In The Midst Of Every Crisis Lies Great Opportunity ― Albert Einstein

Albert Einstein

วิกฤต COVID-19 ก็คงเหมือนวิกฤตครั้งอื่นๆ ที่เวียนเกิดขึ้นท้าทายมนุษย์มาตลอด ที่ยังไงก็คงเปลี่ยนคนที่ได้รับผลกระทบไปจากเดิม ซึ่งเมื่อเป็นสถานการณ์ระดับวิกฤต นั่นแปลว่าทุกคนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ส่วนจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และคำพูดที่ว่า “ในวิกฤตมีโอกาส” ที่เราได้ยินได้ฟังกันมามากนั้น ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เชื่อแบบนั้น เพราะวิกฤตในอีกมุมมองหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลง ที่แปลว่าอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าคือโอกาส

เพื่อนฝูงและหลายๆ คนรอบตัวผม พูดคุยปรารภถึงวิกฤตที่จู่โจมคนทั้งโลกให้ยากลำบากไปจากวิถีปกติ ที่อ้างอิงความสะดวกสบายในวันเก่าๆ ซึ่ง “อาจจะ” ไม่มีวันกลับไปเป็นแบบเดิม… การพูดคุยส่วนใหญ่ก็เป็นแนวปลอบใจและอัพเดทข้อมูลระหว่างกัน รวมทั้งปัญหาและโอกาสในฉากทัศน์ หรือ Scenario ต่างๆ จนผมนึกถึง Quote หรือคำคมของนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Albert Einstein ที่บอกว่า… In The Midst Of Every Crisis Lies Great Opportunity… ในท่ามกลางของทุกๆ วิกฤตมอบสุดยอดโอกาสให้เสมอ

ชื่อ Albert Einstein หรือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์… นักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษและทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปที่กลายเป็นเสาหลักวิชาฟิสิกส์สมัยใหม่ ไปจนถึงควอนตัมฟิสิกส์และกลศาสตร์ควอนตัม ที่พามนุษยชาติออกจากความคุ้นชินและความเชื่อโบราณ เปลี่ยนเป็นวิทยาศาสตร์อันเป็นของทุกสรรพสิ่งจนมีคำว่า Theory of Everything เกิดขึ้น… โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุดยอดสมการที่เลื่องลือและมีคนรู้จักมากที่สุดนั่นก็คือ E=mc2

Albert Einstein ได้ชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีชื่อเสียงโดดเด่นจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของสุดยอดความฉลาดหรือความอัจฉริยะ

Albert Einstein ได้อธิบายปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก หรือ Photoelectric Effect ที่มี Heinrich Hertz และ James Clerk Maxwell ค้นพบและพูดถึงเอาไว้… การอธิบายปรากฏการณ์ Photoelectric Effect ทำให้ Albert Einstein ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1927 

เพราะความเข้าใจคุณสมบัติความเป็นอนุภาคจากปรากฏการณ์ Photoelectric Effect ส่งผลให้เกิดความเข้าใจในเรื่องคลื่นอนุภาคจนกลายเป็นก้าวที่สำคัญในวิวัฒนาการของทฤษฎีควอนตัมในเวลาต่อมา

ผลงานเด่นๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้ Albert Einstein จนได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์อัจฉริยะที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติมีมากมายจนนับไม่ไหวและอธิบายไม่หมด… ที่เด่นๆ ชัดๆ ก็อย่างเช่น

ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ หรือ Special Relativity ซึ่งเป็นการนำกลศาสตร์มาประยุกต์รวมกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโดยนำเสนอผ่านบทความเรื่อง On the Electrodynamics of Moving Bodies ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1905 จนสร้างชื่อให้ Albert Einstein เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวาง

ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป หรือ General Relativity หรือ General Theory of Relativity เป็นทฤษฎีความโน้มถ่วงแบบเรขาคณิตซึ่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ตีพิมพ์ใน 1916

Cosmological Constant หรือทฤษฎีจักรวาลเชิงสัมพัทธ์ และค่าคงที่จักรวาล ซึ่งปรับปรุงทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปเพื่อใช้อธิบายแบบจำลองเอกภพสถิต ที่ Albert Einstein เชื่อว่าเอกภพหยุดนิ่งในตอนต้น กระทั่งแนวคิดเรื่อง Accelerating Expansion of The Universe ถูกโน้มน้าวจาก Edwin Hubble… นักดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ที่ต่อยอดสมการของ Albert Einstein ให้สมบูรณ์ในเวลาต่อมา

