นักวิจัยจาก University of Bristol ในสหราชอาณาจักรได้นำเลือดเทียมที่สังเคราะห์ขึ้นในห้องทดลอง ถ่ายเข้าร่างกายมนุษย์ที่ยังมีชีวิตเพื่อทดลองทางคลินิกเป็นครั้งแรกของโลก โดยเลือดเทียมที่ถ่ายเข้าร่างกายมนุษย์ในการทดลองครั้งนี้ มีปริมาณเพียงน้อยนิด ราว 2-3 ช้อนชาเท่านั้น ซึ่งเป็นการวิจัยเพื่อตรวจสอบว่าเลือดเทียมจะใช้งานได้เหมือนเลือดจริงในตัวมนุษย์หรือไม่
เป้าหมายสูงสุดของการสังเคราะห์เลือดเทียมในห้องทดลอง คือ การผลิตเลือดกรุ๊ปที่หายากมากๆ ที่แทบหาผู้บริจาคเลือดไม่ได้ โดยเฉพาะในคนไข้โรคโลหิตจาง ที่ต้องได้รับการถ่ายเลือดอยู่เป็นประจำ ซึ่งคนไข้ที่มีเลือดกรุ๊ปหายากนั้น หากได้รับเลือดที่ร่างกายไม่ตอบรับ อาจทำให้การรักษาล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตก็ได้ เลือดที่ให้จึงต้องเข้ากันได้ถึงระดับเนื้อเยื่อ ซึ่งไม่ใช่เลือดกลุ่มทั่วไปอย่าง A B AB และ O… แต่จะเป็นเลือดกลุ่มหายากมากๆ เช่น เลือดกลุ่ม “O-bombay หรือ บอมเบย์” ที่ค้นพบครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีเลือดเพียง 3 ยูนิตอยู่ในคลังเลือดของสหราชอาณาจักร
การเพาะเลี้ยงเลือดเทียมนี้เป็นความร่วมมือของทีมงานในเมือง Bristol และ Cambridge กับ หน่วยเลือดและการปลูกถ่าย หรือ NHS Blood and Transplant ของระบบประกันสุขภาพสหราชอาณาจักร หรือ National Health Service หรือ NHS โดยมุ่งเน้นการสร้างเม็ดเลือดแดงเทียมที่สามารถนำพาออกซิเจนจากปอดไปสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยกระบวนการผลิตเลือดเทียม มีขั้นตอน ดังนี้
- ทีมวิจัยเริ่มจากเลือดปริมาณ 470 มิลลิลิตรที่ได้รับบริจาค
- ใช้อนุภาคแม่เล็กเพื่อดึงสเต็มเซลล์ ที่กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ ออกมา
- เพาะสเต็มเซลล์เหล่านี้ จนเติบโตในปริมาณมากในห้องทดลอง
- กระตุ้นสเต็มเซลล์ที่เพาะไว้ ให้กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง
กระบวนการเพาะเลือดเทียมจะใช้เวลาปริมาณ 3 สัปดาห์ โดยสามารถเพาะเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ 50 ล้านเซลล์ต่อสเต็มเซลล์ที่สกัดออกมาได้ราว 5 ล้านเซลล์… จากนั้น ทีมวิจัยจะคัดแยกเซลล์เม็ดเลือดแดงราว 15 ล้านเซลล์ ที่พัฒนาจนถึงจุดที่สามารถฉีดเข้าร่างกายมนุษย์ได้
Professor Ash M Toye หัวหน้าโครงการวิจัยให้ข้อมูลกับสำนักข่าว BBC ว่า.. เราต้องการสร้างเลือดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในอนาคต ในจินตนาการของผม มองเห็นห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรที่ผลิตเลือดออกมาต่อเนื่องจากเลือดที่ได้รับบริจาค
ข้อมูลจากสำนักข่าว BBC ชี้ว่า… ทีมวิจัยได้ฉีดเลือดเทียมเข้าไปในร่างกายผู้เข้ารับการทดลอง 2 คน โดยตั้งเป้าจะทดสอบกับอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรงอย่างน้อย 10 คน แต่ละคนจะเข้ารับเลือด 5-10 มิลลิลิตรในทุกๆ 4 เดือน สลับกันระหว่างเลือดปกติและเลือดเทียมที่เพาะในห้องทดลอง
เลือดเทียมที่ใช้ทดสอบนั้น จะใช้การติดตามด้วยสารกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นกระบวนการทดสอบทางการแพทย์ตามปกติ เพื่อที่นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามได้ว่า เลือดเทียมสามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานแค่ไหน และมีความหวังว่า เลือดเทียมจะใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเลือดปกติเสียอีก
โดยปกติ… เซลล์เม็ดเลือดแดงจะอยู่ได้นานราว 120 วัน ก่อนที่จะถูกทดแทน โดยเลือดที่รับบริจาคมานั้น มีทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีอายุน้อย และ อายุมากแล้ว แต่ถ้าเป็นเลือดเทียม จะเป็นเลือดที่สดใหม่ และสามารถอยู่ได้นานถึง 120 วัน… ดังนั้น การผลิตเลือดเทียมที่สดใหม่ได้นั้น จะช่วยให้ในอนาคตไม่ต้องขอรับบริจาคเลือดบ่อยเท่ากับในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี… โครงการผลิตเลือดเทียมมีความท้าทายเรื่องการเงินและเทคโนโลยีอยู่มาก เพราะต้นทุนการรับบริจาคเลือดต่อครั้งอยู่ที่ 130 ปอนด์ แต่เลือดเทียมมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่านั้นมาก ซึ่งทีมวิจัยไม่ระบุว่า สูงมากแค่ไหน… ความท้าทายอีกประการหนึ่งก็คือ สเต็มเซลล์ที่สกัดออกมาได้นั้น ต้องหมดอายุขัยลง ทำให้ปริมาณเลือดที่เพาะออกมาได้มีจำกัด จึงยังต้องวิจัยให้สามารถเพาะเลือดในปริมาณมากพอที่จะใช้ในทางการแพทย์ได้
References…