อย่างที่เราทราบกันดีว่า… Cryptocurrency เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 4 มกราคมปี 2009 เมื่อ Satoshi Nakamoto ปิด Genesis Block ของ Bitcoin ตั้งแต่เริ่มวันใหม่เวลา 01:15 ซึ่งระบบการประมวลผลธุรกรรมที่ Satoshi Nakamoto ใช้พัฒนาและขับเคลื่อนเครือข่าย Blockchain ของ Bitcoin มีชื่อว่า Proof-of-Work
Note: อ่านเพิ่มเติม If You Don’t Believe It Or Don’t Get It, I Don’t Have The Time To Try To Convince You – Satoshi Nakamoto
Proof-of-Work คืออะไร?
Proof-of-Work เป็นชื่ออย่างเป็นทางการของ “การขุดบิทคอยน์” หรือก็คือการตรวจสอบธุรกรรมบน Blockchain เพื่อช่วยยืนยันสำเนาข้อมูลนั่นเอง ซึ่งคนที่เอาเครื่องคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งระบบเพื่อช่วยงานตรวจสอบธุรกรรมบน Blockchain ของบิทคอยน์ จึงถูกกำหนดให้ได้ค่าแรงการทำงานตรวจสอบธุรกรรม หรือได้ค่าขุดบิทคอยน์เป็นการตอบแทน
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… ระบบ Proof-of-Work ของบิทคอยน์จะเปิดกว้างโดยไม่ปิดกั้นนักขุดที่อยากเอาเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง มาติดตั้งโปรแกรมแล้วเปิดเครื่องทำงานขุด หรือทำ Proof-of-Work เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย เพียงแต่กำหนดเป็นค่าตอบแทนที่แน่นอนเอาไว้ว่า เมื่อช่วยกันตรวจสอบธุรกรรมบน Blockchain ของบิทคอยน์ได้หนึ่งบล๊อกแล้ว จะได้ค่าแรงเท่าไหร่… นั่นแปลว่า ถ้ามีเครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยยืนยันธุรกรรมแบบ Proof-of-Work มากเท่าไหร่ ค่าตอบแทนที่ได้จะยิ่งถูกเฉลี่ยให้ทุกเครื่องหรือทุกบัญชีที่ช่วยยืนยันธุรกรรมด้วยกัน
ระบบ Proof-of-Work ที่เปิดกว้างและเสรีตามแนวคิดจากผู้สร้างอย่าง Satoshi Nakamoto จึงดึงดูดนักขุดเข้าสู่ระบบมากมาย ตราบเท่าที่ผลตอบแทนการช่วยตรวจสอบธุรกรรมยังไม่ทำให้ใครขาดทุน ถึงแม้ว่าระบบของบิทคอยน์เองจะกำหนดให้มีการลดค่าตอบแทนการยืนยันธุรกรรมลงครึ่งหนึ่ง หรือ Halving เป็นระยะๆ แต่กลไกสมดุลย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ซ่อนไว้ใน Algorithm Bitcoin ก็สามารถปรับมูลค่าได้ด้วยตัวเองทุกครั้งจนราคาบิทคอยน์มาลอยอยู่เหนือสามหมื่นดอลลาร์สหรัฐได้นานหลายสัปดาห์แล้ว
แต่ปัญหาใหญ่ของ Proof-of-Work ก็คือ การเปิดกว้างและเสรีต้อนรับนักขุดโดยไม่มีเงื่อนไขการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบธุรกรรมในระบบ จนคอมพิวเตอร์ที่เปิดเครื่องช่วยยืนยันธุรกรรมทั่วโลกรวมกันแล้ว สิ้นเปลืองพลังงานมหาศาลเพียงเพื่อช่วยกันทำงานซ้ำๆ ที่รับรองยืนยันธุรกรรมจนเกินจำเป็นไปมาก เพียงเพราะทุกคนอยากได้ส่วนแบ่งที่ยังเห็นว่ามีกำไรอยู่… แถมยังทำให้ระบบยืนยันธุรกรรมได้อย่างเชื่องช้า ซึ่งถ้าท่านมีประสบการณ์ในการโอนบิทคอยน์มาก่อนจะทราบว่า… โอนปั๊บได้รับปุ๊บยังเป็นไปไม่ได้กับบิทคอยน์ เพราะต้องรอรายการโอนชุดนั้นถูกยืนยันจากเครือข่าย Proof-of-Work ตามคิวให้เสร็จก่อน
Ethereum และ Proof-of-Stake
