ความมั่นคงในชีวิตและจิตใจของคนเรา โดยทั่วไปจะสร้างขึ้นด้วยความเชื่อมั่นที่มีต่อความพลิกผันท้าทาย อันเป็นความเสี่ยงสามัญที่สอนสั่งถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นภูมิปัญญาให้มนุษย์รุ่นต่อๆ มา สามารถเผชิญหน้ากับความเสี่ยงได้ด้วยปัญญา ตั้งแต่กินอะไรไม่ตาย หรือ นอนยังไงให้หลับสบายและตื่นมาสดชื่น… ทำให้ความเสี่ยงระดับสามัญกลายเป็นวิถีเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ง่ายๆ เพียงทำตามคำสั่งสอนที่เต็มไปด้วยความห่วงใยจากประสบการณ์เผชิญความเสี่ยงของบรรพบุรุษ… ซึ่งหากผิดพลาดพลิกผันให้ความเสี่ยงไปทำลายความเชื่อมั่นลง แม้เรื่องเล็กน้อยเพียงรู้สึกว่าดื่มน้ำไม่สะอาดเข้าไป หรือ หายใจเอาอากาศพิษเข้าปอด… ความสุขความพึงพอใจของคนส่วนใหญ่ก็ย่อมจะพร่องหายไปไม่ต่างกัน
ความมั่นคงในชีวิตและจิตใจของคนเราจึงถือเป็นภาระหน้าที่ของคนๆ หนึ่ง ที่จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงให้ตัวเองเชื่อมั่นว่ามั่นคงปลอดภัยแล้ว จนเห็นการมุ่งมั่นทำมาหากิน สะสมทรัพย์สินและหาทางลดความเสี่ยงในอนาคตซึ่งสร้างความกลัวให้กับปัจจุบัน โดยจะเห็นเป็น “กรอบความเชื่อ” ให้คนๆ หนึ่งใช้พึ่งพิงความพึงพอใจว่าปลอดความเสี่ยงแล้ว หรือ อย่างน้อยก็รู้สึกผ่อนคลายจนความกลัวอนาคตอันไม่แน่นอนลดลง
แต่ถ้าชีวิตและจิตใจของคนๆ หนึ่งต้องเผชิญกับความพลิกผันจนถึงขั้น… ความเชื่อเรื่องความมั่นคงในชีวิตและจิตใจ ถูกทำลายลงจนแน่ใจว่า “ไม่เหลือความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต” อยู่อีกแล้ว!… ความกลัวที่ครอบงำจิตใจและความเชื่อ จะเปลี่ยนคนๆ นั้นไปอย่างไร?… และคำถามนี้มีคำตอบเดียวเหมือนกันหมดคือ… เปลี่ยนไปจากเดิม!!!
ประเด็นจึงมีว่า… ถ้าความพลิกผันผลักเราออกจากความเชื่อว่าเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตจนเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว… ก็แปลว่าเราถูกความพลิกผันผลักออกจากพื้นที่ความปลอดภัยทางจิตใจ หรือ Comfort Zone จนเปลี่ยนไปจากเดิมเรียบร้อยแล้ว… ซึ่งทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในโซนที่ทำให้ “จิตใจหวั่นไหววังเวงและหวั่นกลัว” แต่คนส่วนใหญ่ก็จะเริ่มดิ้นรนออกจากความกลัวที่คาดคิดได้ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและจิตใจเป็น Comfort Zone ใหม่อีกครั้ง
การพูดถึง Comfort Zone ในหลายกรณี โดยไม่พูดถึงความเชื่อมั่นทางจิตใจของคนๆ หนึ่ง ต่อปัจจัยในการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยจากความเสี่ยงที่คาดถึงให้ชีวิตและจิตใจ จึงเป็นการพูดถึง Comfort Zone แบบเลื่อนลอย ไม่ต่างจากคำแนะนำฉาบฉวยที่ฟังดูดีแต่หาวิธีทำตามได้ยาก ซึ่งเห็นมีอยู่มากมายเกลื่อนอินเตอร์เน็ต…
