สัปดาห์นี้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ Blockchain และ Cryptocurrencies มากเหลือเกิน แถมยังเป็นความเคลื่อนไหวในระดับมหภาคและระดับนโยบายอันหมายถึง… เหตุการณ์ทั้งหมดที่กำลังขยับเปลี่ยนแปลงอยู่นี้ กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และอะไรอีกมากที่จะย้ายไปอยู่บน Blockchain เพื่อความถูกต้องโปร่งใส่… โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของธนาคารแห่งประเทศไทย และโครงการ Inthanon Blockchain อันเป็นอนาคตของ “บาทดิจิทัล” ซึ่งกำลังน่าติดตามความเคลื่อนไหวอย่างมาก
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ BOT ร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง หรือ HKMA ซึ่งเป็นพันธมิตรจากโครงการ Inthanon–LionRock… ได้เปิดรับพันธมิตรใหม่ใน โครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency หรือ CBDC… สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศที่ริเริ่มโดย BOT และ HKMA… โดยมี ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ CBUAE และ สถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ PBC DCI… ได้เข้าร่วมโครงการ Inthanon-LionRock ตั้งแต่เดือนกุมพาพันธ์ ปี 2021 เป็นต้นไป… และเปลี่ยนชื่อโครงการความร่วมมือล่าสุดเป็น “Multiple Central Bank Digital Currency หรือ m-CBDC Bridge Project หรือ m-CBDC Bridge” โดยการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ BISIH ในฮ่องกง
โครงการ m-CBDC Bridge จะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการ Inthanon–LionRock ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2019 และลงนามระหว่าง BOT และ HKMA ได้ตั้งแต่ต้นปี 2020 ก่อนจะเข้าสู่การพัฒนาในระยะที่สองภายใต้ชื่อ Inthanon–LionRock1 พร้อมพันธมิตรเพิ่มเติมจากธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมจนนำมาสู่การลงนามในโครงการ m-CBDC Bridge นั่นเอง
หัวใจสำคัญของดครงการนี้ก็คือ การนำเอาศักยภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ หรือ DLT หรือ Distributed Ledger Technology… มาใช้ในการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศที่ครอบคลุมหลายสกุลเงินและทำงานตลอด 24 ชั่วโมง… ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศ และตั้งเป้าหมายในการขยายขีดความสามารถไปสู่ธุรกรรมระดับธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในอนาคต
อย่างไรก็ตาม… ในเบื้องต้นนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าโครงการ m-CBDC Bridge โดยมุ่งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากธนาคารกลางอื่นๆ ทั้งในเอเชียและภูมิภาคต่างๆ เพื่อร่วมกันศึกษาศักยภาพของ DLT ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ… ทั้งในด้านประสิทธิภาพและต้นทุนในการทำธุรกรรม ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ธนาคารกลางที่เข้าร่วมโครงการจะประเมินผลการทดสอบ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการนำโครงการ m-CBDC Bridge มาใช้จริง ในการโอนเงินระหว่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ และตลาดทุนต่อไป
ตามนั้นครับ!
References…