ข้อด้อยมากมายของโครงข่ายบิทคอยน์ โดยเฉพาะประเด็นความล่าช้าและการสิ้นเปลืองพลังงานซึ่งกระทบไปถึงทรัพยากรโลกและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ประชากรโลกอีกมากยังขาดแคลนไฟฟ้าและการผลิตกระแสไฟฟ้าทุกกิโลวัตต์ ต้องแลกด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายมิติ… นับตั้งแต่ Bitcoin และ Cryptocurrencies กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่คนในวงกว้างรับรู้และสนใจราวปี 2014 จนถึงปัจจุบัน หัวข้อใหญ่ที่เป็นคำถามหลักๆ จากทั่วโลกดูเหมือนจะมีเพียงสองประเด็นใหญ่คือน่าเชื่อถือแค่ไหน กับประเด็นจะยั่งยืนแค่ไหนในเมื่อระบบยืนยันธุรกรรมสิ้นเปลืองเกินจำเป็นไปมาก และจับต้องอะไรให้อุ่นใจไม่ได้แม้แต่น้อย
เวบไซต์ TokeIinsight.com ได้ออกรายงานอ้างอิง The Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index หรือ CBECI โดยเผยแพร่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมปี 2020 ที่ผ่านมาว่า… สองไตรมาสแรกของปี 2020 ในขณะที่โลกกำลังสู้กับไวรัสโควิด 19 อยู่นั้น เครือข่ายบิทคอยน์ใช้พลังงานไฟฟ้ารวมกันราว 63.32 TWh หรือ 63.32 Terawatt Per Hours หรือต้องใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 7 เตาผลิตไฟฟ้าจึงจะพอจ่ายไฟฟ้าได้เกิน 60 TWh
การเปิดตัว Ethereum และ Ethereum Whitepaper ในปี 2013 พร้อมวิสัยทัศน์อินเตอร์เน็ตโลก และข้อตระหนักถึง Painpoint ที่เครือข่ายบิทคอยน์สร้างปมเอาไว้ให้เรียนรู้ ทำให้เส้นทางการพัฒนา Ethereum ถูกกำหนดให้ปรับโมเดลการยืนยันธุรกรรมในเครือข่ายด้วยแนวทางอื่นๆ ไปพร้อมกับการพัฒนา Blockchain ของเครือข่าย Ethereum เพื่อเริ่มต้นระบบ ซึ่งยังต้องพึ่งพาการยืนยันธุรกรรมไม่ต่างจากแนวทาง Bitcoin Proof-of-Work จนกระทั่งเครือข่าย Ethereum เติบโตเข้าสู่โมเดลการยืนยันธุรกรรมด้วยแนวคิด Proof-of-Steke หรือโมเดลการยืนยันธุกรรมโดยหุ้นส่วน… ซึ่งเครือข่าย Ethereum ได้เริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 24 พฤษจิกายน ปี 2020 และใช้งานระบบ ETH 2.0 แบบ Proof-of-Stake อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม ปี 2020 ขนานไปกับระบบ Proof-of-Work แบบเดิม เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่นอยู่เบื้องหลังโดยไม่กระทบการใช้งาน Token บนเครือข่าย Ethereum แต่อย่างใด
โมเดล Proof-of-Stake จะมีเงื่อนไขให้การเข้าร่วมเครือข่าย Blockchain เพื่อทำงานตรวจสอบธุรกรรมด้วยชื่อเรียกใหม่ว่า Forge หรือ Mint แทนคำว่า Mine ที่ใช้กับระบบ PoW หรือ Proof-of-Work แบบเดิม… การจะเป็น “ผู้ตรวจสอบ หรือ Validator” บนโครงข่าย Ethereum 2.0 นั้น จะต้องมีการลงทุนโดยการฝาก Ether ค้ำประกันสถานะผู้ตรวจสอบธุรกรรมก่อน โดยผู้ตรวจสอบธุรกรรมที่ระบบสุ่มให้ทำหน้าที่ยืนยันธุรกรรม ยังคงมีรายได้เช่นเดิม… เมื่อระบบเลือกให้เป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม ผู้ตรวจสอบ หรือ Validator จะต้องตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดที่อยู่ในบล็อก