ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 หน้า 213 ลงวันที่ 30 เมษายน 2562 ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติโรงงาน ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายว่าด้วยโรงงาน
และพระราชบัญญัติโรงงานฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตามมาตรา 2 ที่ให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 180 วัน
…ก็ราวๆ ปลายเดือนตุลาคม 2562 พอดี!
ท่านที่สนใจพระราชบัญญัติฉบับเต็มคลิกที่นี่ครับ!
สาระสำคัญที่ถือว่ากฏหมายฉบับนี้ เป็นความหวังที่จะแก้ไขรอยด่างของสังคมเงินใต้โต๊ะ ที่กัดกินโครงสร้างการผลิตของประเทศมาช้านานก็คือ… เรื่องใบอนุญาติตั้งโรงงาน หรือใบ รง. 4 ที่… ขอยากถ้าไม่จ่าย ของ่ายถ้าเงินถึง มาแต่ไหนแต่ไร… แถมยังต้องต่อใบ รง. 4 กันทุก 5 ปีอีกด้วย
สุดท้ายเมื่อนโยบายที่ว่าด้วยทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน ผลักดันธุรกิจ SME… SME ที่ต้องใช้โรงเรือนผลิตสินค้าก็เจอปัญหาการขออนุญาตตั้งโรงงานจนเกิดปัญหามากมายตั้งแต่การตั้งโรงงานเถื่อนไปจนถึงปัญหาคอรัปชั่นที่ทับถมโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน
การปรับนิยามของโรงงานที่ต้องขออนุญาตจากเดิม มีเครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้าเป็น 50 แรงม้า… จากเดิมมีคนงาน 7 คน เป็น 50 คน… ย่อมทำให้วิสาหกิจชุมชนและธุรกิจขนาดเล็กหลายส่วน ไม่ต้องเจอปัญหา “รง. 4” ในการตั้งโรงเรือนผลิตสินค้าอีก
ที่สำคัญกว่านั้นคือ… หากต้องการใบรง. 4 เพื่อประกอบกิจการ… ก็สามารถใช้บริการ “ผู้ตรวจสอบเอกชน” มาตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้… และไม่ต้องต่อใบ รง. 4 ทุก 5 ปีเหมือนเดิมอีกแล้ว
ในโลกความจริง… แม้พระราชบัญญัติโรงงานฉบับนี้จะดูเหมือนผ่อนคลายปมปัญหาสำคัญของฝั่งผู้ผลิตสินค้า แต่การตั้งโรงงานบนที่ดินซักแปลง ก็ยังต้องพึ่งกฏหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ โดยเฉพาะกฏหมายผังเมืองของแต่ละพื้นที่… กฏหมายที่ว่าด้วยการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม… รวมทั้งกฏ ระเบียบ ประกาศจากสำนักงานท้องถิ่นในพื้นที่ด้วย
แต่อย่างน้อยๆ… กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่แปรรูปลำไยสีทองแถวลำพูนก็คงมีทางออกในการผลิตและบรรจุลำไยอบแห้งเกรดพรีเมี่ยมแสนอร่อย… ธุรกิจขนาดเล็กอย่างแคปหมูทรงเครื่องแถวอำเภอสารภี ก็สามารถเดินเครื่องจักรบรรจุภัณฑ์ได้โดยไม่โดนดำเนินคดี
…ขอให้ร่ำรวยทุกๆ กิจการครับ!