ตำนานการพลิกฟื้นกิจการยักษ์ใหญ่แต่ใกล้จะล่มสลาย ให้กลับมามีกำไรและอยู่รอดผ่านพ้นวิกฤตนั้นมีมากมายให้เรียนรู้ แต่ตำนานการพลิกฟื้นกิจการใกล้ล่มสลาย พร้อมความสามารถในการรักษาจิตวิญญาณทรงคุณค่าของกิจการ และ แบรนด์ธุรกิจกับสินค้าภายใต้การจัดการอย่างเหนือชั้น ถึงขั้นทำให้แบรนด์สินค้า แข็งแกร่งยั่งยืนและกลายเป็นอมตะนั้น… มีไม่มาก
ผมกำลังพูดถึงเรื่องราวของ Porsche 911 อันเป็น Signature หรือ เอกลักษณ์ของรถยนต์สมรรถนะสูงแบรนด์ Porsche ซึ่งเปิดตำนานเอาไว้โดย Ferdinand Porsche Sr. ผู้ออกแบบรถยนต์ Volkswagen Beetle หรือ โฟล์คเต่า โดยผลิตออกใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่ง Ferdinand Porsche Sr. และบุตรชาย Ferdinand Porsche Jr. หรือ Ferry ได้เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบและผลิตเครื่องจักรในสงครามให้ฝ่ายนาซีเยอรมันมากมายจนสิ้นสุดสงคราม…
ตระกูล Porsche ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม ได้ละเว้นที่จะกล่าวโทษวิศวกรและเจ้าของโรงงานชาวเยอรมันที่ทำงานสนับสนุนให้นาซีทำสงคราม แม้จะมีข้อมูลการใช้แรงงานชาวยิวในโรงงานอย่างโหดร้ายที่สุดกรณีหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่ส่วนใหญ่ก็มาจากฝีมือทหารและท่านผู้นำทั้งสิ้น
หลังสงครามสิ้นสุดลง… Ferdinand Porsche สองพ่อลูกกับหุ้นส่วนมิตรสหายก็ร่วมกันตั้งโรงงาน Porsche AG ขึ้นที่เมือง Stuttgart เพื่อประกอบรถยนต์แบนด์ Porsche โดยเอาโครงสร้างของ Volkswagen Beetle มาดัดแปลงตัวถังและเครื่องยนต์ใหม่ให้กลายเป็น Porsche 356 เปิดตัวตั้งแต่ปี 1948 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นรถคลาสสิครุ่นหนึ่งของโลก ที่นักสะสมรถคลาสสิคตัวจริงต่างดิ้นรนเพื่อให้มีในคอลเลคชั่นกันเพียงแค่สักโมเดลเดียวก็อิ่มใจกันทั้งสิ้น… โดยมีการวางแผนผลิต Porsche 912 สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกา และโมเดล Porsche 911 สำหรับตลาดยุโรป… เพื่อทดแทน Porsche 356 ที่ Porsche AG ที่วางแผนจะปลดออกจากสายการผลิต
Porsche 911 เปิดตัวในงาน Frankfurt Motor Show ปี 1963 และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปี 1981 ก็มีแผนจะปลด 911 ออกจากสายการผลิต และ ยังมีแผนจะยุติการผลิตรถยนต์วางเครื่องบนเพลาท้ายขับเคลื่อนล้อหลัง โดยเฉพาะเครื่องยนต์แบบระบายความร้อนด้วยอากาศที่ยกจาก Volkswagen Beetle มาดัดแปลง… ซึ่งใครที่เคยขับ Porsche 911 รุ่นปี 60’s ถึง 70’s จะรู้ดีว่า… เป็นรถที่ควบคุมยากไม่ธรรมดาถ้าไม่รู้จริตหน้าส่ายท้ายปัดแบบ 911 มาก่อน… ในขณะที่รถจากฝรั่งเศษ อังกฤษ อิตาลี สหรัฐ ญี่ปุ่นหรือแม้แต่รถเยอรมันด้วยกันส่วนใหญ่ ต่างก็หันมาใช้เครื่องยนต์วางหน้าระบายความร้อนด้วยน้ำกันหมดแล้ว
แต่ Peter Schutz ซึ่งถูก Ferdinand Porsche Jr. ดึงตัวมารับตำแหน่ง President และ CEO ในปี 1981 แทนตัวเอง… ได้คัดค้านและทำทุกอย่างเพื่อให้ 911 ยังอยู่ โดยมีประโยคลือลั่นที่เข้าใช้อ้างกับกรรมการบริหารในขณะนั้นว่า… While The Car Could Be Temperamental At Times, At Least It Had Character หรือ ถึงแม้จะเป็นรถเจ้าอารมณ์ในบางเวลา แต่อย่างน้อยมันก็มีบุคลิกของตัวเอง