หลักการ Apsis หรือจุดปลายระยะทางวงโคจร โดยใช้วงโคจรของดาวพุธอธิบายจุดในวงโคจรที่อยู่ใกล้ที่สุดและไกลที่สุดจากจุดศูนย์กลางมวลซึ่งก็คือดวงอาทิตย์ที่ดาวพุธโคจรรอบจนกลายเป็นพื้นฐานการคำนวณวงโคจรของวัตถุและดวงดาว หรือสูตรการหาแกนเอกของวงรีนั่นเอง

Gravitational Lens หรือทฤษฎีทำนายการหักเหของแสงอันเนื่องมาจากแรงโน้มถ่วง และเลนส์ความโน้มถ่วงหรือ Gravitational Lens หรือ ปรากฏการณ์ที่แสงเดินทางจากแหล่งกำเนิดส่องสว่างไกลโพ้นและบิดโค้งเนื่องจากแรงดึงดูดของวัตถุมวลมาก 

Capillarity หรือปรากฏการณ์แรงยกตัว โดยอธิบายการเกิดปรากฏการณ์แรงยกตัว อันเกิดจากผิวของ “ของเหลว” ที่สัมผัสกับ “ของแข็ง” ซึ่งทำให้เกิดแรงยกตัวขึ้นข้างบน

Pedesis Theory หรือทฤษฎีการแกว่งตัวแบบกระจาย ซึ่งอธิบายกฏการเคลื่อนที่ของบราวน์หรือ Brownian Motion ของ Robert Brown ซึ่งอธิบายการเคลื่อนที่ของอนุภาคในของไหลที่เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีอนุภาคที่มีประโยชน์มากในการสร้างแบบจำลองทำนายความผันผวน ซึ่งต่อมามีการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง

Photoelectric Effect หรือทฤษฎีโฟตอน อธิบายความเกี่ยวพันระหว่างคลื่นและอนุภาค ซึ่งพัฒนาจากคุณสมบัติทางพลังงานของโฟตอนและพฤติกรรมโฟตอนจนกลายเป็นพื้นฐานของฟิสิกส์ควอนตัม

Quantum Theory หรือทฤษฎีควอนตัม ที่ Albert Einstein เป็นผู้อธิบายและพิสูจน์ทฤษฎีควอนตัม หรือ Quantum Theory ซึ่งทดแทนและแม่นยำกว่าฟิสิกส์นิวตันหรือกลศาสตร์นิวตันที่อธิบายพฤติกรรมเชิงกลของวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่าอะตอมไม่ได้

ZPE Theory หรือทฤษฎีพลังงานจุดศูนย์ หรือ ZPE หรือ Zero-Point Energy ซึ่งเป็นการอธิบายกลศาสตร์ด้วยปรากฏการณ์พลังงานต่ำที่สุดในระบบกลไกควอนตัม ซึ่งแตกต่างจากกลไกพลังงานฝั่งกลศาสตร์คลาสสิก… ซึ่ง ZPE ถือเป็นพื้นฐานของกลศาสตร์ควอนตัมอีกแขนงหนึ่ง

อธิบายรูปแบบย่อยของสมการชเรอดิงเงอร์ หรือ Schrödinger Equation ของ Erwin Schrödinger นักฟิสิกส์ชาวออสเตรียรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี 1933… ซึ่งสมการชเรอดิงเงอร์ เป็นสมการทางคณิตศาสตร์ที่ใช้อธิบายระบบทางฟิสิกส์ ที่เป็นผลจากปรากฏการณ์ควอนตัม ที่ท้าทายกลศาสตร์นิวตัน

EPR Paradox หรือ The Einstein–Podolsky–Rosen Paradox ซึ่งเป็นงานวิจัยปี 1935 โดย Albert Einstein, Boris Podolsky และ Nathan Rosen… ซึ่งนักฟิสิกส์ทฤษฎีทั้งสามได้ตั้งคำถามถึงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ในทฤษฎีควอนตัม และตั้งข้อสังเกตกับความเชื่อเรื่องทฤษฎีควอนตัมที่อาศัยค่า “ความน่าจะเป็น” อธิบายตำแหน่งของอนุภาคทั้งแบบ Local และ Non-local และสุดท้ายยังหาคำตอบไม่ได้จนเกิดคำกล่าวอมตะอีกประโยคหนึ่งจาก Albert Einstein ว่า God does not play dice with the universe. พระเจ้าไม่สร้างจักรวาลด้วยการโยนเต๋าเสี่ยงทายแน่ๆ! ซึ่ง Albert Einstein ไม่เชื่อว่าจะมีค่าความน่าจะเป็นที่ไม่แน่นอนในฟิสิกส์

