วันนี้ลอกการบ้านศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้เผยแพร่ข้อมูล “Hybrid Virus หรือ ไวรัสไฮบริด” อันเกิดจากการหลอมรวมระหว่างอนุภาคไวรัสสองประเภทคือ “ไวรัสอาร์เอสวี หรือ RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus” และ “ไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza Virus” เข้าด้วยกัน… ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี
ข้อมูลเบื้องต้นจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า… เชื้อไวรัสไฮบริดที่ถูกพบได้นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนชนิด “RSV mRNA Vaccine” โดยเป็นวัคซีนลูกผสม หรือ Combine Vaccine ระหว่างวัคซีนต้าน CoronaVirus 2019 แบบ mRNA-Based RSV Vaccine กับ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza Vaccine… ซึ่งนักไวัสวิทยาเชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาการกลายพันธ์ในอุบัติการณ์นี้ได้
ไวรัสอาร์เอสวี หรือ RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสชนิดมีเปลือกที่ดัดแปลงมาจากผิวเซลล์มนุษย์ห่อหุ้มอนุภาคไวรัส และ มีจีโนมเป็น “อาร์เอ็นเอสายลบเส้นเดี่ยว” จัดอยู่ในตระกูล Paramyxoviridae… ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นไวรัสชนิดมีเปลือกที่ดัดแปลงมาจากผิวเซลล์มนุษย์ และ มีจีโนมเป็น “อาร์เอ็นเอสายลบ 8-9 ท่อน” จัดอยู่ในตระกูล Orthomyxoviridae…
ส่วนรูปสัณฐานเดิมของอนุภาคไวรัสอาร์เอสวี เมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนกำลังขยายสูงจะพบว่ามีหลากหลายรูปแบบทั้งทรงกลม ทรงเรียวยาว และ ทรงไม่สมมาตร ในขณะที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะมีสัณฐานเป็นทรงกลม หรือ ทรงรี
เครดิตภาพจาก: เพจศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
จากการทดสอบในหลอดทดลองโดยนักวิทยาศาสตร์พบว่า… ไวรัสลูกผสมระหว่างไวรัสอาร์เอสวีและไวรัสไข้หวัดใหญ่ สามารถโจมตี และ เข้าถึงเซลล์เป้าหมายได้หลากหลายขึ้น เพราะเดิมไวรัสไข้หวัดใหญ่จะแพร่ติดต่อในเซลล์ของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เซลล์จมูก ลำคอ และ หลอดลม ในขณะที่ไวรัสอาร์เอสวี จะติดต่อ และ โจมตีระบบทางเดินหายใจส่วนล่างทั้งเซลล์หลอดลม และ ปอด… อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคปอดบวมในเด็กเล็ก และ ผู้สูงอายุ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และ เสียชีวิตหลายพันคนในแต่ละปี
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า หากไวรัสลูกผสมที่เกิดขึ้นในหลอดทดลองมีการติดเชื้อ และ ระบาดในคนก็จะทำให้ติดเชื้อได้ทั้ง จมูก ลำคอ หลอดลม และ ปอด ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสลูกผสมอาจมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงมากกว่าที่ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี หรือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่เพียงประเภทเดียว
ที่น่าสนใจก็คือ… ไวรัสลูกผสมสามารถแพร่เชื้อไปยังเซลล์ข้างเคียงได้แม้ในบริเวณนั้นมีแอนติบอดีต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งปรกติจะสามารถขัดขวางการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่เซลล์ได้… ภายใต้กล้องจุลทรรศน์นักวิจัยสังเกตเห็นแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่หยอดเข้าไปสามารถเข้าจับติดกับเปลือกนอกของไวรัสลูกผสมบริเวณที่เป็นส่วนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ไวรัสลูกผสมยังสามารถใช้โปรตีนเปลือกนอกในส่วนของไวรัส RSV ที่อยู่ใกล้เคียงกันในการเกาะกับผิวเซลล์ปอดและแทรกตัวเข้าสู่เซลล์ได้อยู่ดี… นั่นหมายความว่า อนุภาคไวรัสไฮบริดได้อาศัยส่วนเปลือกของไวรัสอาร์เอสวี ที่ไม่มีแอนติบอดีมาบล็อกเป็นเสมือน “ม้าโทรจัน” เพื่อนำไวรัสไข้หวัดใหญ่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเข้าสู่เซลล์
ข่าวดีก็คือ… Hybrid Virus หรือ ไวรัสลูกผสมยังเป็นเพียงเชื้อโรคในห้องปฏิบัติของ University of Glasgow ในสกอตแลนด์เท่านั้น โดยยังไม่มีรายงานว่าตรวจพบไวรัสลูกผสมลักษณะนี้ก่อโรคในมนุษย์
ข่าวดีที่สองก็คือ… ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่กำลังเร่งผลิตวัคซีนชนิด mRNA แบบวัคซีนรวม หรือ Combined Vaccine ระหว่าง mRNA-Based RSV Vaccine กับ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza Vaccine และ ได้เริ่มทำการวิจัยในมนุษย์ระยะที่หนึ่ง หรือ Clinical Trial Phase I ในช่วงปลายปี 2022 นี้แล้ว… ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นในสัตว์ทดลองพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิกันต่อไวรัสทั้ง 3 คือ CoronaVirus 2019 กับ RSV Virus และ Influenza หรือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ได้สูงเป็นที่น่าพอใจ
References…