IFRS 9… และทรัพย์จากสถาบันการเงิน

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกหนังสือเวียนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 หรือ IFRS 9 เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยยืดหยุ่นให้สถาบันการเงินสามารถ “ผ่อนปรนการปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ต้องจัดชั้นหนี้และอนุมัติสินเชื่อใหม่”

ข่าวว่า… ก่อนหน้านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เดินสายรับฟังความคิดเห็นจากฝั่งสถาบันการเงินในระบบ  ในกรณีลูกหนี้สถาบันการเงิน ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และไม่มีส่วนสูญเสีย… หรือเรียกง่ายๆ ว่าปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จก่อนจะเป็นหนี้เสีย… “ไม่ถือเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้”…ส่งผลให้สถาบันการเงินไม่ต้องรายงานข้อมูลต่อ NCB หรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เพราะ ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งใจจะให้ลูกหนี้ดังกล่าว สามารถเข้าถึงสินเชื่อส่วนเพิ่มได้ จึงพยายามไม่ให้ลูกหนี้มีตำหนิใน NCB

ผมขอข้ามเรื่องย้อนแย้งทางนโยบายระหว่างเครดิตบูโรกับแบงค์ชาติ เรื่องเกณฑ์การรายงานข้อมูลเครดิตไปน๊ะครับ… เพราะเรื่องการตีความและระเบียบกฎหมายที่ต่างคนต่างถือและขัดแย้งกันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้… และคงต้องแก้ในเร็ววันแค่คุยกัน

แต่ตัวเลขหนี้เสียเอย หนี้จัดชั้นเอยที่แต่ละธนาคารถืออยู่ในมือ… ด้วยรอยต่อของโครงสร้างทางการเงินการธนาคารที่ระดับมหภาค ต้องเฝ้าระวังในภาวะที่ภาพรวมทางเศรษฐกิจ อยู่ในภาวะอ่อนไหว

แน่นอนว่า… สถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยและหดตัวจากปัจจัยมากมายรอบนี้ สุดท้ายโดมิโนเงินบาทแข็ง… ส่งออกน้อย… สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษด้านภาษี… นักท่องเที่ยวลดหาย… และอื่นๆ อีกมาก ก็น่าจะกระทบกลับไปที่คุณภาพสินทรัพย์ที่สถาบันการเงินถือครองอยู่… ที่ลูกหนี้สถาบันการเงินส่วนหนึ่ง ต้องกลายเป็น NPA หรือ Non Performing Asset หรือ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่แม้ธนาคารจะมีหลักประกันอย่างอสังหาริมทรัพย์ถือไว้… แต่สถาบันการเงินก็สูญเสียรายได้ที่คาดว่าจะได้รับไปแล้ว… ไม่ต้องพูดถึง NPL หรือ Non Performing Loan หรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสีย ที่สถาบันการเงินต้องทำอีกหลายอย่างเพื่อลดตัวเลข NPL… รวมทั้งการตั้งสำรองที่ต้องกันเงินสดเผื่อหนี้สูญนั่นเอง

กลับมาดูมาตรการ IFRS 9 ที่หลายฝ่ายกำลังควานหาความชัดเจน ก่อนจะบังคับใช้กับสถาบันการเงิน ในวันที่ 1 มกราคมที่จะถึงนี้แล้ว… ซึ่งโดยตัวของ มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 หรือ IFRS 9 เองดูเหมือนจะมีเจตนาเพื่อลดภาระเรื่องการตั้งสำรอง NPA ที่ปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ… แต่ NPA ก็คือสัญญากู้ยืมที่ลูกหนี้สถาบันการเงิน หมดแรงจะทำตามเงื่อนไขสัญญาเรื่องเงินงวดและดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมไปแล้ว… การปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่า สัญญาใหม่จะทำให้สถาบันการเงินเป็นเจ้าของสินทรัพย์สูงค่าขึ้น… เพราะหลายครั้งหนี้ด้อยคุณภาพที่สถาบันการเงินดูแลอยู่ ก็กลายเป็นหนี้เสียจำนวนไม่น้อย

ง่ายๆ ชัดๆ… ก็คือ… โอกาสที่สถาบันการเงินจะเร่งระบาย “ทรัพย์สถาบันการเงิน” ออกมาในระยะสั้นนี้ มีความเป็นไปได้สูง ด้วยตัวแปรหลายอย่างที่กดดันสถาบันการเงินเช่นกัน ตั้งแต่ภาพรวมเศรษฐกิจ… แนวโน้ม NPL รวมทั้งเกณฑ์การตั้งสำรอง และ Digital Disruption ที่ทุกธนาคารหอบทุนเข้าสู่น่านน้ำใหม่แห่งโอกาส ที่หลายธนาคารเริ่มประสบความสำเร็จจาก New Business Unit หรือโครงการใหม่ๆ และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำงานกันมาแบบ SandBox และ Phototype มาระยะหนึ่ง… โดยเฉพาะการตั้งสำรองตามเกณฑ์ที่สถาบันการเงินต้องเจอสองเด้งทั้งหนี้เสียและเงินสำรองตามเกณฑ์แบงค์ชาติ… การขายทรัพย์ออกมาล๊อตใหญ่จึงมีความเป็นไปได้สูง… แต่ดุลย์ตัวเลขก็คงไม่มากมายอะไรในทัศนของผม