การตรวจสอบจะมีการวางเหรียญ ETH เพื่อค้ำประกันก่อนบันทึกธุรกรรมลง Blockchain… โดยการยืนยันธุรกรรมที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าถูกต้อง ผู้ตรวจสอบ หรือ Validator ก็จะได้เหรียญค้ำประกันคืนพร้อมค่าตอบแทนการยืนยันธุรกรรม… แต่ถ้า Validator ยืนยันธุรกรรมโดยทุจริต ซึ่งการตรวจสอบย้อนกลับจากเครือข่ายพบว่าเป็นสำเนาการยืนยันธุรกรรมที่ไม่ถูกต้อง เหรียญ ETH ที่วางประกันการเป็นผู้ตรวจสอบก็จะถูกยึดไปทั้งหมด รวมทั้งมีการลงโทษถึงขั้นปิดแม่ข่ายผู้ตรวจสอบ หรือ Validator Pool ที่สังกัดไปด้วยก็เป็นได้ในบางรูปแบบของ PoS… อันนี้เป็นหลักการทั่วไปน๊ะครับ ในบทความนี้จะขอข้ามรายละเอียด Casper PoS หรือ Ethereum Casper Proof of Stake รวมทั้งรายละเอียดเรื่อง Open Pool/Close Pool ซึ่งเป็นรายละเอียดทางเทคนิค และอยู่นอกวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความตอนนี้ ซึ่งผมต้องการชี้ให้เห็นว่า
การลงทุนด้วยการก่อตั้งหรือเข้าร่วม PoS Pool หรือ Proof of Stake Pool หรือการรวมกลุ่มหรือลงทุนเป็นแม่ข่ายทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบ หรือ Validator Pool ให้ธุรกรรมบนเครือข่าย Ethereum 2.0 ขึ้นไป ก็เหมือนการลงทุนก่อตั้ง Pool เพื่อขุดบิทคอยน์ ที่เกิดขึ้นเงียบๆ ในช่วงที่บิทคอยน์เกิดขึ้นใหม่ๆ ระหว่างปี 2009–2013 จนกลายเป็นธุรกิจใหญ่โตและสร้างเศรษฐีใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่หลายคนยังเข้าใจว่า รัฐบาลจีนคงเข้มงวดกวดขันเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ Bitcoin PoW Pool ในประเทศจีนมีกำลังประมวณผลสูงถึง 65.08% ของทั้งโลกในช่วงกลางปี 2020 ทิ้งห่างอันดับสองที่เป็นสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนเพียง 7.24% เท่านั้น
การลงทุนก่อตั้ง Ethereum PoS Pool โดยส่วนตัวจึงเชื่อว่าอยู่ในช่วงที่น่าสนใจ โดยความเห็นจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ผมติดตามค้นคว้ารวบรวมต่างก็เชื่อมั่นว่า เครือข่าย Ethereum นับจากนี้ไปจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิมทั้งความเร็วของธุรกรรม และค่าธรรมเนียม หรือค่า GAS ที่ลดลง พร้อมกับความสามารถในการประมวลผลแบบขนานจนการเพิ่มปริมาณงานในเครือข่ายไม่เป็นปัญหาคอขวดอีก… เครือข่าย Ethereum กับวิสัยทัศน์อินเตอร์เน็ตโลก ในยุค Blockchain Internet จึงเข้าใกล้เป้าหมายไปอีกขั้นที่น่าจะมีชื่อ Ethereum อยู่ในอนาคตต่อไป
Matt Cutler ในฐานะ CEO ของ Blocknative ให้ความเห็นไว้เช่นกันว่า เมื่อค่าธรรมเนียมหรือค่า GAS มีแนวโน้มลดลงหลังเปิดตัว Ethereum 2.0 ฐานลูกค้าของ Blocknative ต่างก็เชื่อมั่นว่าการลดค่า GAS ในการทำธุรกรรมและการเพิ่มปริมาณงานในเครือข่ายจากความสามารถในการประมวลผลแบบขนาน ถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่ในการก้าวไปข้างหน้า
สุดท้ายนี้… ผมยังพอมีข้อมูลมิติต่างๆ ในมือแบ่งปันท่านที่สนใจจริงจังพอสมควร ขอเป็นทักทางไลน์ส่วนตัวที่ ID: dr.thum ครับ!
References…