ทฤษฎีโน้มถ่วงเชิงควอนตัม หรือ QG หรือ Quantum Gravity ซึ่งเป็นทฤษฎีที่พยายามรวมกลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งอธิบายแรงพื้นฐาน สามแรงคือ แรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงนิวเคลียร์แบบเข้ม และแรงนิวเคลียร์แบบอ่อน เข้ากับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ซึ่งใช้อธิบายแรงโน้มถ่วง เป้าหมายของทฤษฎีนี้ก็คือ การอธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปในระดับพลังงานสูง และ ทฤษฎีควอนตัมในระดับสเกลใหญ่ภายใต้กฎหนึ่งเดียวที่รู้จักในชื่อ Theory of Everything หรือ TOE ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “ทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง” นั่นเอง

Albert Einstein ในวัยเด็ก… มีความบกพร่องทางการอ่านเขียนและเรียนรู้ช้าแบบที่เรียกว่า Dyslexia และเป็นเด็กเชื้อสายยิวที่เกิดและเติบโตในเมืองอุล์ม หรือ Ulm แคว้น Baden-Württemberg ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเยอรมันวันที่ 14 มีนาคมปี 1879

Albert Einstein ฉายแววอัจฉริยะผ่านความเก่งกาจทางคณิตศาสตร์เหนือเด็กวัยเดียวกัน และยังชอบศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ชอบแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเป็นพิเศษ ซึ่งไอน์สไตน์สามารถพิสูจน์ทฤษฎีบทเรขาคณิตได้ด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 12 ปี และเชี่ยวชาญแคลคูลัสเชิงอนุพันธ์และปริพันธ์ตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปี ทั้งๆ ที่วัยเด็กของเขาเป็นเด็กเรียนรู้ช้าด้วยซ้ำ… Albert Einstein บอกในภายหลังว่าการเป็นเด็กเรียนรู้ช้าเป็นผลดีกับตัวเองในการพัฒนาทฤษฎีต่างๆ ความเชื่องช้าทำให้มีเวลาครุ่นคิดถึงกาลและอวกาศมากกว่าเด็กคนอื่น

Albert Einstein ไม่ชอบการเรียนในกรอบแบบแผนดั้งเดิม ไม่ชอบวิชาท่องจำ… เมื่อเข้าโรงเรียนที่เยอรมันซึ่งค่อนข้างเคร่งครัดจึงประสบปัญหามากมาย ถึงแม้จะทำได้ดีในวิชาคำนวณ แต่ความสัมพันธ์กับครูผู้สอนก็มีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะ Albert Einstein ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ และไม่ปฎิบัติตามแบบแผนคร่ำครึ และต่อต้านการใช้อำนาจบังคับของครูจนถือว่าเป็นขบถในชั้นเรียนคนหนึ่ง

การท้าทายระบอบการศึกษาของเยอรมันหนักหนาถึงขั้นหาเรื่องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน ด้วยการขอใบรับรองแพทย์ว่าตัวเองมีอาการเหนื่อยอ่อนทางจิตใจ จนได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงเรียนในวัย 15 ปีช่วงวันหยุดคริสต์มาสปี 1894 และไม่กลับไปเข้าโรงเรียนในเยอรมันอีกเลยจนสละสัญชาติเยอรมันก่อนอายุครบ 17 ปี เพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร และกลับเข้าเรียนระดับมัธยมอีกครั้ง ที่เมือง Aarau ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก่อนจะสอบเข้าเรียนที่  Swiss Federal Polytechnic School ในเมืองซูริคสาขาการสอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์

แต่เมื่อจบการศึกษาในปี 1900… Albert Einstein หางานสอนตามที่เรียนมาไม่ได้ จึงต้องไปทำงานที่ The Federal Office for Intellectual Property หรือสำนักงานสิทธิบัตรที่เมือง Berne ในสวิสเซอร์แลนด์ ที่บิดาของ Marcel Grossmann เพื่อสนิทของ Albert Einstein ช่วยหาและฝากให้… งานเสมียนตรวจสิทธิบัตรที่นี่ถือเป็นงานต่ำต้อยสำหรับวุฒิการศึกษาและอัจฉริยภาพของคนอย่าง Albert Einstein ก็จริง… แต่ตัวเขากลับชอบที่ได้คลุกคลีกับวิทยาการใหม่ๆ ที่ยื่นจดสิทธิบัตรเข้ามา โดยหลายกรณียังไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้างมาก่อนก็มี

