ในบรรดาสินค้าส่งออกของประเทศไทย อาหารและเครื่องดื่ม ถือเป็นสินค้าส่งออกทำเงินเป็นอันดับต้นๆ โดยแต่ละปีไทยส่งออกสินค้าอาหารไปทั่วโลก มูลค่ากว่า 1,000,000 ล้านบาท ซึ่งไทยส่งออกอาหารเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย… และการได้เป็นผู้ส่งออกที่หมายถึง กิจการได้เติบโตเพื่อรองรับการขยายตลาดที่ใหญ่ขึ้น และหมายถึงโอกาสในการทำกำไรมากขึ้นนั่นเอง
คำถามคือ… ถ้าผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ตั้งเป้าอยากส่งออกสินค้าไปต่างประเทศต้องเรียนและรู้อะไรบ้าง
คำแนะนำแรกคือ… ติดต่อไปศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ หรือ ONESTOP Export Service Center หรือ OSEC ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์… ซึ่งเป็น One Stop Servives ที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออก โดยติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับรายละเอียดบริการข้อมูลข่าวสาร สถิติข้อมูลธุรกิจ ราคาขาย กิจกรรมส่งเสริมการส่งออก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ทางการค้า ข้อมูลการขอจดทรัพย์สินทางปัญญาได้ทั้งหมดในที่เดียว… และที่เหลือก็แค่เตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ครับ!
ง่ายๆ แบบนี้เลย!!!
และนอกจากความพร้อมของกิจการกับสินค้าที่พร้อมส่งออกแล้ว สิ่งที่ต้องทำแน่ๆ ประกอบไปด้วย…
อันแรกเลยคือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อคุ้มครองและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ให้ถูกละเมิดในต่างประเทศ… ปัจจุบันสามารถยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ หรือ Madrid Application Receiving Office โดยสามารถระบุประเทศที่อยากขอคุ้มครองได้ถึง 116 ดินแดนได้แล้ว ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา…
อันต่อมาคือการขอรับรองคุณภาพและมาตรฐานต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเข้าตลาดในประเทศปลายทาง… ซึ่งเป็นด่านหินที่สุดก็ว่าได้ในการเตรียมตัวเป็นผู้ส่งออก เพราะสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เป็นใบเบิกทางแรก ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจและการยอมรับในตลาดต่างประเทศ และประเทศนำเข้าส่วนใหญ่มีเกณฑ์มาตรฐานมากมายประกาศบังคับใช้ที่ต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามโดยปริยายแทบทั้งสิ้น
ในทางเทคนิค… ผลิตภัณฑ์สายอาหารและเครื่องดื่มในเมืองไทยจำเป็นต้องขอ มาตรฐานอาหารและยา หรือ อย. อยู่แล้ว และมาตรฐาน อย. นี้เองที่สามารถต่อยอดไปสู่มาตรฐานกลุ่มเดียวกันในตลาดต่างประเทศได้ไม่ยาก
คำแนะนำแรกจากผมจึงมีว่า… ถ้าท่านมีโจทย์ทางการตลาดไปไกลถึงต่างประเทศ การพาธุรกิจเข้าสู่มาตรฐานต่างๆ โดยเริ่มต้นที่ อย. ถือเป็นรากฐานสำคัญยิ่งยวดสำหรับกิจการอาหารเครื่องดื่มไปนอกของทุกท่าน… ซึ่งมาตรฐาน อย. ทั้งการขออนุญาตสถานที่ผลิต และ ขออนุญาตผลิตภัณฑ์หรือขอ เลข อย.13 หลัก และโดยส่วนใหญ่ก็จะต่อเนื่องไปถึงการขอ GMP หรือ Good Manufacturing Practice รวมทั้ง HACCP หรือ Hazard Analysis Critical Control Point ด้วย
การขอรับรองคุณภาพและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า หรือ Certificate of Origin โดยกรมการค้าต่างประเทศ… เอกสารเกี่ยวกับภาษีต่างๆ โดยกรมศุลกากร… และรวมถึงใบอนุญาติเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและโรงงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม… ซึ่งง่ายที่สุดก็ยังแนะนำไปที่ OSEC ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์… ครับ!!!
References…