วันนี้ลอกการบ้าน SCBEIC ที่สำนักวิจัยแห่งนี้ได้เผยแพร่ข้อมูลอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในกระแส SCG หรือ Environmental, Social และ Governance อันเป็นแนวทางที่องค์กรทั่วโลกทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญ และ เริ่มนำมาใช้เป็นหลักในการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน… โดยเฉพาะ E – Environmental ที่ต้องจัดการ และ รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในช่วงปี 2050 – 2060 และ ควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 – 2 องศาเซลเซียส
แรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อม และ ความยั่งยืนดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง… โดยข้อมูลจาก Global Efficiency Intelligence ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมระบุว่า… ในปี 2019 ปริมาณการปล่อย CO2 จากการผลิตเหล็กถึง 11% และ ปล่อย CO2 จากการผลิตซีเมนต์ถึง 7% ของปริมาณการปล่อย CO2 ทั้งหมด
ปัจจุบัน… ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างทั้งใน และ ต่างประเทศต่างก็ขานรับแนวทางการจัดการและความรับผิดชอบของการดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว และ เริ่มมีการปรับตัวกันบ้างแล้ว… โดยกลุ่มผู้ผลิตซีเมนต์ซึ่งมีการปล่อย CO2 ราว 620 กิโลกรัมต่อการผลิตปูนซีเมนต์ 1 ตัน โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกระบวนการเผาวัตถุดิบเพื่อให้ได้ปูนเม็ด หรือ Clinker ซึ่งใช้พลังงานจากฟอสซิลอย่างถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก… แต่ในช่วง 1–2 ปีที่ผ่านมาก็มีผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั้งใน และ ต่างประเทศ เริ่มดำเนินการลดสัดส่วนการใช้พลังงานจากถ่านหิน โดยหันมาใช้พลังงานทดแทนจากขยะเชื้อเพลิง หรือ RDF หรือ Refuse Derived Fuel และ ชีวมวล หรือ Biomass มากขึ้น… ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาถ่านหินอีกด้วย โดยภายในปี 2021 ผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทยมีแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอยู่ที่ราว 20-30% ของแหล่งพลังงานในการผลิตทั้งหมด
โดยข้อมูลจาก McKinsey ได้ประเมินว่า… วิธีการลดการปล่อย CO2 แบบดั้งเดิม เช่น การใช้เชื้อเพลิงทางเลือก การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้วัสดุทดแทนเม็ดปูน เช่น เถ้าลอยจากการเผาถ่านหิน วัสดุผสมปอซโซลาน จะสามารถช่วยลดการปล่อย CO2 ได้ราว 30% เท่านั้น และ ยังต้องเผชิญความท้าทายด้านการขาดแคลนวัสดุที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือก และ วัสดุทดแทนเม็ดปูน… ผู้ประกอบการควรเริ่มศึกษานวัตกรรมใหม่ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มเติมได้อีก 25% – 30% ภายในปี 2050 ควบคู่ไปด้วย ซึ่งได้แก่
- เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บ CO2 หรือ Carbon capture and storage ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กระบวนการทางเคมีในการดักจับ CO2 ก่อนออกสู่ชั้นบรรยากาศ และ ฉีดอัดเพื่อกักเก็บใต้ดินลึกหลายกิโลเมตร โดยปัจจุบัน CCS ยังอยู่ในระหว่างพัฒนาและเริ่มใช้กับอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าเป็นหลัก แต่คาดว่าจะมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ รวมถึงโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ได้ในอนาคต
- Green Cement ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท StartUp หลายแห่งกำลังทำการวิจัยและพัฒนา โดยมีหลักการสำคัญคือ ลดสัดส่วนการใช้หินปูนในการผลิตซีเมนต์ โดยแทนที่ด้วยสารเคมีชนิดอื่นที่ปล่อย CO2 ผ่านการเผาไหม้น้อยกว่า อย่างแมกนีเซียมไดออกไซด์ และ หินปูนสังเคราะห์
ส่วนอุตสาหกรรมเหล็ก… ก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการทยอยปรับตัวเพื่อลดการปล่อย CO2 อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก ได้มีการเริ่มปฏิรูปอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศตั้งแต่ปี 2016 โดยทยอยลดกำลังการผลิตด้วยการสั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กคุณภาพต่ำที่มากเกินความต้องการ จนก่อให้เกิดมลภาวะจากการผลิตเหล็กราคาถูกที่มากเกินไป ต่อเนื่องมายังปี 2021 ซึ่งมีการควบคุมกำลังผลิตในประเทศอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาเหล็กปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน
นอกจากนี้… จีนยังมีแผนระยะยาวเพิ่มการใช้เตาอาร์กไฟฟ้า หรือ Electric Arc Furnace ซึ่งมีอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ราว 440 กิโลกรัมต่อการผลิตเหล็ก 1 ตัน ซึ่งน้อยกว่าเตา Basic Oxygen Furnace ถึง 4 เท่า โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนโรงเหล็กแบบเตา Electric Arc Furnace หรือ EAF จากราว 10% ในปี 2020 มาอยู่ที่ 30% ของกำลังการผลิตในปี 2030… ส่วนการผลิตเหล็กในไทยนั้น ปัจจุบันมีการใช้เตาหลอม 2 ชนิด ได้แก่ EAF และ IF หรือ Induction Furnace ซึ่งถือเป็นเตาหลอมที่มีการปล่อย CO2 ในระดับต่ำ ซึ่งสะท้อนว่าผู้ผลิตเหล็กไทยก็ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดแล้วด้วยเช่นกัน
อุตสาหกรรมก่อสร้างในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality จากนี้ไปจนถึงราวปี 2060… เราคงได้เห็นการเปลี่ยนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างอีกมากทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลต้นฉบับจาก SCBEIC ครับ!
References…