แต่งานที่สำนักงานสิทธิบัตรก็ยังไม่โดดเด่นพอจะ “เปลี่ยนแปลง” อะไรได้ ซึ่งจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริงเกิดขึ้นด้วยการรวมตัวกับเพื่อนๆ โดยเฉพาะ Conrad Habicht และ Maurice Solovine ตั้งกลุ่ม The Olympia Academy ขึ้นเพื่อพบปะพูดคุยถกปัญหาด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญา โดยกำหนดให้แต่ละคน “ไปอ่านหนังสือหรือผลงานของบุคคลที่โดดเด่นและน่าสนใจ” แล้วมาอภิปรายกันว่าใครมีความคิดเห็นอย่างไร… ซึ่งเข้าทางคนที่มีพื้นฐานคิดต่างมาตั้งแต่เด็กอย่าง Albert Einstein จนสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญทางวิทยาศาสตร์ของมนุษยชาติ ที่วิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ไม่มีอะไรใหม่ตั้งแต่ผลงานของ Sir Isaac Newton และผลงานสนามแม่เหล็กของ James Clerk Maxwell จนมีการกล่าวว่า… ไม่มีอะไรใหม่ให้ค้นพบอีกแล้วในฟิสิกส์ ทั้งหมดที่เหลืออยู่เป็นแค่หาทางวัดค่าให้แม่นยำมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

Olympia Academy Founders
Conrad Habicht, Maurice Solovine and Albert Einstein

ปี 1905 Albert Einstein ได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความเสนอคำอธิบายปรากฏการณ์ Photoelectric Effect ตามแนวคิดที่ Max Planck เสนอไว้ว่า… แสงประกอบด้วยอนุภาคเล็กๆ แบบไม่ต่อเนื่องที่เรียกว่าควอนตัมหรือโฟตอน แทนที่จะเป็นคลื่นต่อเนื่องตามความเชื่อเดิม โดยแต่ละโฟตอนมีพลังงานเท่ากับความถี่คูณค่าคงที่ตามทฤษฎีของ Max Planck และมีเฉพาะโฟตอนที่มีความถี่สูงกว่าความถี่เริ่ม หรือ Threshold Frequency ของแต่ละวัตถุเท่านั้น ที่จะมีพลังงานมากพอจนทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกมาได้… เรื่องนี้นำไปสู่วิวัฒนาการของทฤษฎีควอนตัม และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Albert Einstein ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์อย่างที่กล่าวถึงในตอนต้น

หลายสิ่งที่ Albert Einstein คิดออกและพยายามศึกษาค้นคว้าเพื่ออธิบายให้โลกได้เข้าใจและเรียนรู้  ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับควอนตัมจนถึงจักรวาลและเอกภพ ก้าวหน้าท้าทายไม่มีที่สิ้นสุด… ซึ่งหลายสิ่งที่ Albert Einstein ยอดอัจฉริยะอันดับหนึ่งของโลกคิดค้นและอธิบายไว้แต่เดิม… ล้วนมีทั้งที่เป็นจริงและคลาดเคลื่อน… แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับความท้าทายของการกล้าคิดออกจากวังวนเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นวังวนแบบไหนอย่างไร ที่แม้แต่สิ่งที่ตัวเองอธิบายไว้จนผู้คนยกย่องทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นทฤษฏีสัมพัทธภาพและทฤษฏีควอนตัม… แต่ Albert Einstein ก็กล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองสร้างไว้จนเกิดประเด็น EPR Paradox อันลือลั่นในบั้นปลาย ที่กล้าตั้งคำถามย้อนแย้งแนวคิดตนเองและคณะทิ้งไว้

หรือแม้แต่มุมมองแนวคิดอย่างเรียนรู้ช้าก็ดี จะได้คิดละเอียดๆ ของ Albert Einstein… ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการมองหา “โอกาสที่มีอยู่ในความไม่สมบูรณ์แบบ” ที่มักจะวัดจากมุมมองเดียวทั้งที่มีมุมมองอีกมากมายให้ค้นหา

มุมมองใหม่จึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีในยามหวั่นไหวและหวาดกลัว… มุมมองใหม่น่าจะเป็นเครื่องมือค้นหาโอกาสใหม่ๆ จากการเริ่มตั้งคำถามใหม่ๆ และค่อยๆ หาคำตอบช้าๆ ในวันที่ไม่ต้องเร่งรีบอะไร

