บรรยากาศตลาดหุ้นไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2020 ที่ผ่านมาต้องบอกว่า… เป็นศุกร์ 13 ที่ต้องบันทึกและจดจำอีกครั้งหนึ่งเมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 30 นาที ตั้งแต่เวลา 09:59 -10:29 นาฬิกา… สาเหตุจากดัชนีราคาหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 111.52 จุด คิดเป็น 10.00% จากดัชนีราคาปิดของวันทำการก่อนหน้า ที่ศัพท์เทคนิคในตลาดหุ้นเรียกกันว่า… เซอร์กิตเบรคเกอร์ หรือ Circuit Breaker
นักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นกลุ่มที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อความผันผวน… ยิ่งในภาวะที่สถานการณ์ทางระบาดของ COVID-19 ที่กำลังคุกคามยุโรปจนแตกตื่นไปทั่วโลก ที่บ่งบอกว่า… สถาณการณ์ COVID-19 ได้ระบาดลุกลามระดับโลกที่หมายถึง ประเทศส่วนใหญ่ในโลกพบผู้ติดเชื้อและต้องเฝ้าระวังการระบาดระดับท้องถิ่น หรือเฝ้าระวังการติดต่อลุกลามภายในประเทศของตนเองอย่างเข้มข้น… ซึ่งทั้งหมดกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงภาวะหลายอย่างที่หมายถึง เศษฐกิจและการลงทุนถูกคุกคาม และทั้งหมดสะท้อนผ่านราคาหุ้นทั่วโลกที่ไม่ต้องบรรยายว่า ตลาดไหนพังเท่าไหร่และทรุดแบบไหน
ผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ที่คอยตรวจข่าวและติดตามข่าวสารใกล้ชิดถี่ยิบเหมือนคนอื่นๆ… เพียงแต่ผมจะตามจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ มากกว่าจะไถแอพโซเซี่ยลมีเดียและแอพแชททั้งหลาย หลีกเลี่ยงข่าวลือและข่าวเท็จเพื่อไม่ให้สติถูกปนเปื้อนมากเกินไป… แต่ถึงปานนั้นก็ยังห่อเหี่ยวและซึมเศร้าจนต้องฟังเพลงแบบ Meditation ประเภทเสียงฝนตกฟ้าร้อง เสียงแมลงกลางคืน จนถึงเพล์ลิสต์เพลงกล่อมนอนหรือ Lullabies Playlist กันเลย… แล้วผมก็นึกถึง John Paulson
John Paulson เป็นผู้จัดการกองทุน Paulson & Co ที่โด่งดังจาก Subprime Crisis หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่สินเชื่อบ้านด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา สร้างเศรษฐกิจฟองสบู่จากอสังหาริมทรัพย์ จนภาคการเงินการลงทุนและอสังหาริมทรัพย์ ดึงเศรษฐกิจและสังคมอเมริกันลงเหวเป็นลูกโซ่ ลากยาวตั้งแต่ธันวาคม 2007 จนถึงกลางปี 2010 จึงเริ่มคลี่คลายเข้าสู่การฟื้นตัวอย่างชัดเจนอีกครั้ง… ท่ามกลางคำถามมากมายที่มีต่อเศรษฐกิจทุนนิยมสุดขั้วของอเมริกาและอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย
แต่ห้วงเวลาที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาแตกเป็นเสี่ยงๆ… John Paulson และกองทุน Paulson & Co กลับมีกำไรจากการซื้อสัญญาขายล่วงหน้า Subprime Mortgage เอาไว้ได้ก่อนที่จะเกิดวิกฤต และทำเงินได้มากถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์ในขณะที่กองทุนอื่นๆ ในตลาดเสียหายยับเยินหรือแม้แต่ล้มละลายทันทีก็มาก


John Paulson จึงกลายเป็นคนดังที่ได้รับการยกย่องมากมายถึงขั้นยกให้เป็นผู้หยั่งรู้อนาคตในหมู่นักลงทุน…
แต่เหตุการณ์หลังจากนั้นสำหรับ John Paulson ก็พิสูจน์สัจธรรมการลงทุนอีกครั้งหนึ่งว่า… ไม่มีใครคิดถูกและคาดการณ์แม่นยำตลอดเวลาในตลาดหุ้นและตลาดทุน
John Paulson และกองทุน Paulson & Co ของเขาขาดทุนอย่างมากถึงขั้นติดอันดับกองทุนผลงานยอดแย่ 10 อันดับเพราะขาดทุนจากการลงทุนกับหุ้นสถาบันการเงินในช่วงที่ ธุรกิจการเงินถูก Disrupted จากเทคโนโลยีการเงินอย่างหนักตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน… แถมการลงทุนในทองคำในช่วงปี 2010-2011 ก็ทำให้กองทุน Paulson & Co ขาดทุนจากขาลงของราคาทองคำ ซึ่งนักลงทุนที่บริหารพอร์ตทองคำจนขาดทุนได้… ต้องถือว่าเข้าขั้นผลงานยอดแย่อย่างไม่น่าให้อภัยทีเดียว
