เรากำลังอยู่ในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ หรือ Knowledge Based Economy หรือเศรษฐกิจที่พึ่งพาทุนทางปัญญาในการขับเคลื่อน ในขณะที่พฤติกรรมเชิงสังคมของผู้คน ก็มีชีวิตประจำวันแบบเปลี่ยนที่และเดินทางน้อยลงอย่างแน่นอนแล้ว… คนทำงานในสำนักงาน หลายส่วนจะทำงานจากที่บ้าน เด็กๆ ไม่ต้องไปโรงเรียนพร้อมกัน หรือไปเรียนไม่ทันก็เรียนซ้ำเรียนเสริมผ่านสื่อและช่องทางมากมาย ซึ่งทุกฝ่ายเห็นแนวโน้มเดียวกันว่า… จังหวะชีวิตแบบรีบเร่งสำหรับคนจำนวนหนึ่งจะช้าลง
ในขณะที่เศรษฐกิจฐานความรู้ จะมอบอาชีพและแนวทางหารายได้เลี้ยงชีพ ผ่านการงานอาชีพเชิงสร้างสรรค์ ที่แม้แต่เกษตรกรปลูกผัก ก็สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยสวนผักขนาดตู้คอนเทนเนอร์ ที่ตั้งอยู่ย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ด้วยซ้ำ…
นั่นทำให้ผู้คนสามารถเข้าไปอยู่อาศัยในเมืองที่สาธารณูปโภคในเมืองดีกว่า ครบถ้วนกว่าและเหมาะสมกว่า ซึ่งทุกเมืองทั่วโลกพบแนวโน้มการเติบโตของเมืองอย่างมีนัยยะทั้งสิ้น
ปัญหาเดียวของเมืองคือความแออัดที่สร้างปัญหามากมายจากการสัญจรด้วยยานพาหนะและรถราสารพัดจำนวนล้อ… นักออกแบบผังเมืองทั่วโลกจึงคิดจะยึดพื้นที่ถนนสำหรับรถยนต์และยานพาหนะ มาทำทางให้คนเดินให้ได้มากที่สุด
ประเทศไทยของเราก็อยู่ในกระแส “หาถนนให้คนเดิน” ผ่านโครงการ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี หรือ Good Walk” ที่นิยาม “เมืองน่าอยู่ใหม่หมด” ด้วยแนวคิดการออกแบบโครงข่ายทางเดินผ่านงานออกแบบผังเมือง ทั้งออกแบบใหม่และปรับปรุงหรือ Renovated เมืองกันทีเดียว

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ Urban Design and Development Center หรือ UDDC และอาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย… ซึ่งอาจารย์เป็นคนหนึ่งที่ฝันและผลักดันแนวคิดการพัฒนาเมือง หรือจะเรียกว่า อาจารย์อยากรีโนเวทเมืองทุกย่านที่ยินดีต้อนรับอาจารย์
แนวคิดอย่าง Urban Mobility หรือการเดินทางในเมือง โดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองที่การจราจรแออัดคับคั่งอย่างมาก อาจารย์นิรมลและคณะร่วมกันทำงานจนได้โครงการชื่อ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี โดยมีพันธมิตรสำคัญอย่าง สสส หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับ UDDC ที่อาจารย์นิรมลเป็นผู้อำนวยการอยู่
อาจารย์นิรมลและทีม เดินสายผลักดันทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ที่ข่าวล่าสุด… พฤษภาคม 2020 มีจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมแล้วกว่า 20 เมือง รวมทั้งเชียงใหม่… ซึ่ง Key Success ที่นำเสนอชื่อว่า บันได 10 ขั้น สู่การเป็นเมืองเดินดี ยกตัวอย่างกรณีกรุงเทพมหานคร… กับโจทย์ เราจะพลิกกรุงเทพให้เป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” อย่างไร ?
1.ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า มากกว่ารถยนต์
ถนนบนในพื้นที่เมือง ควรให้ความสำคัญกับการสัญจรของคนเดินเท้ามากกว่ารถยนต์ โดยจัดให้รถยนต์สัญจรในพื้นที่ที่เหมาะสมเท่านั้น
2.สร้างสรรค์ความหลากหลาย
การใช้ที่ดินแบบผสมผสานหลากหลาย สร้างความคึกคักให้พื้นที่ ไม่เปลี่ยว กระตุ้นให้เกิดการเดิน
3. จัดพื้นที่จอดรถยนต์ให้ถูกต้อง
ปัญหาที่จอดรถยนต์ในเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ควรลดการจอดรถบนท้องถนน และจัดพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับการจอดรถโดยเฉพาะ
4. พัฒนาและส่งเสริมการใช้งานระบบขนส่งมวลชน
ระบบขนส่งมวลชนที่ดีส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณคนเดินเท้า และช่วยลดการใช้งานรถยนต์
5. เสริมความปลอดภัยให้คนเดินเท้า
อุปกรณ์ถนนที่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของคนเดิน จะส่งผลโดยตรงต่อความสบายใจในการใช้งานถนนนั้นๆ ทั้งในยามปกติและยามค่ำคืน
6. เพิ่มความเป็นมิตรกับเส้นทางจักรยาน
การเพิ่มพื้นที่สำหรับจักรยานบนท้องถนน ทำให้ความเร็วในการสัญจรโดยรถยนต์ช้าลง ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้คนเดินเท้า
7. ออกแบบทางเท้าให้มีกิจกรรมและมีความสวยงาม
ถนนที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย และมีความสวยงามจะช่วยส่งเสริมการเดินของประชาชนทั่วไปได้ดีกว่า ถนนที่มีปราศจากสิ่งดึงดูด
8. ปลูกต้นไม้บนถนน
ต้นไม้ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีของถนน ทั้งในแง่ของการลดมลพิษ และการสร้างทัศนียภาพที่ดีของเมือง
9.ออกแบบอาคารให้น่าสนใจและดึงดูด
คนเดินเท้ายังต้องการเสน่ห์ของพื้นที่เพื่อกระตุ้นการเดิน หน้าตาอาคารที่น่าสนใจและดึงดูดจะช่วยเพิ่มประสบการณ์การเดิน
10. เลือกวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
งบประมาณและเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เอื้อต่อการเดินเท้า การเลือกวิธีการที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