Isan Economic Corridor หรือ IEC เป็นคีย์เวิดที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งมีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 หรือกลุ่มจังหวัดสบายดี ที่ประกอบด้วยจังหวัด หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภูและอุดรธานี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
โดยเป็นข้อเสนอจากภาคเอกชนที่มีคุณสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เป็นหัวหอกในการเปิดประเด็นและผลักดัน
จากวันนั้นถึงวันนี้ที่ผมตัดสินใจเขียนถึง IEC ทั้งที่ผมแทบจะหาข้อมูลอะไรไม่ได้เลยว่า… โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน จะเป็นไปได้ซักแค่ไหนในเมื่อข่าวคราวความเคลื่อนไหวช่างเงียบและงันเหลือเกิน
หนักกว่านั้นคือ… การเปิดประมูลให้เอกชนเข้าลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคายเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา… ก็ไม่มีเอกชนรายใดทั้งในและนอกพื้นที่ ไปยื่นซองกับกรมธนารักษ์จนต้องออกมาประกาศลดค่าเช่าลงตั้งแปดสิบเก้าสิบเปอร์เซนต์
แต่ไม่ว่าจะยังไง… โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ในพื้นที่ หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภูและอุดรธานี ไม่ช้าไม่นานก็น่าจะมีความเคลื่อนไหวจนเป็นรูปธรรม ให้สามารถตั้งจิ๊กซอว์ชิ้นส่วนแรก เพื่อให้กลายเป็นภาพใหญ่จนเรียก “ระเบียงเศรษฐกิจ” ได้เต็มปากค่อนข้างแน่
อย่าถามผมว่าเมื่อไหร่?
ผมเปิดประเด็นข้อสังเกตแบบนี้ก็แล้วกันน๊ะครับ… วันนี้ สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่โยนอาวุธใส่กันชนิดที่ “คำภีร์หน้าด้านใจดำ” ทุกเคล็ดวิชาถูกใช้จนกองเชียร์อ้าปากค้าง สำนักข่าวหลายแห่งตามไปซักเอาความเห็นจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ เพื่อติดตามถามหาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากผลของสงครามการค้าของสองมหาอำนาจในครั้งนี้
ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดฟันธงว่า นักลงทุนจีนจะหอบทุนหนีภัยสงครามการค้า มาพึ่งอาเซียนอย่างเวียดนาม มาเลเซีย ลาว ไทยและกัมพูชา
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา… ข่าวคราวจากฝั่ง EEC ที่พูดถึงนักลงทุนจีนเข้ามาเซ็นสัญญากับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หาอ่านได้จากสื่อออนไลน์แทบทุกวัน… ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุนขนาดใหญ่ที่มีวงเงินลงทุนค่อนข้างสูงและยังมีการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีในการผลิตเป็นส่วนใหญ่
เมื่อหันมามอง IEC… ต่อให้สงครามการค้าจีน-สหรัฐครั้งนี้จบลงเดี๋ยวนี้ แต่สงครามเย็นรอบใหม่ก็ได้เกิดขึ้นสมบูรณ์แบบไปแล้ว และจะยังคงอยู่ไปอีกนาน… แน่นอนว่า การย้ายฐานการผลิตมาถึงหนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภูและอุดรธานี ก็ยังมีความเป็นไปได้ในอุตสาหกรรมที่ยังต้องพึ่งแรงงานราคาไม่สูง ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนหลักๆ สามารถนำเข้าแรงงานจากเพื่อนบ้านได้เป็นกรณีพิเศษ… ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน
รอดูวันที่รถไฟทางคู่เสร็จ… รถไฟความเร็วสูงพร้อมใช้… ความเปลี่ยนแปลงที่ผมพูดถึงจะเริ่มชัดตั้งแต่ปี 2564 ไปครับ
ท่านที่สนใจข้อมูลความเคลื่อนไหว… ติดตามได้ที่ http://www.osmnortheast-n1.moi.go.th/ ครับ… ถึงจะไม่ค่อย update นัก… แต่ก็เป็นศูนย์กลางของงานยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 แห่งเดียวที่เป็นทางการและอ้างอิงได้ครับ