เพียงต้นเดือนแรกของปี 2020 สถานการณ์ใหญ่ของโลก 2 สถานการณ์ ทั้งกรณีไฟป่าออสเตรเลีย และความขัดแย้งรอบใหม่ในตะวันออกกลาง จากประเด็นสหรัฐอเมริกาเล่นงานอิหร่าน ด้วยการถล่มผู้นำทางทหารคนสำคัญของอิหร่าน และอิหร่านก็โต้กลับทันทีระหว่างพิธีศพ… และคงมีสถานการณ์อะไรอีกมากที่สับสนวุ่นวายในตะวันออกกลาง
ในขณะที่สงครามการค้าคู่เอกระหว่างจีนสหรัฐ พอจะมีข่าวดีว่าตกลงกันได้จนนำไปสู่การลงนามข้อตกลงการค้าที่ขัดแย้งน้อยลง… หรือกรณีความขัดแย้งทางการค้าและอะไรต่อมิอะไรระหว่างญี่ปุ่นเกาหลี… ปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังในยูโรโซน รวมทั้งกรณี Brexit ที่เหมือนจะจบแต่ไม่เคยจบ
ทำให้เหตุการณ์ชิงไหวชิงพริบในปี 2020… แหลมคมและท้าทาย แต่หลายท่านก็ทราบอยู่ก่อนแล้วว่าปีนี้ไม่ง่าย… ตัวแปรเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งมิติต่างๆ ทั้งระดับโลกและภายในประเทศเอง คงส่งผลกระทบด้านลบในวงจำกัด อย่างน้อยโลกก็ผ่านอะไรมามากกับความไม่แน่นอน จนกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ หรือ New Normal ไปแล้ว
ประเด็นก็คือ… ไม่ว่าคนจะขัดแย้งกันยังไง แต่หิวก็ต้องกินง่วงก็ต้องหลับ หาไม่ก็คงไม่มีแรงไปโต้ตอบขัดแย้งกันต่อ… โดยส่วนตัวผมมองว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็น New Normal เช่นกัน และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือสถานการณ์จะพลิกผันไปอย่างไร… ตะวันออกกลางจะยังคงขัดแย้งไปอีกนาน
แต่สถานการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียเป็นเรื่องน่าสนใจในหลายมิติ… โดยเฉพาะสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังสถานการณ์ไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดในออสเตรเลียสงบลง ออสเตรเลียน่าจะต้องการการฟื้นฟูครั้งใหญ่ทั้งอาหารและวัสดุก่อสร้าง และอะไรอีกมากมายหลายสิ่ง เพื่อให้ชาวออสเตรเลียได้เดินหน้าต่อ
ที่ใดต้องการอาหารมากเป็นพิเศษ ที่นั่นคือตลาดและโอกาสของคนไทย
จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทั้งหลายที่เล่ามานี้ ผมคิดว่า… เรื่องการลงทุนเราต้องถอยกลับมาพิจารณามิติทางการเกษตร ที่หมายถึงอาหารสำหรับทุกคนบนโลกใบนี้… ผมเกริ่นยาวไปอ้อมโลกก็เพื่อที่จะบอกว่า ในสถานการณ์แบบนี้ผมอาจจะพูดถึงอุตสาหกรรมการเกษตรมากหน่อย และยืนยันว่า Properea ยังเป็นเว็บอสังหาที่อาจจะคุยเรื่องเกษตรมากหน่อยในพอศอนี้… ซึ่งผมเชื่อว่า โมเดลธุรกิจการเกษตรสามารถประครองหลายอย่างให้วงการอสังหาริมทรัพย์ไปได้ยั่งยืนตราบเท่าที่คนเรายังต้องกิน


วันนี้ผมจะเอาคำศัพท์ใหม่ในแวดวงสตาร์ทอัพสายเกษตร หรือ AgTech มาแนะนำอีกหนึ่งคำนั่นคือ FaaS ที่ย่อมาจาก Farm as a Services
FaaS Model กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในอินเดีย ข้อมูลในมือผมมีสตาร์ทอัพมากกว่า 20 ราย ที่ใช้โมเดล FaaS ขับเคลื่อนธุรกิจ จนได้เงินลงทุนจาก Venture Capital กันไปแล้วพอสมควร
FaaS Model ไม่ใช่ของใหม่ แท้จริงแล้วก็คือการรับจ้างทำงานในฟาร์มในไร่ในสวนหรือในนานั่นแหละ… แต่ FaaS มาพร้อมเทคโนโลยีทางการเกษตรเต็มพิกัด เพื่อเข้าทำประโยชน์ให้เจ้าของที่ดินตามสัญญาจ้าง ทั้งสัญญาจ้างแบบผูกพันธ์ระยะยาว ที่วงการสตาร์ทอัพเรียกว่า Subscription หรือจะเป็นสัญญาจ้างแบบ Share Resource ที่คนมีรถไถหรือโดรนพ่นยาหว่านปุ๋ย… ก็สามารถเข้ามาเปิดบัญชีรับงานผ่านแพลตฟอร์มได้…
กรณีของ Gold Farm, Agribolo, Trringo, และ farMart ในอินเดียก็เสนอบริการ Farm as a Services พร้อมเครื่องจักรทางการเกษตรเต็มพิกัดสำหรับลูกค้า พร้อมเครือข่ายสมาชิกทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ… Startup เหล่านี้ให้บริการไถหว่านดำและเก็บเกี่ยว ด้วยเครื่องจักรที่ระดมทุนมาเตรียมไว้ และให้บริการไม่ต่างจาก Grab หรือ Uber ที่เรียกเมื่อไหร่ก็มา หาเมื่อไหร่ก็มี

เมืองไทยควรมี Startup แบบนี้นานแล้ว และเราควรจะข้ามเรื่องราคาสินค้าเกษตร ที่เป็นประเด็นดราม่าการเมืองมายาวนานและใช้ First Principal Thinking กับอุตสาหกรรมเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำกันได้แล้ว…
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร… FaaS เกิดที่เมืองไทยแน่ครับ ช้าเร็วอีกเรื่องหนึ่ง… แต่ภายใน 3 ปีที่ภาษีที่ดินใหม่ยังอยู่ในช่วงผ่อนผัน เจ้าของที่ดินคงไม่ดิ้นรนอะไรเท่าไหร่… แต่เลยจากนั้นไป… Farm as a Service เกิดแน่นอน!
ที่จริง Farming as a Service Model มี Sub-model และรายละเอียดเยอะมากๆ… หลายสำนักยังถือว่า FaaS เป็นส่วนหนึ่งของ Smart Farm และ Agricultural Technology อีกด้วย… ข้อมูลที่ผมมียังน้อยมากครับถ้าจะว่าไปแล้ว ถ้าขาดตกบกพร่องอย่างไรก็เปิดรับทุกข้อชี้แนะเหมือนเดิมครับ… LineOA @properea ยินดีต้อนรับทุกท่าน!
อ้างอิง