ข้อมูลสถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ งวด 24-30 เมษายน พ.ศ. 2566 จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า… ราคาข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ส่งออกเฉลี่ยตันละ 853 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งราคาสูงขึ้นจากตันละ 834 ดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ก่อน 2.28% ส่วน ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้มีราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 499 ดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาสูงขึ้นจากตันละ 498 ดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ก่อน 0.20% และ ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ส่งออกที่ราคาเฉลี่ยตันละ 505 ดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาสูงขึ้นจากตันละ 503 ดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.40% ท่ามกลางรายงานการลดลงของผลผลิตข้าวในหลายภูมิภาคทั่วโลก
โดยกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USDA ได้ออกมาประเมินผลผลิตข้าวโลก ปีการผลิต 2022/2023 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2023 พบว่า… ผลผลิตข้าวทั้งโลก มีผลผลิตทั้งสิ้น 502.976 ล้านตันซึ่งปริมาณข้าวสาร ได้ลดลงจาก 514.796 ล้านตัน ในปี 2021/2022 หรือ ลดลง 2.30%
ส่วนข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งได้ตั้งเป้าการส่งออกข้าวปี 2023 ไว้ที่ 7.5 ล้านตัน โดยลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 7.7 ล้านตัน แต่ภายหลังมองว่ามีโอกาสที่การส่งออกข้าวไทยปี 2023 จะทำได้ถึง 8.5 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าประมาณการ และ การประเมินจาก USDA ล่าสุดก็มองว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ถึง 8.2 ล้านตันในปี 2023

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลจากทุกแหล่งยืนยันสถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญทั่วโลกกําลังว่าเข้าสู่ “สภาวะขาดแคลนหนักสุดในรอบ 20 ปี” เนื่องจากภาวะสงคราม และ ปัญหาสภาพอากาศที่กําลังส่งผลให้กําลังการผลิตข้าวทั่วโลกลดลง และ กําลังเข้าสู่สภาวะขาดแคลนหนักสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผลักดันราคาข้าวให้ปรับสูงขึ้น และ ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้นําเข้า โดยปัจจุบันมีผู้คนกว่า 3.5 พันล้านคนทั่วโลกที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่บริโภคถึงร้อยละ 90 ของข้าวทั่วโลก…
ข้อมูลจาก Charles Hart นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของ Fitch Solutions ชี้ว่า… ตลาดข้าวทั่วโลกคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะ ขาดแคลนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบสองทศวรรษ และ ส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวสูงในรอบ 10 ปี โดยราคาข้าวคาดว่าจะสูงไปจนถึงปี 2024 ซึ่งปัจจุบันราคาข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 17.30 ดอลลาร์ต่อตัน แต่จะปรับลดลงเหลือ 14.50 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2024…เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าอาหารหลักในหลายตลาดในเอเชีย ราคาจึงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ของราคาอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่ยากจน
โดยข้อมูลวิเคราะห์พบแนวโน้มปริมาณการขาดแคลนข้าวทั่วโลกในปี 2022/2023 จะอยู่ที่ 8.7 ล้านตัน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณข้าวในตลาด คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กําลังดำเนินอยู่ รวมถึงสภาพอากาศเลวร้ายในประเทศผู้ผลิตข้าวอย่างเช่น จีน และ ปากีสถาน โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 มีพื้นที่การเกษตรในจีนซึ่งถือเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้รับผลกระทบจากมรสุมฤดูร้อน และ น้ำท่วมอย่างหนัก ขณะเดียวกันผลผลิตของปากีสถานคิดเป็นร้อยละ 7.6 ของการค้าข้าวทั่วโลกก็ได้ลดลงร้อยละ 31 เนื่องจากน้ำท่วมรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว
Oscar Tjakra นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Rabobank ซึ่งเป็นธนาคารอาหารและการเกษตรระดับโลก กล่าวว่า… ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวมากที่สุด คือ ประเทศผู้นําเข้าข้าวรายใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ ประเทศในแอฟริกา อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนจะกลับไปสู่ภาวะปกติในปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาข้าวในอนาคต ต่ำกว่าระดับในปี 2022 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่มากกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิด…โดยราคาข้าวอาจลดลงเกือบ 10% ในปี 2024…
อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวยังคงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ซึ่งการผลิตข้าวทั่วโลกจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2023/24 โดยคาดว่าผลผลิตทั้งหมดจะเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยอินเดียจะเป็นผู้ผลิตข้าวหลักของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า
References…