ในการศึกษาวรรณกรรมคลาสิก สิ่งที่ผู้หลงไหลวรรณกรรมทั่วโลกมีเหมือนกันคือการอ่านงานของ Edith Hamilton นักภาษาศาสตร์ผู้ได้รับการยกย่องอย่างสูงตลอดกาลท่านหนึ่ง และอดีตคุณครูจากโรงเรียนสตรี Bryn Mawr School ในเมือง Baltimore รัฐ Maryland ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนวรรณกรรมอมตะหลังเกษียณ เล่าเรื่องราวปกรณัมปรัมปราของกรีกโรมัน อันเป็นตำนานเทพเจ้าที่ถูกเรียบเรียงขึ้นใหม่ จนกลายเป็นรากฐานวรรณกรรมยุคต่อมามากมาย โดยเฉพาะต้นฉบับ Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes ปี 1942… ซึ่งเป็นเล่มที่ถูกแปลเป็นหลายภาษาทั่วโลก รวมทั้งภาษาไทยในหลายบริบท
ตำนานปรัมปรากรีกโรมันในหนังสือ Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes โดยส่วนตัวถือเป็น “เรื่องเล่า” ซึ่งแฝงนัยยะภูมิรู้ในมิติต่างๆ ตั้งแต่ปรัชญาการเมืองการปกครอง ความเชื่อและคำอธิบายถึงความสัมพันธ์แบบต่างๆ ที่สร้างผลลัพธ์อันเกิดจากพฤติกรรมความสัมพันธ์ ที่กระทำต่อสายสัมพันธ์แบบต่างๆ โดยเล่าเป็น “สารแฝง หรือ Embedding Message” ใส่ไว้ในนิทานที่มีทั้งเทพเจ้า เป็นตัวละครช่วยอธิบายเหตุและผล จากพฤติกรรมความสัมพันธ์ระหว่างเทพเจ้ากับเทพเจ้า… เทพเจ้ากับมนุษย์… มนุษย์กับจอมมาร และจอมมารกับเทพเจ้า
Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes จึงถูกมองจากนักวิเคราะห์วรรณกรรมบางกลุ่มว่า เป็นการใช้ “กรณีศึกษา” ที่สุดแสนงดงาม ซึ่งยืนยันความเชื่อเกี่ยวกับภูมิปัญญามนุษย์ ที่ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนถึงกันผ่าน Contents หรือ เรื่องเล่า… และเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนอีกวาระหนึ่งว่า Contents is King
ผมเป็นคนหนึ่งที่หลงไหลตำนานปกรณัมและตำนานของอารยธรรมต่างๆ มานาน โดยส่วนตัวเชื่อเสมอว่า เรื่องเล่าในตำนานเล่านั้น หากใช้สื่อสารในบริบทที่เหมาะสม มักจะทำให้บรรยากาศการเล่าเรื่องพาผู้รับสาร ดำดิ่งเข้าสู่การโน้มน้าวอีกขั้นหนึ่งได้ง่ายกว่า… โดยเฉพาะการใช้เล่าเป็นตัวอย่างหรือเปรียบเทียบ เพื่อดึงผู้รับสารเข้าสู่ประเด็นหลักที่ต้องการสื่อออกไป
โดยส่วนตัวผมประทับใจตำนานหลายบทในเทพนิยายกรีกโรมัน และหนึ่งในนั้นคือตำนานรักคิวปิด หรือ Cupid กับ ไซคี หรือ Psyche… ซึ่งเป็นตำนานรักของกามเทพกับหญิงงามผู้ทำให้เทพีแห่งความงามอย่าง วีนัส หรือ Venus ผู้เป็นมารดาของคิวปิด โกรธเกรี้ยวไม่พึงใจที่มีมนุษย์ผู้หญิง ได้รับการยกยอให้เป็นหญิงงามถึงขั้นมนุษย์ผู้ชายเทิดทูลไม่ต่างจากเทพีผู้เลอโฉมเยี่ยงตน
วีนัสผู้มีลูกชายเป็นกามเทพ จึงสั่งให้คิวปิดไปจัดการเอาศรรักไปปักผู้ชายคนไหนก็ได้บนโลก จับคู่กับไซคีให้หญิงมนุษย์คนนั้นได้ออกเรือนมีสามีไปเสีย เดี๋ยวพวกมนุษย์ผู้ชายก็จะมาปลาบปลื้มหลงไหลความงามของตนเหมือนเดิมโดยไม่มีคู่แข่ง… แต่เทพอย่างคิวปิดก็อยู่ในพรหมลิขิตอันหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน… ความงามของไซคีจึงทำให้คิวปิดเผลอทำศรรักปักตัวเองเข้า… หรือไม่คิวปิดก็คงเจอรักแรกพบ จนยอมเอาลูกธนูอาบความรักปักหัวใจตนเอง ตรึงไว้กับสาวงามเบื้องหน้าโดยสมัครใจก็ได้
ตัวไซคีเองเป็นธิดาเจ้าเมืองใหญ่ ความพยายามของเจ้าเมืองที่จะให้ธิดาทุกคนมีคู่ออกเรือนจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่จนแล้วจนรอด ไซคีก็ไม่มีชายใดกล้าสู่ขอจนต้องไปทำพิธี ณ วิหารเดลฟีบนเขาโอลิมปัส เพื่อขอคำทำนายจากเทพพยากรณ์ หรือ Oracle แห่งวิหารเทพบิดร
