เพื่อนผมท่านหนึ่ง… จะทำงานการเป็นลูกจ้างอีกสัปดาห์เดียว ก็จะเกษียณตัวเองออกมาเป็นเกษตรกร ที่เพื่อนท่านนี้เตรียมการมานาน… โดยเธอวางแผนจะปลูกผักในระบบไฮโดรโปนิกส์ บนที่ดินมรดก ที่มีแผนระยะสั้นเป็นการปลูกเพื่อตัดขายผักสด… ทำร้านอาหารและแปรรูปผลผลิตในระยะกลางและระยะยาว



ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งในธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารก็คือ การหาวัตถุดิบปรุงอาหารที่มีคุณภาพ และมี Supply Chain ที่เสถียรต่อการบริหารจัดการ… ซึ่งหลายครั้ง ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร ต้องทำงานเชิงรุกไปถึงแหล่งผลิตพืชผักหรือแม้แต่เนื้อหมูปลาไก่ไข่กุ้ง… ที่ต้องดีและเพียงพอต่อการให้บริการอาหารในร้าน
ซึ่งเพื่อนท่านนี้เลือกที่จะพาตัวเองไปเป็นข้อต่อในห่วงโซ่การผลิตผักแบบไฮโดรโปนิกส์ โดยวางแผนจะมีการผลิตผักคุณภาพสูงและคัดเกรด เทียบเท่าหรือดีกว่าผักโครงการหลวง… ซึ่งผมมีโอกาสได้ช่วยเหลือเรื่องข้อมูลการลงทุนกับระบบไฮโดรโปนิกส์… และวันนี้ผมจะเอาข้อมูลบางส่วนอย่างข้อดีข้อเสียของการปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์มาเล่าแบ่งปัน… เผื่อหลายท่านที่มีที่ดินมรดกอยู่เยอะ แต่อยู่ห่างไกลหน่อย และหาลูกจ้างคนงานช่วยได้ไม่ยาก แถมยังเป็นโมเดลที่ลงทุนได้หลายระดับ ตั้งแต่หลักหมื่นต้นๆ ขึ้นไป… แต่มีความมั่นคงและยั่งยืนตราบเท่าที่ มนุษย์ยังต้องกินผักและคนปลูกผักไม่เคยอดตาย
มาดูกันเลยว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง…
ข้อได้เปรียบของการปลูกพืชในระบบไฮโดรโปนิกส์
1. ควบคุมการใช้ธาตุอาหารของพืชได้ง่ายกว่าการปลูกในดิน ซึ่งมักจะพบปัญหาความไม่สม่ำเสมอของธาตุอาหารในดินที่เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน
1.1 ควบคุม pH หรือความเป็นกรด-ด่างของดิน ได้ง่าย ซึ่ง pH นี้เองมีส่วนในการควบคุมรูปของธาตุอาหารพืชทั้งในดินและในสารละลายให้อยู่ในรูปที่พืชจะนำไปใช้ได้ทันที อีกทั้งวิธีไฮโดรโปนิคส์จะช่วยให้ธาตุอาหารพืชไม่สูญหายไปไหน ทั้งในรูปการถูกชะล้างไปจากดินและการจับตัวกับธาตุบางชนิดในดินตกตะกอนไป หรือเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปที่พืชใช้ประโยชน์ไม่ได้
1.2 ควบคุมปริมาณและรูปร่างของจุลธาตุ (Trace elements) ที่พืชต้องการจำนวน 7 ธาตุได้แก่ เหล็ก (Fe), ทองแดง (Cu), สังกะสี (Zn), โบรอน (B), โมลิบดีนัม (Mo), แมงกานีส (Mn) และคลอรีน (Cl) ให้อยู่ในรูปที่รากพืชดูดนำไปใช้ได้และไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป จนเกิดเป็นพิษต่อพืช
1.3 ควบคุมการตกค้างของการมีธาตุอาหารสะสม หรือ Residual effect ในพืช, ในดิน และในสภาพแวดล้อมจนเกิดเป็นพิษในระบบนิเวศ
2. ลดค่าแรงงาน เนื่องจากในระบบการปลูกไฮโดรโปนิกส์ ไม่ต้องมีการเตรียมแปลงปลูกขนาดใหญ่จึงไม่ต้องจ่ายค่ารถไถเตรียมดิน ค่ากำจัดวัชพืช งานดินต่างๆ ทั้งการใส่ปุ๋ยและยกร่อง เป็นต้น
3. ความสม่ำเสมอของการให้น้ำ ระบบไฮโดรโปนิกส์เป็นระบบที่ควบคุมการให้น้ำตามความต้องการของพืช ดังนั้นความสม่ำเสมอของการให้น้ำจึงเป็นหัวใจของระบบ
4. ระบบไฮโดรโปนิกส์จะประหยัดน้ำกว่าการให้น้ำกับพืชที่ปลูกทางดินไม่น้อยกว่า 10 เท่า ซึ่งจะมีผลทำให้การปลูกพืชในฤดูแล้งหรือนอกฤดูปลูกปกติในดิน สามารถทำได้โดยมีผลตอบแทนสูงกว่า
5. ควบคุมโรคในดินได้ง่ายกว่าการปลูกพืชในดินปกติ
6. ได้ผลผลิตที่มีความสม่ำเสมอและคุณภาพดีกว่าการปลูกในดินปกติ
7. สามารถปลูกพืชได้ในสภาพที่ดินบริเวณนั้นไม่อุดมสมบูรณ์ เช่น ดินเป็นกรด, เป็นด่าง หรือดินเค็ม และมีสภาพขาดแคลนน้ำ


ข้อด้อยของการปลูกพืชในระบบไฮโดรโปนิกส์
ข้อด้อยของระบบไฮโดรโปนิคส์ที่มักจะถูกกล่าวถึงเสมอก็คือ การที่ต้องลงทุนสูงทั้งโรงเรือนและระบบเมื่อเทียบกับการปลูกพืชในดินตามปกติ และต้องมีความรู้ด้านการจัดการและเทคโนโลยีที่สูงกว่าการปลูกพืชในดินปกติ โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานในเรื่องสรีรวิทยาของพืชและพื้นฐานทางเคมีและธาตุอาหารพืช
นอกจากนี้… ในบริเวณที่จะติดตั้งระบบไฮโดรโปนิคส์จะต้องมีระบบน้ำและระบบไฟฟ้าที่พร้อม เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำหรับการติดตั้งระบบการปลูกพืชด้วยวิธีนี้ และข้อจำกัดของชนิดพืชปลูกมีค่อนข้างสูง การเลือกชนิดพืชที่จะปลูกในเชิงพาณิชย์ต้องมีการศึกษาตลาดอย่างถี่ถ้วน ควรเป็นพืชที่แตกต่างจากพืชที่ปลูกทั่วไปในดินปกติ