อ้อยและมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรไทย ฝากอนาคตและความหวังมานาน… กระทั่งพืชเศรษฐกิจทั้งสองชนิดถูกผลักดันให้กลายเป็นพืชพลังงานที่มีความสำคัญอย่างลึกซึ้งต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
นับตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทดลองใช้เอทานอลผสมเบนซินใช้กับรถยนต์ในเขตพระราชฐานเมื่อหลายสิบปีก่อน และตามมาด้วยการประกาศใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมเอทานอลระดับนโยบาย จนกลายเป็นมาตรฐานที่ค่ายรถยนต์น้อยใหญ่ ต้องปรับตัวนำเครื่องยนต์ที่รองรับเชื้อเพลิงผสมเข้าสู่ตลาดกันอย่างคึกคัก และสถานีบริการน้ำมันก็ต้องติดตั้งหัวจ่ายกันทุกแห่ง แม้ว่าช่วงแรกๆ สถานีบริการน้ำมันแบรนด์ต่างชาติจะไม่ให้ความร่วมมือก็ตาม
ช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา… ข่าวเล็ดลอดออกสู่สาธารณะจากวงการเอทานอล เรื่องซับพลายล้นตลาดของปริมาณเอทานอลเป็นข่าวใหญ่อยู่ช่วงเวลาสั้นๆ และหายไปพร้อมๆ กับเสียงกระซิบเรื่องมาตรฐาน E15 ที่จะเอามาแทน E10
ล่าสุด…รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ก็ออกมายืนยันมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรณียกเลิกการใช้เบนซิน E10 ที่จะมีใช้มีขายถึงแค่ 31 ธันวาคม 2562 นี้แล้ว… และทดแทนด้วยเบนซิน E15 ที่จะเริ่มขายกัน 1 มกราคม 2563
ผมเอาเรื่องน้ำมันมาคุยในเวบอสังหาเพราะว่า… ต้นทางของเอทานอลมาจากแปลงปลูกอ้อยและแปลงปลูกมันสัมปะหลัง บนที่ดินหลายแสนไร่ทั่วประเทศที่ดูเหมือนพื้นที่ปลูกอ้อยและมันสัมปะหลังจะเพิ่มขึ้นทุกปี
รายงานจากกรุงศรีรีเสิร์ชแถลงว่า… ปัจจุบันการผลิตเอทานอลของไทยใช้กากน้ำตาล มันสำปะหลัง และน้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในสัดส่วน 65:30:5 ในปี 2561 เทียบกับปี 2560 สัดส่วนจะอยู่ที่ 60:35:5 โดยสัดส่วนการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคากากน้ำตาลที่ปรับลดลงในปี 2561 ขณะที่ราคามันสำปะหลังปรับเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว อีกทั้งการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลยังมีความได้เปรียบด้านปริมาณวัตถุดิบ เนื่องจากผู้ผลิตมักเป็นรายใหญ่ที่ต่อยอดธุรกิจจากโรงงานน้ำตาล ส่วนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังมักเกิดปัญหาการแย่งชิงวัตถุดิบกับอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงความไม่แน่นอนด้านต้นทุนวัตถุดิบจากการแทรกแซงราคาของทางการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในบางช่วงเวลา
ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลที่เดินเครื่องผลิตอยู่ 26 ราย กำลังการผลิตรวม 5.89 ล้านลิตรต่อวัน (ข้อมูลเดือนมีนาคม 2562) เพิ่มขึ้นจาก 5.79 ล้านลิตรต่อวันในปี 2561 แยกเป็นกำลังการผลิตจากโรงงานที่ใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาล 2.68 ล้านลิตรต่อวัน จากมันสำปะหลัง 2.08 ล้านลิตรต่อวัน จากทั้งมันสำปะหลังและกากน้ำตาล 0.90 ล้านลิตรต่อวัน และจากน้ำอ้อย 0.23 ล้านลิตรต่อวัน
สถานที่ตั้งของโรงงานจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงงานส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนผลิตเอทานอลจะเป็นโรงงานที่ต่อยอดจากธุรกิจเดิม เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานมันสำปะหลัง
การกำหนดราคาขายเอทานอลอ้างอิงตามข้อมูลการซื้อขายเอทานอล ระหว่างผู้ผลิตเอทานอลกับผู้ค้าน้ำมันจากกรมสรรพสามิต เป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามปริมาณการซื้อขายจริง โดยจะมีการประกาศราคาอ้างอิงทุกวันที่ 1 ของเดือน เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนการผลิตหรือ Margin ของผู้ผลิตเอทานอลจะมากน้อยขึ้นอยู่กับ
- ต้นทุนราคาวัตถุดิบ
- ราคาอ้างอิง ซึ่งผันแปรตามสัดส่วนการใช้กากน้ำตาลและมันสำปะหลัง
- ค่าการตลาดประมาณ 1-2 บาทต่อลิตร
ข้อมูลตัวเลขมีอีกมากแต่ภาพรวมก็ประมาณนี้คือ… ภาครัฐผลักดันเอทานอลอย่างมากเพื่อเปิดโอกาสให้พืชเศรษฐกิจสำคัญทั้งสองชนิดคืออ้อยและมันสัมปะหลัง ด้วยการปรับนโยบายพลังงานเพิ่มอุปสงค์ เพื่อขับวงจรเศรษฐกิจส่วนนี้อย่างน่าสนใจ


ท่านที่เป็นเจ้าของแลนด์แบงค์ที่กำลังมองหาโมเดลเกษตรกรรม เพื่อใช้เป็น Save Zone เลี่ยงภาษีที่ดินรกร้างอัตราใหม่ที่จะเริ่มใช้ปีหน้าเป็นต้นไป… อาจจะลองพิจารณาตัวเลือกห่วงโซ่พืชพลังงานดูก็ได้ครับ
อ้างอิง