ตั้งแต่กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา… ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 15 ท่ามกลางความฝืดเคืองในการทำมาหากิน หรือ แม้แต่ค้าขายทำธุรกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป หรือ ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 จาก สนค หรือ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าอยู่ที่ 99.93 เพิ่มขึ้น 0.38% จากเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม… ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2564 เพิ่มขึ้น 0.89%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัวสูงขึ้น มาจากราคาพลังงาน 8.95% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นสูงถึง 27.60% รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด เช่น เนื้อสุกร เพราะเกิดโรคระบาด ไข่ไก่ มีการปลดแม่ไก่ ผลไม้สด มีความต้องการเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ เครื่องประกอบอาหาร และ น้ำมันพืช ที่ปรับตัวสูงขึ้น
แต่เศรษฐกิจได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และ การลดลงของอาหารสดบางประเภท เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และ ผักสด ที่เป็นปัจจัยทอนให้เงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ชะลอตัว และ ไม่เพิ่มสูงเร็วเกินไป ขณะที่สินค้าในหมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปริมาณการผลิตและความต้องการ
คุณวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าให้ข้อมูลว่า… แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2564 คาดว่าไตรมาส 3 จะขยายตัว 2.13% ไตรมาส 4 ขยายตัว 2.37% เพราะยังคงได้รับอิทธิพลจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกและภาคการผลิตที่ต่อเนื่องกับการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จะไม่ขยายตัวมาก เนื่องจากสถานการณ์โควิดในประเทศ ยังเป็นข้อจำกัดที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ มีโอกาสที่ภาครัฐจะมีการใช้หรือขยายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐอีก ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัด… ทั้งนี้ ผลจากสมมติฐานที่เปลี่ยนไป กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับสมมติฐานประมาณการเงินเฟ้อปี 2564 ใหม่ โดยคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 0.7-1.7% โดยมีค่ากลางเท่ากับ 1.2% มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP 1.5-2.5% จากเดิม 2.5-3.5% น้ำมันดิบดูไบ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิม 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ อัตราแลกเปลี่ยน 30-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 29-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลวิเคราะห์เกี่ยวกับเงินเฟ้อในช่วงเวลาเดียวกันนี้จากนักวิเคราะห์ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า… แนวโน้มสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงในทิศทางเดียวกัน ด้วยอัตราใกล้เคียงกัน ทำให้เงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยไม่มากนัก เพราะนอกจากเงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวจากกำลังซื้อที่อั้นมาจากช่วงก่อนหน้า หรือ Pent-up Demand และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของภาครัฐทั่วโลก รวมทั้งปัจจัยพิเศษอย่างราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก หรือ World Commodity Price ที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากการผลิตหยุดชะงักในช่วงโควิดระบาด และ ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้า
นอกจากนั้นยังมีเหตุผลอีก 2 ประการที่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลคือ…
- ตะกร้าเงินเฟ้อไทยมีสัดส่วนสินค้านำเข้า หรือ Import Content ค่อนข้างต่ำประมาณร้อยละ 16 และที่ผ่านมา ผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกต่ออัตราเงินเฟ้อไทยจะส่งผ่านจากราคาน้ำมันโลกมายังราคาน้ำมันในประเทศเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันในประเทศในระยะข้างหน้าจะไม่ปรับสูงขึ้นมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกา และ กลุ่ม OPEC+ ที่จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันที่มากขึ้น… และ ประเทศไทยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือดูแลราคาน้ำมันในประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ากับการปรับราคาน้ำมันในตลาดโลก… ส่วนผลกระทบทางอ้อม หรือ Second Round Effect จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และ อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดมีจำกัดเช่นกัน เพราะข้อมูลในอดีตชี้ว่า ราคาน้ำมันจะกระทบราคาอาหารและต้นทุนในการผลิตสินค้าอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเมื่อราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ต้นทุนการผลิตอื่นที่เพิ่มขึ้นส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการได้น้อย แม้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นบ้างในบางอุตสาหกรรม แต่จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยค่อนข้างจำกัด เพราะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจากกลุ่มโลหะหรือเซมิคอนดักเตอร์ จะกระทบจำกัดอยู่เพียงบางกลุ่มสินค้า อาทิ ยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากในตะกร้าเงินเฟ้อไทย… และจากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้นประมาณ 3-6 เดือน รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ยังอ่อนแอทำให้การปรับเพิ่มราคาสินค้าทำได้ยาก
สรุปว่า… อัตราเงินเฟ้อไทยที่เพิ่มสูงขึ้นน่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวจากฐานที่ต่ำของราคาน้ำมัน และ มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ และ เงินเฟ้อโลกกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น… ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยจำกัด… ส่วนในระยะต่อไป ซึ่งอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีประกอบกับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ถูกเร่งขึ้นในช่วงการระบาด และ แนวโน้มราคาน้ำมันที่จะไม่เร่งตัวขึ้นสูง จะทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อไทยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง
References…