อย่างไรก็ตาม… การออกจาก Comfort Zone ทุกเงื่อนไขหรือข้ออ้าง… จะมอบการเริ่มต้นใหม่ให้ทุกคนที่ยินดี “พลิกผัน” หาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและจิตใจจาก Comfort Zone ใหม่ให้ตัวเองเสมอ ซึ่งหลายกรณีถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ด้วย… Neale Donald Walsch ผู้เขียนหนังสือชุด Conversations with God: An Uncommon Dialogue บอกไว้ว่า… Life Begins At The End Of Your Comfort Zone หรือ ชีวิตจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้งที่จุดจบของพื้นที่ความปลอดภัยแห่งความเชื่อเดิม
ประวัติส่วนตัวของ Neale Donald Walsch ถือว่าเป็นมนุษย์ที่เคยเผชิญหน้ากับความพลิกผันในชีวิตระดับ “ซวยซ้ำซ้อน” ถึงขั้นชีวิตตกต่ำกลายเป็นคนไร้บ้านและยังชีพด้วยการเก็บขยะรีไซเคิลเลี้ยงตัวมาแล้ว ทั้งๆ ที่ชีวิตก่อนหน้านั้นมีทั้งบ้านและครอบครัว แต่เมื่อชีวิตเจอกับอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด ถูกเลิกจ้างกลายเป็นคนตกงาน ชีวิตแต่งงานก็พังลงในช่วงเวลาเดียวกัน พร้อมกับเกิดไฟไหม้บ้านจนเหลือแต่ตัวจริงๆ
Neale Donald Walsch ผู้เติบโตมาในครอบครัวคาทอลิกเคร่งครัด จึงมีคำถามมากมายที่เขียนลงกระดาษโน๊ตพร้อมคำต่อว่าด่าทอและท้าทายพระเจ้าของเขา… กระทั่งแรงดลใจอันน่าอัศจรรย์ที่มีต่อทุกๆ คำถามของเขา สามารถตอบได้ดั่งเป็นการสนทนาธรรมที่ฝ่ายตอบไม่ถือความต่อกิริยาก้าวร้าวของผู้ถาม และกลายเป็นหนังสือ Conversations with God: An Uncommon Dialogue จนได้ตีพิมพ์ในปี 1995 ซึ่งขายดีระดับทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว โดยครองแชมป์อยู่ในรายชื่อหนังสือขายดีของ New York Times เป็นเวลา 135 สัปดาห์ และ ได้รับการแปลอีก 37 ภาษาทั่วโลกรวมทั้งภาษาไทยในชื่อ สนทนากับพระเจ้า การพูดคุยที่ไม่ธรรมดา… ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่ายเป็นชุดสองเล่ม… Neale Donald Walsch เขียนหนังสือเล่มอื่นๆ อีก 28 เล่มตลอดอายุการทำงานของเขา ซึ่งหลายเล่มถูกดัดแปลงเป็บบทภาพยนต์อีกด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ… Neale Donald Walsch เป็นอีกคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาจากกองกระป๋องเครื่องดื่มที่คนอื่นกินเหลือทิ้ง ซึ่ง Neale Donald Walsch เก็บกวาดสะสมเพื่อเลี้ยงชีพในช่วงชีวิตที่ “คับแค้นตีบตัน” ที่สุด… โดยยังมุ่งมั่นทำงานเขียนที่พูดถึงความดีงามและเหตุผลแห่งชีวิต จนหนังสือของเขากลายเป็นคำภีร์สมัยใหม่ที่ชาว Christians หรือ คริสต์ศาสนิกชนทั่วโลกล้วนซื้อหาแจกจ่ายและแนะนำต่อๆ กัน… ซึ่งผลงานของ Neale Donald Walsch ทั้งหมดถือเป็นตัวอย่างการ “พลิกผันตัวเอง” ออกจาก Comfort Zone ที่ความเชื่อเรื่องความมั่นคงในชีวิตและจิตใจ ซึ่งถูกทำลายจนย่อยยับไปแล้ว… ด้วยซ้ำ!
References…