ที่จริงวงการการเงินการธนาคารผมก็ไม่ได้ถนัดจะพูดถึงมากนัก… แต่กรณีนี้ผมเชคข่าวและสอบถามเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นนักข่าวสายการเงินหลายท่าน รวมทั้งเทียบข้อมูลจากฝั่ง Startup ที่ผมมอนิเตอร์ Venture Capital ที่มีธนาคารเป็นนายทุนอยู่… และรวบรวมมาเขียนถึงเพื่อจะบอกว่า… ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบในปีหน้า… ตัวแปรทรัพย์จากสถาบันการเงินน่าจะไหลเข้ามาเติม Supply จำนวนหนึ่งค่อนข้างแน่… ส่วนประเด็นเศรษฐกิจพักตัวและถดถอยรอบนี้… ก็ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน

ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ… แต่คำว่าโอกาสในภาวะสับสนยุ่งยากและต้องระมัดระวัง อาจไม่ใช่กำไรหรือการเติบโตเชิงตัวเลขแบบปกติ… ซึ่งบ่อยครั้งกับหลายคน พยายามมองหาโอกาสรูปแบบเดิมๆ ที่ตนคุ้นเคย ในต่างสถานการณ์… ซึ่งผมคิดว่าคงไม่มีใครหาเจอในเมื่ออะไรๆ ก็ไม่ได้เหมือนเดิม

สุดท้ายผมก็พาวนกลับมาวลีเดิม… ปรับตัวและเปลี่ยนแปลง… ทำให้ผมนึกถึงหนังสือที่เขียนโดย Andrew Grove อดีต CEO INTEL เล่มที่ชื่อ… Only The Paranoid Survive… มีแต่ผู้ตื่นรู้ที่เหลือรอด

ครับผม!

Share this post

Add Properea's Friend

เพิ่ม Properea.com เป็นเพื่อนทาง Line
ท่านจะได้ Link บทความใหม่ส่งตรงให้อย่างสม่ำเสมอโดยรบกวนแต่น้อย

Related Post

ที่ดินเปล่า! การลงทุนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงแรก… คุณค่าที่ควรใส่ใจ

อสังหาริมทรัพย์อย่างที่ดิน จะที่ดินว่างๆ หรือจะมีกระต๊อบซักหลัง หรือจะเป็นคฤหาสถ์อลังการ หรือจะนาข้าวแล้งน้ำ ผมแนะนำให้คุณ เป็นเจ้าของที่ทางซักแปลง ถูกแพงใกล้ไกลเอาไว้คิดทีหลัง

Perovskite Solar Cell… โซล่าเซลล์แห่งความหวัง

สังเคราะห์ด้วยปฏิกิริยาเคมีพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อน และ ยังมีคุณสมบัติด้านไฟฟ้าที่สามารถปรับแต่งโครงสร้างทางเคมีเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ PCE ให้สูงขึ้นอีกได้ และที่สำคัญกว่านั้น… Perovskite Solar Cell สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว

Road map การเป็นเจ้าของ Boutique Hotel

อย่างที่บอกไปในงานเขียนหลายๆ ตอนว่า ผมศรัทธาใน Sharing Economy แบบสุดใจ ไหนๆ ก็แตะนิดแตะหน่อยกับห้องพักบ้านเช่า โฮสเทล เกสต์เฮาส์ โรงแรมมาเยอะแล้ว… onFocus เดือนแห่งความรักเอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะนำทางคนอยากเป็นเจ้าของโรงแรมเล็กๆ มาแปะไว้แบ่งปันดีกว่า

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2565

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC ได้สำรวจและรวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศ จากการประกาศขายผ่านเว็บไซต์บริษัทภาคเอกชนที่มีปริมาณการประกาศขายเป็นจำนวนมาก และ ข้อมูลที่อยู่อาศัยมือสองของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน บริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐและเอกชน และ กรมบังคับคดี ที่ประกาศขายผ่านเว็บไซต์ตลาดนัดบ้านมือสอง เพื่อให้ได้ข้อมูลอุปทานที่อยู่อาศัยมือสองที่ครอบคลุมในตลาดมากที่สุด