God does not play dice with the universe.
พระเจ้าไม่สร้างจักรวาลด้วยการโยนเต๋าเสี่ยงทายแน่ๆ!
คำกล่าวอันลือลั่นอีกประโยคหนึ่งของ Albert Einstein ช่วงที่พัฒนา EPR Paradox ซึ่งถกเถียงกับมิตรสหายและครูอาจารย์ในแวดวงนักฟิสิกส์แห่งยุคสมัยจน Niels Henrik David Bohr หรือนีลส์ บอร์ นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ชาวสวีเดนกับแนวทาง Copenhagen Interpretation ที่ถกเถียงกันก็ย้อน Albert Einstein ขำๆ ว่าเลิกวุ่นวายกับพระเจ้าได้แล้ว

บทความชิ้นนี้จะไม่บันทึกวันจากไปของนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง Albert Einstein ไว้… เพราะผมในฐานะผู้เขียนถือว่า… จิตวิญญาณของ Albert Einstein เป็นอมตะจากความรู้ที่สร้างไว้ให้โลกใบนี้ที่มีคนพูดถึงได้อีกไม่รู้จบ…

สุดท้าย…ขออภัยหรับการสรุปและตีความทฤษฎีบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Albert Einstein ซึ่งผมยินดีน้อมรับข้อผิดพลาดและการชี้แนะทุกประการที่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งหลายกรณีผมเห็นแย้งกับการถอดและตีความของหลายๆ ท่าน รวมทั้งการประยุกต์ ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้เชื่อ Albert Einstein ทั้งหมด เหมือนอีกหลายๆ ท่าน และงานหลายอย่างของ Albert Einstein ล้วนมีทีมงานมิตรสหายและลูกศิษย์ลูกหาร่วมด้วยช่วยกันมากมายอยู่เบื้องหลังเหมือนนักวิทยาศาสตร์นักประดิษฐ์เลื่องชื่อทั้งหลาย…

ด้วยจิตคารวะ!

อ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Albert_Einstein
https://en.wikipedia.org/wiki/Photoelectric_effect
https://www2.mtec.or.th

Share this post

Add Properea's Friend

เพิ่ม Properea.com เป็นเพื่อนทาง Line
ท่านจะได้ Link บทความใหม่ส่งตรงให้อย่างสม่ำเสมอโดยรบกวนแต่น้อย

Related Post

Privacy Protection

DPO และ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

Data Protection Officer หรือ DPO มีหน้าที่ซึ่งนิยามไว้จากหลายๆ องค์กรว่า… DPO ทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้องค์กรเป็น Privacy Sustainable Organization

alternative auto automobile battery

ข้อมูลแผนผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรของ BOI

ประเทศไทยมีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับการอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนไปแล้วระหว่างปี พ.ศ. 2560–2562 ทั้งสิ้น 26 โครงการ… มูลค่าการลงทุนกว่า 78,099 ล้านบาท โดย 7 โครงการที่มีการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว แบ่งเป็น HEV หรือ Hybrid Electric Vehicles 3 ราย ได้แก่ นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า… PHEV หรือ Plug-in Hybrid Electric Vehicles 2 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู และ BEV หรือ Battery Electric Vehicles 2 ราย ได้แก่ ฟอมม์ และ ทาคาโน

NestiFly Share Loan และ ใบอนุญาตสินเชื่อ P2P จากธนาคารแห่งประเทศไทย

NestiFly เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ P2P Lending หรือ Peer-to-Peer Lending ที่เปรียบเสมือนตลาดสินเชื่อออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ “ผู้ขอสินเชื่อ” เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นทางเลือกการลงทุนรูปแบบใหม่ให้ “นักลงทุน” ด้วย ซึ่งแพลตฟอร์มจะทำหน้าที่เชื่อมต่อผู้ขอสินเชื่อและนักลงทุนให้มาเจอกันโดยตรงผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คัดสรรมาเป็นอย่างดี เพื่อสร้างโอกาสทางการเงินและสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม 

UDON 2029… อุดรในทศวรรษหน้า

พ.ท. วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด เปิดเผยว่า ผลการหารือกับคณะนักวิจัย “โครงการพัฒนากลไกการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม” สมาคมการผังเมืองไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผู้อำนวยการสำนักการช่าง เทศบาลนครอุดรธานี เลขาธิการหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เลขานุการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอุดรธานี ผู้แทนผู้ค้าปลีกพื้นที่ถนนประจักษ์ศิลปาคมและถนนทองใหญ่ พร้อมด้วยผู้นำชุมชน 3 แห่งรอบสี่แยกทองใหญ่และสถานีรถไฟอุดรธานี เห็นควรเร่งรัดการออกแบบปรับปรุงระบบกายภาพพื้นที่สองข้างทางถนนประจักษ์ศิลปาคม ช่วงสี่แยกทองใหญ่ (สี่แยกชิบูย่า) จนถึงศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าอุดรธานี