ความจริงวิสัยทัศน์โครงการ One Transport for All 2018 ได้เปิดตัวโครงการไปตั้งแต่ วันที่ 13 ก.ค. 2561 โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดงานนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ครั้งที่ 1 ภายใต้ชื่อ “One Transport for All 2018 : On the Move”
แน่นอนว่า สำหรับผมแล้ว แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานน้อยใหญ่ของกระทรวงคมนาคม หมายถึงโอกาสของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทุกๆ การเกิดและเติบโตทางเศรษฐกิจทุกระดับ เริ่มต้นจากที่ดินและอสังหาริมทรัพย์
ผมจะเริ่มจากเอาข้อมูลวิสัยทัศน์ One Transport for All 2018 มาคลี่ออกให้ดูกันเป็นปฐมบทน๊ะครับ… ซึ่งผมเชื่อว่า จะมีคนเห็นโอกาสและได้ประโยชน์จากข้อมูลไม่มากก็น้อย
…ผมถอดคำพูดพูดท่านรัฐมนตรีในวันกล่าวเปิดงานมาแปะไว้ก่อนก็แล้วกันน๊ะครับ!!!
ตามแผนงานในอีก 4 ปีข้างหน้า (2562-2565) กระทรวงคมนาคมจะมีการลงทุนอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท ได้แก่
- โครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,164 กม. วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท
- รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,234 กม. ได้แก่ ช่วงกรุงเทพ-หัวหิน, นครราชสีมา-หนองคาย, กรุงเทพ-พิษณุโลก, พิษณุโลก-เชียงใหม่
- มอเตอร์เวย์ 4 เส้นทาง ได้แก่ สายนครปฐม-ชะอำ, หาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย, ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน
- ทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน-มหาชัย
- ขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1,429 กม.
- เปลี่ยนถนนลูกรังเป็นลาดยาง 3,085 กม.
- พัฒนาศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม
- พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าชายแดและภูมิภาค เพิ่มเติม 12 แห่ง กระจายสินค้าสู่อาเซียน, ก่อสร้างจุดพักรถบรรทุก 34 แห่ง
- พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
- พัฒนาสนามบินภูมิภาค 7 แห่ง ได้แก่ สนามบินสกลนคร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ตรัง, ลำปาง, แพร่, หัวหิน
- พัฒนาท่าเรือสงขลา
- ท่าเรือบก จ.ขอนแก่น
- เปิดเส้นทางเดินเรือ ภูเก็ต-พังงา-กระบี่
- พัฒนาเส้นทางเดินเรือเฟอร์รี่ 5 เส้นทาง ได้แก่ บางสะพาน-แหลมฉบัง, หัวหิน-พัทยา, สงขลา-แหลมฉบัง, สุราษฎร์ธานี-สัตหีบ, ปากน้ำปราณบุรี-สัตหีบ
- ปรับปรุงท่าเทียบเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 8 แห่ง