Ichimoku Kinko Hyo หรือ 目均衡表 หรือ Ichimoku Cloud เป็นเครื่องมือทางเทคนิคที่พัฒนาขึ้นในญี่ปุ่นช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 โดย Goichi Hosoda เพื่อแสดงข้อมูล “แนวรับและแนวต้าน” กับ “โมเมนตัมและทิศทางแนวโน้ม” และนำค่าเฉลี่ยที่ได้มาสร้างกราฟฟิกบนชาร์ตราคาสินทรัพย์ พร้อมกรอบราคาที่สะท้อนโมเมนตัมเป็นรูปคล้ายเมฆ เพื่อให้เห็น “ความน่าจะเป็น” ของแนวโน้มทิศทางราคา
Ichimoku Cloud เป็นดัชนีที่เห็นครั้งแรกจะดูรกรุงรัง และ ไม่น่าใช้ที่สุด โดยเฉพาะเมื่อต้องดูบนจอเล็กๆ แคบๆ อย่างจอมือถือ หรือแม้แต่บนจอคอมพิวเตอร์ความละเอียดต่ำ… นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งจึงใช้ Ichimoku Cloud ด้วยการปิดเส้นค่าเฉลี่ย Conversion Line กับ Base Line และ Lagging Span ไปทั้ง 3 เส้น เพื่อให้เหลือแต่ Lagging Span A และ Lagging Span B สำหรับวาดเมฆล่วงหน้าไป 25 Period หรือ 25 แท่งเทียนที่ยังไม่ถึง โดยไม่รวมแท่งเทียนปัจจุบันที่ยังเคลื่อนไหวไม่จบ
คำถามคือ… Ichimoku Cloud บอกอะไรแก่นักลงทุนบ้าง?
หลักๆ เลยก็คือการสร้างพื้นที่เมฆ หรือ Cloud อ้างอิงระหว่าง Lagging Span A และ Lagging Span B ซึ่งเกิดจากค่าเฉลี่ยราคาย้อนหลังตามสูตร Ichimoku Cloud… โดย Lagging Span A จะได้จากค่าเฉลี่ยของ Conversion Line กับ Base Line… และ Lagging Span B จะเป็นค่าเฉลี่ยจากราคา High กับ Low ของ 52 Period ย้อนหลัง… ซึ่งพื้นที่เมฆที่ได้บนชาร์ตจะบอกว่าราคาที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันว่า “อยู่ต่ำ หรือ สูงกว่า” กรอบค่าเฉลี่ยของโมเมนตัมราคาเมื่อ 26 Period ที่ผ่านมา หรือ ที่ปลายเส้น Lagging Span ซึ่งเป็นเส้นที่ตามมาหลังสุด
ประเด็นก็คือ Ichimoku Cloud จะเป็นค่าเฉลี่ยแบบกรอบราคา ซึ่งต่างจากการใช้ค่าเฉลี่ยแบบค่าเดียวเหมือนเครื่องมือวิเคราะห์แบบอื่น ในขณะที่แท่งเทียนราคาที่เคลื่อนไหวอยู่เหนือเมฆ ก็จะบอกนักลงทุนว่าราคาหลักทรัพย์รายการนั้นกำลังแพง และ มีโอกาสจะเคลื่อนต่ำลงมาหาเมฆที่ลอยอยู่ต่ำกว่า… ในทางตรงกันข้าม หากแท่งเทียนราคาเคลื่อนไหวอยู่ใต้เมฆก็มีโอกาสที่ราคาจะเคลื่อนที่ขึ้นไปหาเมฆที่ลอยอยู่สูงกว่า… ส่วนกรณีแท่งเทียนราคาเคลื่อนไหวอยู่ในเงาเมฆ ก็จะแปลได้ว่าราคากำลังหาทิศทาง หรือ Sideway อยู่… แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าราคาจะโน้มเข้าหาเมฆเมื่อไหร่ และ ทะลุเมฆขึ้นบนหรือลงล่าง
อย่างไรก็ตาม Ichimoku Cloud ก็เหมือนเครื่องมือวิเคราะห์อื่นๆ ที่มีข้อจำกัดและไม่ได้แม่นยำสูงจนใช้เดี่ยวๆ ก็เอาอยู่ แต่ผมก็เห็นนักวิเคราะห์หลายท่านใช้การตัดกันของ Conversion Line กับ Base Line ยืนยันทิศทางซ้ำเป็นส่วนใหญ่ แต่ความล่าช้าของสัญญาณก็ทำให้โอกาสซื้อขาย ณ จุดกลับตัวราคาจริงไม่ทันแบบที่เรียกกันว่า “ราคาไปไกลแล้ว” นั่นเอง… การใช้ Ichimoku Cloud เพื่อประเมินทิศทางราคาจึงควรใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ เพื่อยืนยันแนวโน้ม ก่อนจะกำหนดเป็นกลยุทธ์การซื้อขาย
References…