การปรับตัวครั้งใหญ่ของธุรกิจและอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 บนกระแส Digital Revolution และ ถูกกดดันด้วยวิกฤตโควิด ที่ระบาดลุกลามกระทบระบบนิเวศน์โลกาภิวัตน์ หรือ Globalization ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์ไร้พรมแดนแบบ Offline ที่กำลังปรับเปลี่ยนและโยกย้ายเข้าสู่ระบบนิเวศน์ Online เพื่อยกระดับ หรือ Upgrade เข้าสู่ยุคดิจิทัลในกระแส Digital Revolution… แต่ในพลันที่เกิดวิกฤตโควิดในระหว่างปรับเปลี่ยนโยกย้าย ทั้งหมดก็จำเป็นต้อง “แยกย้าย” กันยกระดับเข้าสู่ระบบนิเวศน์ Online อย่างฉุกละหุกกันเป็นส่วนใหญ่
ผมเน้นคำว่า “แยกย้าย แทน โยกย้าย หรือ ปรับเปลี่ยน” ในกรณีนี้ก็เพราะว่า… สถานการณ์ในวิกฤตโควิดที่ทั่วโลกเจอเหมือนๆ กันในคราวนี้… ดูเหมือนกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่อยู่รอดจะมีความเคลื่อนไหวบนกลยุทธ์ “Diversification หรือ กระจาย หรือ แตกหน่วยธุรกิจ” เพื่อให้การปรับตัวในภาวะวิกฤติเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด… อันหมายถึง รอดไปต่อให้ได้มากที่สุด และ สังเวยวิกฤตให้น้อยที่สุด หรือดีกว่านั้นถึงขั้นขับเคลื่อนสถานะการแข่งขันให้ดีขึ้นด้วย Diversification Strategy ได้ก็ยิ่งดี
ข้อมูลเผยแพร่จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้พูดถึง กระแสการลงทุนของโลกหลังโควิด จากการปรับซัพพลายเชนครั้งใหญ่ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า… จากวิกฤตโควิดในครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจข้ามชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ ตระหนักถึงความเปราะบางของซัพพลายเชนโลก ประกอบกับกระแสสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้น… ทำให้ธุรกิจข้ามชาติหันมากระจายความเสี่ยงด้วยการโยกย้ายฐานออกจากจีน
แนวโน้มการค้าการลงทุนโลกหลังวิกฤตโควิดจึงเกิดกระแส Reshoring หรือ กระแสเจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิตสินค้านวัตกรรม มีการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศแม่… และยังมาพร้อมกับกระแส Diversification หรือ กระแสการสร้างฐานการผลิต และ ซัพพลายเชนใหม่ สำหรับการผลิตสินค้ากระแสหลักเพื่อกระจายความเสี่ยงในกรณีฉุกเฉิน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า… ประเทศไทยจะได้รับอานิสงค์จากกระแส Diversification ค่อนข้างชัดเจน เพราะประเทศไทยคือหนึ่งในทางเลือกหลัก สำหรับการสร้างฐานการผลิตใหม่ในอาเซียน… ถึงแม้ธุรกิจข้ามชาติต่างๆ จะมีทางเลือกที่จะตั้งฐานการผลิตในประเทศใดก็ได้ในอาเซียน แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ธุรกิจข้ามชาติใช้ในการเลือกฐานการผลิตใหม่ เช่น…
- ขนาดของตลาดในประเทศที่ลงทุน
- การเข้าถึงตลาดในประเทศที่สาม ในกรณีที่ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งการมีความตกลงทางการค้าในตลาดหลักๆ ของโลกสามารถสร้างความได้เปรียบเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้
- ต้นทุนในการผลิต ซึ่งรวมถึงต้นทุนแรงงาน
เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยเหล่านี้กับประเทศคู่แข่งในอาเซียน… ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันด้านขนาดของตลาดกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วม CPTPP และยังไม่มีความตกลงทางการค้ากับ EU อีกต่างหาก… แต้มต่อทางสิทธิประโยชน์จากความตกลงทางการค้าจึงไม่เท่ากับเวียดนาม ท้ายที่สุด ประเทศไทยมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงกว่าประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย จึงไม่สามารถแข่งขันต้นทุนแรงงานได้
ซึ่งปัจจัยทั้งสามที่กล่าวไว้ถือเป็นจุดด้อยของประเทศไทย… แต่ประเทศไทยก็มีจุดแข็งเรื่อง “สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง… โครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน และซัพพลายเชนที่ครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในบางประเภทสินค้า… เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีซัพพลายเชนที่สลับซับซ้อน ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วน ยังคงเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนอยู่
ดังนั้น เมื่อเทรนด์ หรือแนวโน้มโลกหลังวิกฤตโควิดทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนจากรูปแบบห่วงโซ่การผลิตที่เคยมีจีนเป็นศูนย์กลาง… มาเป็นห่วงโซ่การผลิตในระดับภูมิภาคกระจายทั่วโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะได้รับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 1,100–1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2564–2566 หรือ เพิ่มขึ้นเพียง 0.7–0.8% เมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าของไทยในช่วงปี 2561–2563… โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อยอดที่ไทยมีซัพพลายเชนครบวงจรอยู่แล้ว
บทส่งท้ายของข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมีว่า… ความท้าทายในการรักษาเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากกระแส Diversification จะทำให้มีฐานการผลิตในภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติถูกกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้ไทยอาจได้รับเม็ดเงินลงทุนในการผลิตสินค้ากระแสหลักลดลงในอนาคต… ส่วนกระแส Reshoring หรือ กระแสเจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูงย้ายฐานการผลิตกลับประเทศในกลุ่มสินค้านวัตกรรม จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้โอกาสในการดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงน้อยลงกว่าเดิมอีกมาก
ทางออกที่ยั่งยืนในการพัฒนาประเทศไทยจึงเหลือทางเลือกเดียวคือ การมีเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตัวเอง โดยการพัฒนาความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และ ยกระดับศักยภาพของประชากรไทยในอนาคต
References…
- https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/invest-z3218.aspx
- https://www.salika.co/2021/05/09/diversification-global-investment-trends-after-covid/
- https://foresight-ifp.co.uk/investment-update-april-2021
- https://internationalbanker.com/finance/can-supply-chains-adapt-to-a-post-covid-19-reality/
- https://www.imd.org/research-knowledge/articles/A-post-COVID-19-outlook-The-future-of-the-supply-chain/