ข้อมูลจาก FAO หรือ Food And Agriculture Organization Of The United Nations หรือ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลแวดล้อมในวิกฤตราคาอาหารแพงทั่วโลก ที่ส่งสัญญาณหลายอย่างให้เห็นแนวโน้มราคาอาหารที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ และ นำไปสู่การขาดแคลนอาหารอย่างชัดเจน
ดัชนีราคาอาหาร หรือ Food Price Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงรายเดือนของสินค้า อาหารและโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และ น้ำตาล มีค่าเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2021 อยู่ที่ 133.7 โดยลดลงจากระดับ 134.9 ของเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเดือนที่ 4 ที่ดัชนีเพิ่มสูงขึ้น และ เป็นระดับที่พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
โดยราคาในกลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากนม เป็นกลุ่มที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด ตามมาด้วยน้ำตาล… ในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์และน้ำมันพืชในเดือนพฤศจิกายนลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
ในส่วนตัวเลขของปี 2022… ดัชนีราคาอาหารในเดือนมีนาคมปี 2022 เพิ่มขึ้นเกือบ 13% จากเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน และราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายนปี 2022 ตามดัชนีราคาอาหารของ FAO
ราคาอาหารที่แพงขึ้นนำมาสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร หรือ Food Insecurity เมื่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตพุ่งสูงขึ้น เช่น ข้าว ขนมปัง เนื้อสัตว์ นม ไข่ นั่นแปลว่า… ประชาชนต้องหักส่วนรายได้เพื่อมาใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้น สำหรับประเทศที่ค่าครองชีพมีความสอดคล้องกัน หรือ รายได–รายจ่ายสอดคล้องกันก็อาจส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย… แต่ในประเทศรายได้น้อยนั้นได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะการซื้ออาหารคิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ผู้คน 10 ล้านคนถูกผลักให้เข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกสำหรับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทุกๆ หนึ่งเปอร์เซ็นต์
การที่ราคาอาหารสูงขึ้น แต่ประชาชนยังมีรายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหาร และนำไปสู่ปัญหาความอดอยากและขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
ข้อมูลจาก FAO ระบุว่า… เฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกมีผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอาหารแพงและการขาดแคลนอาหารมากถึง 1,800 ล้านคน และ ยังมีคนเป็นโรคขาดสารอาหารที่เรียกกันว่า โรคผอมแห้ง มากถึง 40 ล้านคน เพิ่มจาก 31 ล้านคนเมื่อปีที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ระบุว่า… นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดวิกฤติที่เรียกว่า The Great Shortage หรือ The Great Food Shortage หรือ ภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ของโลก
ที่สำคัญกว่านั้น… ความไม่มั่นคงด้านอาหารในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เป็นสาเหตุของความไม่สงบทางสังคมและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงอย่างในประเทศศรีลังกา ตูนิเซีย และ เปรู
อย่างไรก็ตาม… ในประเทศร่ำรวยต่างก็เจอผลกระทบจากราคาอาหารแพงขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างคนอังกฤษเกือบ 10 ล้านคนต้องลดการบริโภคอาหารในเดือนเมษายน และ ฝรั่งเศสวางแผนที่จะออกคูปองอาหารให้กับครัวเรือนที่ยากจนที่สุด ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่นำโดยราคาอาหารและพลังงาน กลายเป็นนโยบายหาเสียงของนักการเมืองในสหรัฐ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของที่นั่งในรัฐสภาอย่างมีนัยสำคัญ
David R. Malpass ในฐานะประธานธนาคารโลกได้ออกมากล่าวระหว่างการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิ 2022 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และ ธนาคารโลก ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2022 ว่า… สงครามรัสเซีย–ยูเครนส่งผลทำให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น และ ส่งผลกระทบถึงกลุ่มคนยากไร้มากที่สุด พร้อมเตือนว่า วิกฤตการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารครั้งนี้จะครอบคลุมระยะเวลาหลายเดือนและอาจจะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2023
ธนาคารโลกจึงได้ประกาศแผนรับมือวิกฤติความมมั่นคงด้านอาหารโลก โดยจะอัดฉีดงบประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่โครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจะครอบคลุมด้านเกษตรกรรม… ด้านโภชนาการ… การคุ้มครองทางสังคม น้ำ และ การชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดช่วง 15 เดือนข้างหน้า
นอกจากนี้… งบประมาณดังกล่าวจะยังครอบคลุมการส่งเสริมการผลิตอาหารและปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอาหาร สนับสนุนด้านการค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ผลิตกลุ่มที่เปราะบาง โดยธนาคารโลกจะร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการจัดตั้งโครงการใหม่ๆ มูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 15 เดือนข้างหน้า เพื่อรับมือวิกฤติความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ในความพยายามร่วมกันกันเพื่อเพิ่มปริมาณพลังงาน และ ผลผลิตปุ๋ย ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มอัตราการเพาะปลูก และ เพิ่มปริมาณผลผลิต รวมถึงยกเลิกนโยบายระงับการส่งออกและนำเข้า… ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่ห้ามส่งออกธัญพืชสำคัญและอาหารแล้วหลายประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีประเทศรัสเซียและยูเครนแล้ว ยังมีประเทศอินโดนีเซียซึ่งผู้ส่งออกน้ำมันพืชเพื่อการบริโภครายใหญ่สุดของโลก ได้ประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มสำหรับทำอาหาร… ส่วนประเทศคาซัคสถานก็ได้จำกัดการส่งออกข้าวสาลีและแป้งสาลีเป็นการชั่วคราว… ในขณะที่อาร์เจนตินาซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ก็ได้จำกัดการส่งออกเนื้อวัวยาวไปจนถึงปี 2023… โดยมีประเทศอินเดียได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี ด้วยเหตุผลที่ไม่แตกต่างกับประเทศอื่นๆ คือ… เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชาติของตน… ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเป็นเหตุผลให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้นรอบใหม่ได้
References