วันนี้ลอกการบ้าน SCB EIC ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลค่าเงินกีบของเพื่อนบ้าน สปป. ลาว ที่อ่อนไหวอย่างน่าติดตาม และ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกมองว่า… ภาวะเศรษฐกิจของลาวในช่วงเวลานี้เลวร้ายเป็นรองศรีลังลังกาไม่มาก เพียงแต่ลาวยังพอจะระดมทุนจากหนี้ก้อนใหม่ผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ดีกว่าศรีลังกาเท่านั้นเอง
ข้อมูลโดยคุณปัณณ์ พัฒนศิริ จาก SCB EIC ชี้ว่า… สปป.ลาว กำลังเผชิญวิกฤตเงินกีบอ่อนค่ารุนแรงพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น… โดยข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2022 ค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับจากเดือนกันยายน ปี 2021 เป็นต้นมา และยังอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าของเงินกีบตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่างๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และ ปัญหาอุปทานคอขวดโลกที่ลาวจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และ ปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง
ต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจของ สปป. ลาว และ ค่าเงินกีบตึงตัวสูงในปัจจุบันมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ทั่วโลกได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อลาว ที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง… ในขณะที่ช่องทางการระดมทุนของลาวเริ่มมีจำกัด และ มีต้นทุนสูงขึ้นหลังการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร หรือ Speculative Grade… และ สปป.ลาว ยังมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่า จนกลายเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ และ การนำเข้าสินค้าจำเป็น
ปัจจุบัน… ถึงแม้ระดับหนี้สาธารณะของลาวจะเร่งตัวสูงขึ้นมากแต่ยังต่ำกว่าศรีลังกา และ ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเทียบมูลค่าการนำเข้าแล้ว… หนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูงกว่าเงินทุนสำรองอยู่มาก แต่ สปป.ลาว ก็ยังมีช่องทางการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ เช่น ตลาดพันธบัตรประเทศไทย ซึ่งล่าสุดได้เปิดขายพันธบัตรวงเงินไม่เงิน 5,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2022 รวมทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร และ การส่งเสริมการลงทุน กับ การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผลักดันการส่งออก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก SCB EIC มองว่า… นโยบายการคลังและการเงินใน สปป.ลาว ช่วงที่ผ่านมาได้เน้นการประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจทำให้เสถียรภาพในประเทศอ่อนแอลงอีกในระยะต่อไป… สปป.ลาว จึงควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากลาวเป็นประเทศสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road Initiative ในภูมิภาคอาเซียน
ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่อ่อนแอของลาวต่อต่อประเทศไทยนั้น นักวิเคราะห์จาก SCB EIC คาดว่าจะมีจำกัด แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยเฉพาะโอกาสที่จะเกิดผลกระทบใน 4 ช่องทาง ได้แก่ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากไทย และ ภาคการเงิน
สำหรับภาคการส่งออกของไทย… ผลกระทบหลักจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจลาว และ อุปสงค์ที่ลดลง แต่ในภาพรวมคาดว่าจะยังขยายตัวได้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก… ส่วนนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว มีความเสี่ยงหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลงตามเงินกีบที่อ่อนค่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ… ในขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยสู่ สปป.ลาว ในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้น ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงการชำระค่าไฟจาก สปป.ลาว ที่อาจถูกเลื่อนออกไปซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคต ตลอดจนความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในประเทศ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ก็อาจมีความเปราะบางมากขึ้นในช่วงต่อไป… อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมยังคาดว่าจะได้รับผลกระทบถึงประเทศไทยไม่มาก เนื่องจากมีผู้ซื้อไฟฟ้าหลักจากเขื่อนในลาวคือไทย และ มีการเซ็นสัญญา PPA เรียบร้อยแล้ว
ท่านที่ต้องการข้อมูลฉบับเต็มพร้อมตัวเลขสำคัญ และ สถิติจาก รายงานฉบับเต็มขนาด 19 หน้า โดย SCB EIC… คลิกที่นี่ครับ!
References…