แผนการปลดระวาง Porsche 911 ในช่วงต้นยุค 80’s แม้จะเป็นไปตามวาระ… แต่ยอดขายและรายได้ของ Porsche AG ก็ถดถอยลงเรื่อยๆ มาตั้งแต่กลางยุค 70’s ในขณะที่ตลาดรถยนต์ทั่วโลกกำลังขยายตัวและเติบโต… ซึ่งจำเลยอย่าง 911 ในฐานะรถขับยากและใช้งานลำบากจึงต้องถูกปลดไป โดยมี Porsche 928 และ Porsche 944 ซึ่งออกแบบเป็นรถยนต์วางเครื่องด้านหน้า กำลังถูกคาดหวังว่าจะพลิกฐานะของ Porsche AG ให้กลับมา… และกรรมการบริหารของ Porsche AG ต้องการตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งคลั่งไคล้ Porsche อย่างมาก… จึงทาบทาม Peter Schutz วิศวกรและนักธุรกิจสัญชาติอเมริกันเชื้อสายยิวผู้พูดภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่ว… เพราะ Peter Schutz เป็นยิวที่เกิดในเยอรมัน และ พ่อแม่พาลี้ภัยนาซีมาสหรัฐอเมริกาตอนเขาเป็นเด็ก… ซึ่งทั้งยิวอย่าง Peter Schutz และ นายจ้างผู้เคยทำงานให้ Adolf Hitler อย่าง Ferdinand Porsche Jr. หรือ Ferry… ไม่เคยมีปัญหาเรื่องขุ่นแค้นย้อนหลังอะไรให้เสียโอกาสระหว่างกันเลย
Peter Werner Schutz ผู้กุมชะตา Porsche AG ตั้งแต่ปี 1981-1987 จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ช่วยชีวิต Porsche 911 และเป็น Porsche 911 ที่ช่วยให้ Porsche AG เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ในท้ายที่สุดก็ต้องกลายไปเป็นแบรนด์ในเครือ Volkswagen เพื่อรวมพลังรถเยอรมันให้ทัดเทียมโตโยต้า… แต่ก็เป็นแบรนด์ที่ทำให้ผู้ถือหุ้น Volkswagen ปลาบปลื้มที่สุดจนถึงปัจจุบัน
Peter Schutz เป็นนักบริหารที่เลื่องลือเรื่อง “เลือกคนและใช้คนเป็น” มากที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งชีวิตของ Peter Schutz หลังปี 1987 ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ได้วนเวียนพูดถึง Character หรือ บุคลิก เฉพาะตัวของคน ซึ่งเป็นประเด็นหลักในการพิจารณาจ้างและใช้คน ซึ่งเพียงแค่ฝึกฝนสอนงานอีกนิดหน่อยก็จะไปโลดทันทีถ้าอ่านบุคลิกขาดตั้งแต่ต้น… ซึ่งถ้าเป็นของฝั่งจีนหรือฝั่งเอเชียน่าเป็นเรื่องการดูโหงวเฮ้งลูกจ้างนั่นเอง… โดยมีหลักสั้นๆ เข้าใจง่ายและได้ใจความว่า… Hire Character, Train Skill หรือ จ้างงานจากบุคลิก แล้วค่อยเอาไปฝึกทักษะต่อ
ผลงานของ Peter Schutz ใน Porsche AG ไม่มีอะไรผิดพลาดด่างพร้อย… แต่วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาซึ่งประทุขึ้นเป็นเหตุการณ์ Black Monday ในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 1987 ซึ่งเป็นวันที่ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงไปถึง 500 จุด หรือ 22% ภายในวันเดียว และตามมาด้วยความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก… ซึ่งรถยนต์ Porsche ที่นำเข้ามาขายในสหรัฐอเมริกาไม่มียอดขายเพราะอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์สหรัฐ กับ มาร์คเยอรมันเปลี่ยนแปลงผันผวน ในขณะที่เศรษฐีนักลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ Porsche… เงินหายไป 22% เป็นอย่างน้อยในชั่วพริบตา… Peter Schutz จึงต้องแสดงความรับผิดชอบต่อยอดขายที่ล้มเหลวอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร… Peter Werner Schutz ก็ได้รับการยกย่องในฐานะผู้รักษาจิตวิญญาณของ Porsche เอาไว้ในรถรุ่น 911… ซึ่งเป็นแบรนด์ตำนานไปเรียบร้อยแล้วทั้ง Porsche และ 911… พร้อมผลงานการปิดยอดขายจากทั่วโลกด้วยสถิติ 53,000 คันในปี 1986… Peter Werner Schutz จากไปในวันที่ 29 ตุลาคม 2017 หลังจากเจ็บป่วยด้วยโรคชราและมีอาการความจำเสื่อมในบั้นปลายของชีวิต
References…