ท่านที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับ Data ในธุรกิจที่ผมรู้จัก ทั้งที่รู้จักมักคุ้นและรู้จักผ่านสายสัมพันธ์หลายทอด อย่างเพื่อนของเพื่อนหรือแม้แต่ครอบครัวของคนที่รู้จักกับคนที่รู้จักผม… หลายท่านทักทายสอบถามและแลกเปลี่ยน เกี่ยวกับข้อมูล หรือ Data ที่ท่านกำลังกระตือรือร้นและอยากสัมผัสประสบการณ์ที่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับข้อมูล
หลายท่านทราบดีอยู่แล้วว่า ศาสตร์ของข้อมูลจะเริ่มต้นที่ “ข้อมูลกับประโยชน์ที่ได้จากข้อมูล” ซึ่งข้อมูลก็เหมือนกับทรัพยากรทุกอย่างบนโลกใบนี้ ที่การมีไว้แต่ไร้ประโยชน์ หลายกรณีมีต้นทุนแฝงที่คาดไม่ถึง เกาะกินการมีไว้แบบทิ้งก็เสียดาย เข้าข่าย Sunk Cost Fallacy อันเป็นความรู้สึกว่าสิ่งที่ไร้ประโยชน์ตรงหน้า มันเคยมีคุณค่ามาก่อน และในภายภาคหน้าอาจจะได้ใช้มันอีกเมื่อไหร่ก็ได้
พอหันกลับมาดูทรัพยากรดิจิทัลอย่างข้อมูล… สิ่งที่เราเจอกันเป็นส่วนใหญ่หลังจากพยายามเก็บข้อมูลมาระยะหนึ่งก็จะเจอปัญหาว่า… ข้อมูลเยอะมากและเริ่มเห็นต้นทุนการดูแลข้อมูลเหล่านี้ ตั้งแต่ค่าเช่าพื้นที่ Cloud Storage ที่ต้องจ่ายรายเดือนกันสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงต้องจ้างคนมาจัดการข้อมูลเยอะแยะที่น่าสนใจเต็มไปหมดเหล่านี้… ที่สำคัญคือ ค่าจ้างหรือเงินเดือนผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลก็แพงและหาตัวยาก ถึงขั้นที่องค์กรใหญ่ๆ ทุนหนาๆ ตั้งทีม Head Hunter ไล่ล่าดึงตัวกันแบบไม่เกรงใจใครก็มี
มายาคติเรื่อง Data ในโลกธุรกิจในปัจจุบัน จึงมีสีสันและความเคลื่อนไหวที่ไกลออกไปจากพื้นฐานที่ควรจะเป็นในหลายๆ กรณี โดยเฉพาะเมื่อเราต้องอยู่ในโลกที่ข้อมูลไหลล้น World Wide Web และดูเหมือนจะสำคัญและน่าสนใจเต็มไปหมด
หลายวันก่อนมีเพื่อนใหม่ทักเข้ามาคุยเรื่อง Data Overload หรือ Information Overload กันยาวเหยียดจนต้องโทรคุยเพราะขี้เกียจพิมพ์เป็นข้อความทั้งสองฝ่าย… การพูดคุยวันนั้นได้ข้อสรุปค่อนข้างน่าสนใจ จนผมอยากเอาแชร์ต่อเผื่อหลายท่านที่กำลังจะลุย Data ตั้งแต่ต้นปี ที่หลายฝ่ายเชื่อว่า แม้สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกยังทรงๆ ทรุดและสิ้นสุดทางเลื่อน แบบที่เคยเลื่อนไหลกันไปตามกระแส เหมือนในอดีตที่บ้านเรามีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศปีละ 30-40 ล้านคนต่อปี แค่เปิดร้านอาหาร ทำห้องพักก็ได้รับอานิสงส์ ซึ่งเติบโตเลื่อนไหลไปตามสภาพเศรษฐกิจและคนเดินทาง… แต่หลังจากนี้คงไม่มีทางเลื่อนแบบนั้นให้ธุรกิจไหนได้ไหลอีกแล้ว นอกจากจะออกแรงเดินต่อด้วยลำแข้ง… และ Data ที่เหมือนป้ายบอกทางว่าจะเดินต่อไปทางไหน แล้วควรหรือต้องทำอะไรต่อ ณ จุดไหนในเบื้องหน้า… จึงสำคัญมาก
ข้อควรระวังก็คือ การใช้ป้ายบอกทางที่มีมากมายต้องสนใจเฉพาะป้ายที่จะพาเราไปถึงเป้าหมาย กับป้ายที่จะช่วยเราให้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้นและสะดวกสบายกว่า…เท่านั้น ข้อสรุปแรกเกี่ยวกับการเลือก Data จึงต้องเลือกจากภายในที่ออกมาจากแกนของกิจการ หรือ Core Business ทั้งหมด และไปไล่ดูว่า จุดแข็ง/จุดอ่อน/อุปสรรค/โอกาส ที่เห็นจากข้อมูลบน Core Business แล้วค่อยไปเลือกข้อมูลจากภายนอก โดยเฉพาะข้อมูลจากโซเชี่ยล หรือแม้แต่ข้อมูลในกระแสหลักๆ นอก Core Business มาใช้
และต้องระมัดระวังแนวโน้มนั่น แนวโน้มนี่ที่มีเผยแพร่อยู่มากในอินเตอร์เน็ต ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในกลไกการเผยแพร่ข้อมูลโคตรดึงดูดที่มีคำว่า “แนวโน้ม หรือ Trends” อยู่ใน Title ที่เผยแพร่มากมาย… ที่จะบอกในฐานะคนเผยแพร่ก็คือ ส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านี้เป็นความคิดเห็นในมุมมองและบริบทจากคนทำข้อมูลแนวโน้มเหล่านั้น… ผมบอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี แต่ถ้าเข้ากับบริบทที่ท่านสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยตรง โดยรวมแล้วก็น่าจะดี
ข้อแนะนำต่อมามีว่า… ข้อมูลจากภายนอกที่ใช้ประโยชน์ได้จริงเท่านั้นที่ควรสนใจและเสียเวลาด้วย!
หาไม่แล้วหละก็… ท่านจะเจอภัยข้อมูลท่วม หรือ Data Flood เข้าไปก็อาจจะแย่ได้เหมือนกัน และหวังว่าปีหน้านี้ หลายๆ ท่านจะปรับตัวอยู่กับ Data ให้ได้โดยไม่คับข้องและเคร่งเครียดเกินไป
ขอบคุณที่ติดตามครับ!!!