กลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจภายใต้แนวคิด Growth Hacking หรือการสร้างการเติบโตแบบข้ามขั้นจากสัดส่วนระดับคุยกันเป็นเปอร์เซนต์ ไปเป็นคุยกันที่สิบเท่าร้อยเท่านั้น ข้อสรุปมากมายมักจะชี้แนวทางไปที่ การใช้ทุน กับ การใช้เทค เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดระดับนั้นให้เป็นไปได้… ซึ่งอุตสาหกรรมก่อสร้างเองก็ไม่มียกเว้น
รายงานจากเวบไซต์ ConstructionDive.com ได้วิเคราะห์ความท้าทายของธุรกิจก่อสร้างในสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางวิกฤตโควิด ที่ยังลุกลามและมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นไม่หยุดว่า… อุตสาหกรรมก่อสร้างในสหรัฐอเมริกามูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้มาถึงจุดท้าทายสำคัญ ถึงแม้ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบโดยตรงน้อย… แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมฐานของกลไกทางเศรษฐกิจแขนงใดเลยในวิกฤตคราวนี้ ก็น่าจะถึงคราวที่อุตสาหกรรมก่อสร้างก็คงต้องปรับตัวเช่นกัน… ประเด็นการชะลอและยกเลิกโครงการก่อสร้างของรัฐบาล เพื่อทุ่มเททรัพยากรที่เหลืออยู่ เข้าช่วยปัญหาที่กระทบและจำเป็นเร่งด่วนจากโควิดเกือบทั้งหมด สร้างผลกระทบโดยรวมต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งในระยะสั้นและระยะกลางอย่างแน่นอนแล้ว
Ken Simonson จาก Associated General Contractors of America หรือ AGC ให้ความเห็นว่า… วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้กระทบการเงินของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่การเลื่อนและการยกเลิกโครงการก่อสร้างอย่างกว้างขวาง… ซึ่งการเลิกจ้างงานที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างเดือนกันยายน ปี 2020 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 น่าจะเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 58% ใน 20 รัฐ… รวมทั้งความเคลื่อนไหวในการควบรวมกิจการของธุรกิจก่อสร้างของกลุ่มผู้เล่นรายใหญ่ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่ต้องปรับองค์กรรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ และสร้างโอกาสการเติบโตด้วยประสิทธิภาพที่สูงกว่า “โดยการเอาทุนและเทคโนโลยีมีรวมกันขับเคลื่อน” ตัวอย่างกรณีการควบรวมของ Abbott Construction กับ STO Building Group น่าจะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ตลอดปี 2021 นี้เป็นต้นไป… ซึ่งถ้าย้อนหลังกลับไปดูข้อตกลง M&A ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก็พบการควบรวมและซื้อกิจการกลุ่มเทคโนโลยีก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2018 เช่นข้อตกลงระหว่าง PlanGrid and Autodesk หรือกรณี Amazon Smart Builder ซื้อ BIManywhere หรือข้อตกลงระหว่าง Autodesk Komatsu และ TrueLook และอีกมากมายนับไม่ไหว
ประเทศไทย… แม้อุตสากรรมก่อสร้างในบ้านเราจะยังคงเดินหน้าได้เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องแรงงานภาคก่อสร้างก็มีการเยียวยากันมาอย่างดีตั้งแต่กลางปี 2020… แต่ก็ยังยากที่จะเดาและฟันธงได้ว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร… เพราะหลายความเห็นที่ผมได้ยินมองตรงกันทำนองว่า น่าจะกระทบมากพอสมควรทีเดียว โดยเฉพาะก่อสร้างเอกชนและกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ปัญหาก็คือ… อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีบิ๊กบราเธอร์ และบิ๊กบราเธอร์ของบิ๊กบราเธอร์ซับซ้อนมาแต่ไหนแต่ไร… การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของธุรกิจก่อสร้างตั้งแต่ระดับบิ๊กบราเธอร์ ลงมาจนถึงรายย่อยจึงยังมีระบบอุปถัมภ์ครอบอยู่ค่อนข้างชัด… แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือ อุตสาหกรรมก่อสร้างได้เข้าสู่ยุคขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเต็มระบบแล้วในหลายประเทศ การถือครองและขับเคลื่อนกิจการก่อสร้างด้วยเทคโนโลยี ย่อมเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ที่กระทบ “เจ้าเก่า” ตั้งแต่ระดับบิ๊กบราเธอร์ลงมาจนถึงรายย่อยค่อนข้างแน่นอน… เว้นแต่ว่า กลยุทธ์ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จะปรับตัวจนมีคุณสมบัติครบและพร้อมแข่งขันกับผู้เล่นระดับนานาชาติ ที่แม้แต่บิ๊กบราเธอร์ของบิ๊กบราเธอร์ก็ช่วย “กั๊กเอาความได้เปรียบ” แบบเดิมไว้ให้ ก็คงช่วยอะไรไม่ได้เท่าไหร่… ซึ่งก็คงไม่ต่างจากกรณีสงวนอาชีพถีบสามล้อไว้ให้คนไทย ตอนที่ยามาฮ่าตั้งโรงงานไปแล้วนั่นแหละ
ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคอีสเทิร์นซีบอร์ด… ถ้าไม่ใช่ธุรกิจก่อสร้างและรับเหมาที่ต่อตรงกับการเมืองและรัฐบาลในแต่ละยุคตลอดสามสิบสี่ปีที่ผ่านมา… ธุรกิจก่อสร้างและรับเหมาบ้านเราล้วนเป็นส่วนหนึ่งของยักษ์ใหญ่ก่อสร้างจากญี่ปุ่นไต้หวันแทบทั้งนั้น… และเมื่อมาถึงยุค EEC อย่างในปัจจุบัน เราจะสามารถยืนหยัดแข่งขันสมน้ำสมเนื้อกับรับเหมาจีนเพิ่มอีกรายไหวมั๊ย ซึ่งผมมองว่าเป็นโจทย์ใหญ่มากกว่าครั้งไหนจริงๆ
โดยส่วนตัวผมจึงมีความเห็นว่า… อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยน่าจะถึงเวลาที่ต้องพิจารณาประเด็นควบรวม หรือทำ M&A เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้มีทั้งเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการสร้างงาน มากกว่าจะทุ่มเทหาแต้มต่อจากการวิ่งเต้นและวิ่งตัด โดยพึ่งพาเส้นสายและการเคลียร์ทางแบ่งกันจนเราแข่งขันกับโลกภายนอกไม่เป็น… ที่จริงบ้านเรามีผู้เล่นรายใหญ่ระดับบริษัทมหาชนในอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่น้อย ที่มีศักยภาพในการควบรวมเพื่อใหญ่โตขึ้นอีกหลายเท่า รวมทั้งมีทุนรอนพอที่จะเข้าลงทุนหรือซื้อกิจการ ConTech Startup ที่น่าสนใจมากมายทั่วโลกได้ด้วย
ด้วยความเคารพครับ!
References…