IATA หรือ International Air Transport Association หรือ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศให้ข้อมูลว่า… นักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 60 จะเริ่มจองตั๋วท่องเที่ยวหลังควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วอย่างน้อย 2 เดือน และอีกร้อยละ 40 ยืนยันว่าจะรออีกอย่างน้อย 6 เดือนให้หลัง
บทความที่เผยแพร่โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UDDC โดย ผศ.คมกริช ธนเพทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ… ได้นำเสนอข้อมูลแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูเก็ต หลังวิกฤต COVID-19 ซึ่งทุกภาคส่วนทราบดีว่า ภูเก็ตบอบช้ำที่สุดจังหวัดหนึ่งในวิกฤตคราวนี้
ประเด็นคือ… ภูเก็ตเป็นเหมือนเมืองหลวงด้านการท่องเที่ยวของไทย และธุรกิจในภูเก็ตส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและเป็นต้นทางของการจ้างงาน และอะไรอีกหลายอย่าง ที่จำเป็นต้องเร่งรัดวางแผนดำเนินการฟื้นฟูทุกมิติให้เร็วที่สุด… ซึ่งแนวทางที่อาจารย์คมกริชและคณะเสนอนั้น ไปไกลถึงขั้น เสนอให้ออกแบบนิเวศน์แห่งการท่องเที่ยวเพื่อรองรับมาตรการสาธารณสุข ที่จะดึงดูด นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่กำลังมองหาที่พักพิง หรือลี้ภัยในช่วงวิกฤติ โดยการสร้างให้ภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวและอยู่อาศัยชั่วคราวที่ปลอดภัย สร้างระบบความเชื่อมั่น ภายใต้แนวคิด Immunitised Community บนพื้นฐานของการปรับตัวของต้นทุนทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ของเมือง โดยใช้ยุทธศาสตร์หลัก 3 ข้อ ได้แก่
1. ทำการตลาดและสร้างแบรนด์เมืองในฐานะพื้นที่ปลอดเชื้อ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวปลอดภัยและต้องการอยู่อาศัยระยะยาวเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการการกักตัว 14 วัน
2. จัดการตรวจสอบโรคตั้งแต่ต้นทางและปลายทาง รวมถึงสร้างระบบการเดินทางแบบปลอดเชื้อ ตลอดห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยว
3.สร้างพื้นที่ท่องเที่ยวปิดล้อมทางด้านสาธารณสุขพร้อมไปกับการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้อยู่อาศัย และนักท่องเที่ยวที่ต้องกลายมาเป็นพลเมืองในระยะสั้น และนำมาซึ่งพลเมืองที่มีคุณภาพในระยะยาวต่อไป
และยังเสนอแผน 8 ขั้นตอนเพื่อให้ยุทธศาสตร์หลักทั้ง 3 ประสบความสำเร็จได้แก่
1. ผู้เดินทางปลอดเชื้อ เพื่อโอกาสแห่งการพักผ่อนระยะยาว เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่ปลอดภัย สามารถนั่งเครื่องบินตรง เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากการต่อเครื่องในประเทศกลุ่มเสี่ยง เข้าสู่ปลายทางได้โดยนักท่องเที่ยวต้องมี Health Digital Passport และระบบ Screening จากต้นทาง
2. แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย แพลตฟอร์มออนไลน์ ให้ผู้ประกอบการร้านค้า และบริการให้ความร่วมมือในการลงทะเบียนเพื่อตรวจวัดมาตรฐานสาธารณสุข สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ารับบริการ… ข้อนี้เรามีแพลตฟอร์มไทยชนะรองรับแล้ว
3. สนามบินนานาชาติ ประตูแรกสู่ภูเก็ต ต้องพัฒนาอาคารผู้โดยสารให้รองรอบการทำ Screening แบบไม่แออัด รวมทั้งพิธีการขาเข้าและขาออกที่ต้องระบายผู้โดยสารโดยไม่สัมผัส โดยเสนอให้ใช้เทคโนโลยีสูงสุด
4. พื้นที่กักตัว เป็นส่วนหนึ่งของการพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ โดยพลิกโรงแรมที่ไร้แขก สู่พื้นที่กักตัวสร้างรายได้แม้ในสถานการณ์วิกฤต
5. โครงข่ายการเดินทางอย่างปลอดภัย โดยออกแบบพาหนะให้เหมาะสมกับการรับนักท่องเที่ยวตามบริบท
6. ที่พักปลอดภัย เสริมกลยุทธ์การบริการรูปแบบใหม่ อ้าอิงเกณฑ์การออกแบบพื้นฐานตามมาตรฐานสากล ของ WHO ว่าด้วย Operational Considerations for COVID-19 Management in The Accommodation Sector ทั้ง 3 แนวทางคือ
