ในบรรดาพื้นฐานจิตวิทยาที่ผลักดันพฤติกรรมและพัฒนาการของมนุษย์ระดับพื้นฐานอย่างแท้จริงนั้น… เกือบทั้งหมดมาจากความรัก หรือ Love… ความหวัง หรือ Hope… และความกลัว หรือ Fear… ปนๆ เคล้าๆ กันอยู่ในตัวตนและจิตวิญญาณของทุกคนเสมอ… ความรักกับความหวังถือเป็นพื้นฐานด้านบวก ถึงแม้หลายกรณีจะสามารถพลิกจากบวกเป็นลบได้ไม่ต่างจากความกลัวอันเป็นพื้นฐานด้านลบ… ทั้งความรัก ความหวังและความกลัว ต่างจึงมีพลวัตรเชื่อมโยงถึงกัน จนกลายเป็นพฤติกรรมและบุคลิกตัวตนของคนๆ หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะอันมีพื้นฐานจากความรัก ความหวังและความกลัว ปนๆ กันอยู่ในแบบของตัวเอง
กล่าวเฉพาะความกลัว… ปราชญ์นามกระเดื่องอย่างอริสโตเติล หรือ Aristotle ได้อธิบายไว้ว่า… กลัวเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกปลุกเร้าโดยโศกนาฏกรรมในนิยามของบุคคล โดยเกิด “ความรู้สึกสงสารและหวาดหวั่น” เกาะเกี่ยวกันเป็นความรู้สึกอันไม่พึงประสงค์จะให้ตนได้ประสบกับโศกนาฏกรรม ที่รู้สึกได้ถึงความน่าเวทนาสงสารอันน่าหวาดหวั่นนั้น
ประเด็นก็คือ… ในบรรดาพื้นฐานจิตวิทยาสามประการในมนุษย์คือ ความรัก ความหวังและความกลัวนั้น ทั้งหมดมีผลกับ “การตัดสินใจ” ของคนๆ หนึ่งอย่างมีนัยยะเสมอ… โดยเฉพาะความกลัวด้วยแล้ว หลายกรณีสามารถเข้าถึงการตัดสินใจระดับสัญชาตญาณ เช่นกรณีกลัวตกหน้าผาตายก็ถอยห่างจากจุดที่น่ากลัวนั้นโดยไม่ต้องคิดหรือไตร่ตรองอะไรมาก
นักจิตวิทยาอธิบายการเกิดความกลัวไว้ว่า… ความกลัว หรือ Fear เป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์ที่มักจะถูกปลุกให้ตื่นได้ง่ายและก่อนเสมอ โดยเฉพาะในยามสุ่มเสี่ยงกับความเป็นความตายและอยู่รอดของชีวิต… ความกลัวจึงเป็นการตอบสนองทางอารมณ์ที่สัญชาตญาณสั่งให้ทำงานทันทีเมื่อต้องเผชิญกับ…
- Loss of Control หรือภาวะควบคุมอะไรไม่ได้
- Loss of Identity หรือ การสูญเสียตัวตน
- Isolation หรือ การต้องอยู่ลำพังโดดเดี่ยว
- Fear of Death หรือ การตกอยู่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน
ซึ่งทั้งสี่ประการเป็นความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกและมีที่มาที่ไปชัดเจน เมื่อกลัวและเผชิญหน้ากับปัจจัยความกลัวใดๆ แล้ว ก็จะตัดสินใจ… สู้หรือหนี หรือ Fight or Flight โดยสติสัมปชัญญะจะโฟกัสแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้า… ตอนนั้น–เดี๋ยวนั้น–เท่านั้น และจะตามมาด้วยอารมณ์ความรู้สึกด้านลบ เช่น โกรธ ผิดหวัง หรือสับสน… ความกลัวจึงเป็นอารมณ์ที่นอกจากจะขัดขวางความคิดที่มีประสิทธิภาพแล้ว บ่อยครั้งยังบดบังมโนธรรมความเป็นมนุษย์จากการขาดสติควบคุมตัวเองอีกด้วย
ที่สำคัญกว่านั้น… ความกลัวจะมาพร้อมความกังวล หรือ Anxiety ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความกลัว แต่จะต่างกันที่… ความวิตกกังวลเกิดขึ้นจากภายในและทำงานอยู่ภายในความคิดจิตใจเรา โดยเฉพาะสิ่งที่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ เวลาเราวิตกหรือกังวลมักเป็นความรู้สึกเครียดที่เกิดจากการคิดล่วงหน้าไปก่อนว่าเรื่องเลวร้ายบางอย่างอาจเกิดขึ้น… ความกังวลจึงมักเป็นอารมณ์ที่ผุดขึ้นได้แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยและไม่เกี่ยวข้องกับเหตุตรงหน้าก็ได้ด้วย
กรณีความกลัวภายใต้สถานการณ์โรคระบาดใหญ่อย่างวิกฤตโควิด… ผู้คนล้วนมีทั้งกลัวเพราะโควิดซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก และกังวลถึงผลกระทบโควิดทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจและอะไรอีกมาก ทั้งๆ ที่ความกังวลนั้นๆ เพียงเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ที่รับรู้มาจากข้อมูลข่าวสาร แต่ความกังวลและหวาดกลัวก็ได้ทำหน้าที่ของมันไปแล้วจนเป็นส่วนหนึ่งของความคิด ทัศนคติและอารมณ์
ประเด็นเป็นแบบนี้คือ… ความกลัวทั้งที่มาจากปัจจัยภายนอก และทั้งที่มาจากความวิตกกังวลภายใน แม้จะเป็นพื้นฐานการตัดสินใจของทุกคนอย่างสำคัญ… แต่ก็ให้ตัวแปรสนับสนุนการตัดสินใจได้ทั้งที่เป็นประโยชน์และไร้ประโยชน์ต่อตนเองภายใต้สถานการณ์นั้นๆ เสมอ… ซึ่งข้อเท็จจริงโดยธรมชาติที่ว่า การเผชิญหน้าความกลัวเป็นกลไกระดับสัญชาตญาณพื้นฐานที่ตัดสินใจได้เพียง Fight or Flight หรือแค่เพียงสู้หรือหนี… ซึ่งทางเลือกการตัดสินใจทั้งสองแม้จะเป็น “จุดเปลี่ยน” คนละทิศ แต่การเลือกทางใดทางหนึ่งอย่างกล้าหาญและทันเวลา… สู้เป็นก็ชนะกลัวได้ หนีเป็นก็ชนะกลัวได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญกว่าการจะเลือก Fight or Flight ก็คือ… อนาคต หรือ สถานการณ์ลำดับถัดไปหลังจากการตัดสินใจ Fight หรือสู้… หรือเลือกอีกทางคือตัดสินใจ Flight หรือบินหนี… ซึ่งการประเมินเพื่อเลือกวิธีจัดการความกลัวก็เพียงเลือกเอาสักทาง… เพื่อให้สถานการณ์ลำดับถัดไปได้พ้นไปจากความกลัว หรือ Fear ที่เผชิญอยู่… ซึ่งการจมอยู่กับความกลัวเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ลำดับถัดไป หรือ อนาคตอะไรไม่ได้เลย
Joe Biden ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ว่า… Fear Never Builds The Future, But Hope Does… ความกลัวไม่เคยสร้างอนาคต แต่ความหวังนั้นใช่
References…