คำทำนายจากเทพพยากรณ์เปิดเผยต่อท่านเจ้าเมืองว่า ไซคีธิดาคนสุดท้องถูกลิขิตให้เป็นเนื้อคู่กับเทพผู้อัปลักษณ์ และปรากฏกายได้แต่ในยามราตรีอันไร้แสง เพียงให้สร้างปราสาทมิดชิดบนยอดเขา และให้นางได้อยู่ลำพังกับสวามีที่จะปรากฏกายแต่กับนางในห้องหออันมืดมิดยามราตรีเท่านั้น และห้ามไซคีอยากรู้อยากเห็นกายของเขาในแสงสว่าง อันจะทำให้ความสัมพันธ์พินาศลง
แน่นอนว่า… คำพยากรณ์ประหลาดดังว่านั้น เป็นความประสงค์ของทวยเทพ ที่อยากให้คิวปิดสมหวังในรัก แต่ก็เกรงว่าเทพีวีนัสผู้เป็นมารดา จะยิ่งโกรธเกรี้ยวและเกลียดสะใภ้จนทำอะไรเละเทะ ทำให้ชีวิตสมรสของคิวปิดไซคีล่มได้ จึงออกอุบายให้สัมพันธ์รักของคิวปิดไซคี ต้องปกปิดให้มิดชิดจากริษยาของวีนัส… เมื่อเรือนหอบนยอดเขาสร้างเสร็จ ไซคีก็ถูกส่งตัวเข้าหอและพบกับชายที่พรหมลิขิตให้ได้ครองคู่กับนางในความมืด และความสัมพันธ์ก็ราบรื่นสุขสมดีงามผูกพันธ์กันมา… จนกระทั่งพี่สาวของไซคีมาเยี่ยมเยือน
พี่สาวของไซคีถามถึงน้องเขยว่าเขาเป็นใครหน้าตารูปร่างเป็นอย่างไร?… ไซคีตอบไม่ได้จึงถูกพี่สาวยุยงให้จุดเทียนดูให้เห็นยามเขาหลับ… ซึ่งก็ตรงกับจิตใจฝักใฝ่หมกมุ่นที่อยากจะเห็นรูปร่างหน้าตาของชายที่ตนร่วมหอด้วยอย่างมีความสุขเช่นกัน… กลางดึกคืนต่อมา ไซคีจึงละเมิดข้อตกลงและคำพยากรณ์ โดยจุดเทียนเพื่อให้ได้เห็นหน้าตาเรือนร่างของสวามีบนเตียง ภาพชายหนุ่มรูปงามสมบูรณ์แบบบนเตียงจนไซคีอึ้ง และทำน้ำตาเทียนหยดลงบนกายของคิวปิด… คิวปิดลืมตาเห็นแสงไฟ ก็โกรธไซคีที่ละเมิดคำพยากรณ์อันหมายถึงความเดือดร้อนจากมารดาย่อมกีดกันและราวีทั้งสองอย่างแน่นอน เมื่อวีนัสรู้ว่าคิวปิดได้สตรีที่ตนเกลียดที่สุดมาครองคู่… คิวปิดหรือกามเทพจึงบอกกับกับไซคีก่อนจะจากไปไม่กลับมาหาอีกว่า… Love Cannot Live Where There Is No Trust… รักมิอาจยั่งยืนโดยไร้ความไว้เนื้อเชื่อใจ
การโกรธเคืองของคิวปิด ทำให้ไซคีตกระกำลำบากเมื่อต้องไปอ้อนวอน “แม่สามีที่เกลียดตน” เพื่อช่วยให้ได้พบเขาอีกสักครั้งอย่างกล้าหาญ จนกลายเป็นตำนานแม่ผัวลูกสะใภ้ ที่ก่อกรรมต่อกันอีกหนึ่งเรื่อง ก่อนจะจบตำนานเพื่อยืนยันว่า… สุดท้ายแล้ว รักแท้ที่คิวปิดมีต่อไซคีและรักแท้ที่ไซคีมีต่อคิวปิด ก็ไม่มีอะไรพรากพวกเขาจากกันได้ ไม่ว่าจะเป็นแม่ผัวใจร้ายงี่เง่าเอาแต่ใจและฤทธิ์มากแค่ไหน
ผมขอไม่เล่าเรื่องโดยละเอียดแล้วน๊ะครับ… เพราะเชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านมาก่อนแล้ว หรือจะลอง Google หาลิงค์ที่มีคนเขียนเผยแพร่ไว้ดีๆ ก็มีมากมาย… โดยทัศนส่วนตัวมีความเห็นเหมือนหลายๆ ท่านว่า ตำนานคิวปิดไซคีแฝงความนัยมากมายไว้ในเนื้อเรื่อง ตั้งแต่ชื่อ ไซคี หรือ Psyche ซึ่งแปลว่าจิต อันเป็นต้นทางขับเคลื่อนความรุ่มร้อนชี้นำตัวตนไปในทางที่จิตฝักใฝ่เสมอ… โดยเฉพาะจิตที่สัมพันธ์กับรักโลภโกรธหลง จนส่งผลต่อความสัมพันธ์… กระทั่งความรัก ความสัมพันธ์หรือแม้แต่ “วาจาสัตย์หรือคำสัญญา” ที่ไม่ยืดยุ่น ก็อาจจะก่อกรรมมากมายต่อตัวเองและคนที่รักได้เช่นกัน
Edith Hamilton เรียบเรียงหนังสือ Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes ขึ้นใหม่จากต้นฉบับภาษาละตินดั้งเดิมที่ประพันธ์โดย อะพูเลอัส หรือ Apuleius… รวมทั้งเรื่องของคิวปิดและไซคีด้วย
สาร หรือ Message จากตำนานรักกามเทพที่สำคัญที่สุดจึงอยู่ที่… ความเชื่อใจ สำคัญกับทุกๆ ความรักและสายสัมพันธ์
สุขสันต์วันวาเลนไทน์ครับ!
References…