John Paulson เกิดวันที่ 14 ธันวาคม 1955… เริ่มงานแรกในชีวิตกับ Boston Consulting Group ในปี 1980… ก่อนจะกลายเป็นหมาป่าแห่ง Wall Street เต็มตัวในปี 1994 ด้วยการสร้าง Hedge Fund ของตัวเองขึ้นในชื่อ Paulson & Co นั่นเอง… ด้วยทุนตั้งต้นเพียง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับพนักงาน 1 คน ก่อนจะเติบโตมีมูลค่าสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2003
ในหนังสือ The Big Short: Inside the Doomsday Machine ของ Michael Lewis ได้เปิดโปงการบิดเบือน Credit Default Swap หรือ CDS ซึ่งเป็นตราสารหนี้ชนิดหนึ่งที่ใช้มูลค่าสินทรัพย์อ้างอิงกำหนดราคา… ซึ่งตราสารแบบนี้จะซื้อขายกันในหมู่สถาบันการเงินและกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่คนนอกวงการเข้าถึงได้ยาก และครั้งนั้น CDS ที่ซื้อขายกันใช้สินเชื่อด้อยคุณภาพจากอสังหาริมทรัพย์ หรือ Subprime Mortgage อ้างอิงมูลค่าเกินจริง… เหตุการณ์ครั้งนั้น นอกจากนายแพทย์ที่ผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์อย่าง Micheal Burry ที่ค้นพบสัญญาณการเกิดวิกฤตครั้งใหญ่เป็นคนแรกๆ แล้ว… ก็มี John Paulson นี่แหละที่ทำเงินได้มากมายจากการ Shorting หรือทำสัญญาขายล่วงหน้าในราคาสูงและซื้อส่งมอบตามสัญญาในราคาที่ต่ำมากๆ… กรณีของ John Paulson ถือว่าซื้อตราสารหนี้ส่งมอบตามสัญญาหลังฟองสบู่แตกในราคาเหมือนได้เปล่า จึงทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังมากในเวลานั้น
แต่ฝีมือการบริหารกองทุนของ John Paulson ทั้งก่อนหน้าและหลัง Subprime Crisis… หลายเสียงบอกว่าน่าผิดหวัง ถึงขั้นหลายคนตราหน้าเขาว่าเป็นเพียงนักพนันใน Wall Street ที่แทงถูกในกรณี Subprime Crisis เพียงครั้งเดียว
กรณีของ John Paulson ในมุมมองส่วนตัวผมคิดว่า… เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีใครทายถูกหรอกว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น… เพราะอนาคตเกิดขึ้นได้หลายแบบมากหากเรามองจากปัจจุบัน ซึ่งการลงทุนทุกแบบเป็นการเทความเชื่อมั่นให้อนาคตที่เราเชื่อเท่านั้นเอง… ส่วนความเชื่อจะมากแค่ไหนและตัวแปรอะไรบ้างก็คงต้องเรียนรู้เป็นรายกรณีไป… ซึ่งการผิดพลาดล้มเหลวเพื่อเรียนรู้ ก็ยังคงเป็น Mindset เดียวที่จะพาเราออกจากความล้มเหลวไปสู่อนาคตที่ไม่ล้มเหลวได้
ตัว John Paulson เองเคยกล่าวไว้ว่า… Investors that do the best, and have done the best, are those that stay and compound at above-average rates over the long term. นักลงทุนจะทำในสิ่งที่ยอดเยี่ยม และจบให้ยอดเยี่ยมด้วยทุกสิ่งที่ถือครองและกระจายสัดส่วนลงทุน ล้วนหวังสร้างผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว
เวบไซต์ GuruFocus.com ได้รายงานสถานะกองทุน Paulson & Co ว่ายังมีมูลค่ารวม 4.63 พันล้านดอลลาร์ และ Turnover rate ต่ำเพียง 8% ที่หมายถึงการลงทุนของ Paulson & Co มีการเปลี่ยนแปลงและปรับพอร์ตไม่มาก ซึ่งน่าจะเป็นการลงทุนระยะยาวที่ผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดี… และการเติบโตของกองทุนเข้าสู่ 4.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ 26 ของ Paulson & Co ก็พิสูจน์ได้เช่นกันว่า… John Paulson ไม่น่าจะใช่นักพนันธรรมดาที่พึ่งโชคอย่างที่หลายคนดูแคลน
ที่จะบอกก็คือ… ในภาวะที่ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจผันผวนในทิศทางทรุดมากกว่าทรงตัวแบบนี้ ก็หวังแต่ว่าหลายๆ ท่านจะงัดเครื่องมือจัดการความเสี่ยงออกมาใช้ให้ถูกจังหวะเวลา… และที่เหลือก็ปล่อยให้อนาคตที่เราประเมินไว้หลายๆ แบบ… เกิดขึ้นและติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
สุขสันต์วันอาทิตย์ครับ
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/John_Paulson
http://www.paulsonco.com/
https://www.gurufocus.com/guru/john+paulson/current-portfolio/portfolio