร่และคิดเป็นกี่เปอร์เซนต์
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… การกลับมาเปิดร้านหลังผ่อนคลายจากมาตรการ Lock Down รอบนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาจะนำมาตัดสินว่า “จริงๆ แล้วจะเหลือร้านอาหารเจ้าไหนบ้างเหลือรอดได้ไปต่อ” เมื่อผลกระทบจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 3-6 เดือนข้างหน้า… รอทุกคนอยู่เห็นๆ เมื่อเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลหมดไปแล้ว… หนี้สินภาคธุรกิจและบุคคล ที่ประนอมไว้หรือเลื่อนเวลาไว้ จะกลับเข้าสู่กลไกดอกเบี้ยปกติทั้งส่วนธุรกิจ และส่วนที่เป็นบุคคลธรรมดา… ซึ่งกำลังซื้อในช่วงนั้นคงเดาได้ว่าจะออกมาอารมณ์ไหน
ประเด็นที่ผมจะพูดถึงวันนี้จึงมาจากคำถามที่ว่า… ผลกระทบจากวิกฤต COVID19 ต่อร้านอาหารทั้งหมดเมื่อสิ้นสุดสถานการณ์จะรุนแรงขนาดไหน?… หรือก็คือคำถามว่า สิ้นปีนี้จะมีร้านอาหารปิดตัวจริงๆ และล้มหายจากไปเท่าไหร่?
ย้อนกลับไปปี 2019… ร้านอาหารและภัตตาคารหรูหราราคาแพง และร้านชื่อดังหลายแห่งต่างล้มหายจากไปเพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย และชีวิตผู้คนเปลี่ยนจากนัดเจอกันที่ร้านอาหาร ไปใช้ช่องทางสื่อสารอื่นที่ง่ายกว่า รวมทั้งการมาถึงของยุคอาหารสั่งส่ง ที่สามารถคืนเวลาสะสางธุระการงานให้คนส่วนหนึ่งได้ดีกว่าเดิม
ปี 2019… ร้านอาหารในเครือของเชฟชื่อดังอย่าง Jamie Oliver ต้องปิดตัวลง 22 สาขาจากทั้งหมด 25 สาขา พร้อมหนี้สินอีก 71.5 ล้านปอนด์… และเข้าขั้นตอนการล้มละลายไปเรียบร้อย
ปี 2019… ร้านอาหารหรูหราในเครือ Bouchon Restaurant ของ Thomas Keller เชฟชื่อดังและเจ้าของร้านอาหารในเมืองใหญ่เกือบ 10 แห่งในสหรัฐอเมริกาที่จองโต๊ะยากมาก… ก็ปิดตัวลง



คุณจารุณี นาคสกุล ผู้สื่อข่าวจากโพสต์ทูเดย์ เรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับร้านอาหารเก่าแก่ชื่อดังหลายร้านทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบในวิกฤตต่างๆ ช่วงที่ผ่านมา เช่น ร้าน The Original Hot Dog Shop หรือ The O ร้านขายฮอตด็อก เฟรนช์ฟรายส์ และพิซซ่ามาตั้งแต่ปี 1960 แถว Forbes Ave ในเมือง Pittsburgh รัฐ Pennsylvania ก็ปิดตัวลง… ร้าน Clarke’s Charcoal Broiler ใน Mountain View รัฐ California โดย Steve Blach เจ้าของร้านก็ยืนยันว่า “อาจจะต้องใช้เวลาอีก 18 เดือนกว่าเราจะกลับมาเป็นเหมือนช่วงก่อนที่ไวรัสจะระบาด ระหว่างนี้ต้องเลย์ออฟ ลดชั่วโมงทำงาน ขึ้นราคา แต่สุดท้ายเราก็ไม่รอดอยู่ดี”
กลับมาที่บ้านเรา… ช่วงหลังวิกฤตระลอกแรกที่หลายอย่าง ดูสงบและผ่อนคลาย… เพื่อนๆ พี่ๆ หลายท่านที่พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองข่าวสารระหว่างกันอยู่ช่วงนี้… ต่างคิดและเห็นเหมือนกันว่า พายุโควิดยังไม่จบและเราเพิ่งหลุดเข้าไปอยู่ศูนย์กลางพายุที่คลื่นลมดูสงบเท่านั้น… ซึ่งคลื่นลมระลอกสองได้เจอทุกคนเท่ากันอีกรอบแน่ๆ ไม่นานจากนี้
ประเด็นก็คือ ธุรกิจบริการอาหาร กับธุรกิจร้านอาหารไม่มีวันตายหรอกครับ… แต่คนทำร้านอาหารเจ๊ง และ ร้านอาหาร “ต้องปิดกิจการ” เป็นเรื่องปกติ ซึ่งผมไม่มีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมนอกจากให้ท่านแยก “ธุรกิจอาหาร”กับ “ตัวร้าน” ออกจากกันเหมือนที่ Harry J. Sonneborn กับ Ray Kroc พาร้าน McDonald’s เติบโตไปทั่วโลกได้ไม่สิ้นสุด… ธุรกิจอาหารโฟกัสการส่งมอบอาหารให้ถึงลูกค้าก็พอครับ… ส่วนร้านคงต้องแนะนำให้บริหารแบบอสังหาริมทรัพย์… ไม่ว่าท่านคิดจะปิดร้านไปหรือเปิดร้านต่อ
อ่อ… กระแสเงินสดกับแรงใจครับ ต้องนิ่งถึงปีหน้า!!!
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1574060
https://www.posttoday.com/world/622303
https://www.naewna.com/local/483534