6.1 การออกแบบทางกายภาพ ที่เน้นการจัดสรรและวางระบบของพื้นที่ต้อนรับและส่วนกลางโรงแรม ให้มีการสร้างจุดคัดกรอง วางจุดทำความสะอาดกระจายอยู่ภายในพื้นที่ และควรมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อขั้นสูงตามมาตรฐานสากลหลายรอบต่อวัน เปิดระบายอากาศในทุก 2 ชั่วโมง นอกจากนั้นในส่วนของห้องพักอาศัยควรมีการวางตารางการทำความสะอาดให้สอดคล้องกับการจัดสรรห้องพักแขก โดยให้เวลาในการฆ่าเชื้อโรคและเปิดห้องเพื่อระบายอากาศอย่างเหมาะสม
6.2 การวางระบบวิศวกรรม การระบายอากาศและสุขาภิบาล ควรจะมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของการใช้งานอย่างถี่ถ้วน เพื่อความมั่นใจต่อมาตรฐานด้านความสะอาดที่จะถูกแจกจ่ายออกไปเพื่อการใช้งานของทั้งโรงแรม นอกจากการปรับปรุงทางกายภาพแล้ว
6.3 การให้บริการพื้นฐานของโรงแรม เช่น การบริการบุฟเฟต์ หรือการจัดงานเลี้ยง นั้นควรจะมีการหลีกเลี่ยงในช่วงวิกฤต หรือหากมีการบริการในส่วนนี้ จำเป็นต้องมีระบบรักษาความสะอาดขั้นสูง มีการควบคุมความหนาแน่น ระบายอากาศ และดูแลภาชนะที่ใช้ร่วมกันที่ควรมีการเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการเว้นระยะห่างของการนั่ง และยืนรอคิว ที่เหมาะสม โดย 1 โต๊ะ สามารถรองรับแขกได้สูงสุด 4 คนต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร โดยมีระยะในการวางเก้าอี้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร จากทุกทิศ… พื้นที่สนามเด็กเล่น เป็นพื้นที่ส่วนที่ควรพิจารณาหลีกเลี่ยงเนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่เปราะบาง
7. สร้างเครือข่ายและแนวทางการปฏิบัติร่วมกันของผู้ประกอบการ ท้องถิ่น เชื่อมโยงกับรัฐและเอกชน เมืองท่องเที่ยวต่างกับเมืองบริการอื่นๆ เพราะเมืองท่องเที่ยวเป็นการ ขายประสบการณ์ ดังนั้นมาตรการที่เรียกว่ามาตรการหลังบ้าน หรือปฏิบัติการใดๆ ต้องเป็นการลดอุปสรรคและประสบการณ์ที่ไม่ดีของการอยู่อาศัย ล้วนแต่ต้องอาศัยความเข้าใจและแนวทางปฏิบัติร่วมกันจากทุกฝ่าย
8. สาธารณสุขที่เพียงพอ และรองรับระดับนานาชาติ การให้บริการสาธารณสุขเป็นอีกข้อคำนึงสำคัญที่ควรได้รับการพัฒนาตามมาตรฐานข้อกำหนดผังเมืองรวม ซึ่งให้มีจุดบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่น หรือสถานีอนามัยในระยะ 2.5 กิโลเมตร และมีโรงพยาบาลใหญ่ในระยะ 5 กิโลเมตร โดยต้องมีการออกแบบและวางโครงข่ายการสัญจรที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในยามฉุกเฉิน
ผมย่อเอกสารของอาจารย์ของคมกริช ธนะเพทย์มาให้อ่านพอสังเขปน๊ะครับ… ท่านที่สนใจผมวางลิงค์ไว้ใต้อ้างอิงเช่นเดิม ซึ่งเป็นข้อเสนอการทดลองโมเดลต้นแบบของการวางแผนการท่องเที่ยวระยะยาว ผ่านการคำนึงถึงมิติด้านความยั่งยืนของการท่องเที่ยว ที่ได้สกัดมาจากงานศึกษาและวิจัยของ ARUP ในการพัฒนาเพื่อหาดัชนีความยืดหยุ่นของเมือง หรือ CRI หรือ The City Resilience Index เพื่อตอบโจทย์ 4 มิติ ได้แก่
1. ด้านการจัดการสุขภาวะ
2. ด้านเศรษฐกิจและสังคม
3. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
4. ด้านระบบนิเวศ
ซึ่งด้านระบบนิเวศน์ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวางแผนลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Crisis ควบคู่ไปกับการออกแบบวางผังทางกายภาพ เพื่อตอบรับวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่พร้อมรับมือต่อทุกสถานการณ์ ทั้งการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ภายใต้แนวคิดหลักของการกระจายความหนาแน่นของพื้นที่บริการการท่องเที่ยว ออกจากพื้นที่เขตเมืองสู่พื้นที่ส่วนอื่นของเกาะ โดยได้มีการคัดเลือกพื้นที่กะตะ กะรน เป็นพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งมีความพร้อมตามเกณฑ์

น่าสนใจมากครับ… Proposal ชุดนี้มีโลโก้ของ Th Urbanis และ สสส อยู่ด้วย… โดยส่วนตัวอยากให้ท้องถิ่นตอบตกลงไวๆ เพราะข้อมูลในมือผมชัดเจนว่า ฝั่งเอกชนในภูเก็ตเคลื่อนไหวตอบรับกันข้อเสนอโครงการนี้กันแล้ว… อย่างที่บอก เอกสารฉบับเต็มข้างล่างครับ!
อ้างอิง